วันพุธที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

Learning Log 8 นอกห้องเรียน

Learning Log
ครั้งที่ 8
สิ่งที่ได้เรียนรู้นอกห้องเรียน
ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่เกี่ยวข้องกับทักษะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทักษะการฟัง การพูด  การอ่าน  และการเขียน ซึ่งหากทั้ง 4 ทักษะที่กล่าวมาได้รับการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอจะทำให้มีความสามารถในการสื่อสารทางด้านภาษาอังกฤษมากขึ้นและสื่อสารได้อย่างคล่องแคล่ว สำหรับดิฉันมีความจำเป็นที่จะต้องฝึกฝนทั้ง 4 ทักษะนี้อย่างสม่ำเสมอ เพราะเมื่อดิฉันเป็นครู ดิฉันต้องพูด เขียน และอ่านอย่างถูกต้องและแม่นยำ เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดในการสอน ดิฉันจึงฝึกทักษะการฟังและการอ่านจากหนังเรื่อง Maleficent , และฝึกทักษะการพูดและการเขียนด้วยการศึกษาคำศัพท์จากหนังสือ รู้ทันสันดานศัพท์  และศึกษาหลักไวยากรณ์เรื่อง กริยาช่วย (Modals, Auxiliary Verbs, Helping Verbs) ” และได้ค้นคว้าเพิ่มเติมในเรื่อง เคล็ดลับสำหรับการเรียนรู้คำศัพท์ใหม่เพิ่มทุกวัน
   ดิฉันฝึกทักษะการฟังและการอ่านจากหนังเรื่อง Maleficent ในภาษาไทยหมายถึง นางฟ้าปีศาจ ซึ่งดิฉันสามารถสรุปเรื่องย่อได้ดังนี้ หญิงชราคนหนึ่งเล่าความว่า ในเมืองทิพย์ชื่อ เดอะมัวส์ (The Moors) ซึ่งอยู่ติดกับเมืองมนุษย์ มีเทพธิดาองค์หนึ่งชื่อ มาเลฟิเซนต์ ได้พบและรักกับมนุษย์หนุ่มชื่อ สเตฟาน ผู้มีใจใคร่จะเป็นราชา ยิ่งนานวันทั้งคู่ก็ยิ่งเหินห่างกัน จนวันหนึ่งสเตฟานเลิกมาหานาง ต่อมาพระเจ้าเฮนรี กษัตริย์เมืองมนุษย์ได้ยกทัพมาตีเมืองทิพย์ แต่กลับแพ้มาเลฟิเซนต์ จึงโกรธและมีรับสั่งว่า หากผู้ใดตามล้างผลาญนางเพื่อแก้แค้นแทนพระองค์ได้จะให้ผู้นั้นสืบบัลลังก์ สเตฟานอยากขึ้นเป็นใหญ่จึงกลับไปหามาเลฟิเซนต์อีกครั้ง เขาวางยาเพื่อที่จะฆ่าเธอ แต่เขาทำไม่ได้ เขาจึงใช้เหล็กที่เป็นวัตถุมีอำนาจตัดปีกนางออก แล้วนำปีกนั้นไปให้พระเจ้าเฮนรีเพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่า เขาได้ฆ่าเธอแล้ว มาเลฟิเซนต์หัวใจแทบสลายจึงสร้างดินแดนอนธการในเมืองทิพย์แล้วรับนกกาชื่อ เดียวัล มาเป็นคนสนิทโดยให้มีฤทธิ์แปลงกายได้อย่างหลากหลาย
วันหนึ่งเดียวัลมาแจ้งว่า สเตฟานได้ขึ้นเป็นกษัตริย์แล้วได้แต่งงานกับพระธิดาของพระเจ้าเฮนรี ต่อมาก็ได้มีพระธิดาชื่อ ออโรรา มาเลฟิเซนต์ได้บุกไปงานสมโภชโดยมิได้รับเชิญแล้วสาปพระธิดาให้ถูกเข็มปั่นฝ้ายตำเมื่อมีอายุครบ 16 ปีและหลับไปตลอดกาล พระเจ้าสเตฟานขอให้นางปรานี นางจึงทูลว่า คำสาปนี้แก้ได้ด้วยจุมพิตแห่งรักแท้แล้วก็จากไป พระเจ้าสเตฟานจึงสั่งให้ริบเครื่องปั่นฝ้ายทั้งหมดแล้วให้นางฟ้าสามองค์นำพระธิดาไปเก็บไว้ในป่าจนกว่าจะถึงวันที่พระธิดาอายุครบ 16 ปี  แต่นางฟ้าทั้งสามนั้นสะเพร่า ไม่เอาใจใส่พระธิดาตามสมควร มาเลฟิเซนต์จึงมาดูแลอยู่ไม่ห่าง แม้จะจงเกลียดจงชังมากก็ตาม เมื่อพระธิดาอายุ 15 ปีก็ได้พบกับมาเลฟิเซนต์และรุ้สึกว่ามาเลฟิเซนต์เป็นผู้คุ้มครองป้องกันพระธิดาเสมอมา และเชื่อว่า มาเลฟิเซนต์เป็น "แม่ทูนหัว"  เมื่อมาเลฟิเซนต์ให้พระธิดาอยู่กับตนเป็นเวลานานก็เริ่มรู้สึกว่า ตนรักพระธิดามากเพียงไร นางจึงพยายามเพิกถอนคำสาปให้ แต่ไม่ได้ผล         ภายหลังออโรราได้พบกับเจ้าชายนามว่า ฟิลลิป ที่กำลังเสด็จไปวังพระเจ้าสเตฟาน ทั้งสองมีใจให้กัน เจ้าชายฟิลลิปให้คำมั่นว่าจะกลับมาหาออโรราให้ได้ ต่อมาเมื่อออโรราอายุครบ 16 ปียังพอใจที่จะอยู่กับมาเลฟิเซนต์มากกว่าจะกลับเมืองมนุษย์ มาเลฟิเซนต์เองก็หวังจะให้เป็นเช่นนั้น คิดว่า คงช่วยปกป้องมิให้คำสาปสัมฤทธิ์ผลได้ แต่นางฟ้าทั้งสามรุดได้บอกกับพระธิดาว่า มาเลฟิเซนต์เป็นผู้ที่สาปออโรรา ออโรราได้ฟังใจก็สลายจึงหนีมาเลฟิเซนต์มาหาพระเจ้าสเตฟาน พระเจ้าสเตฟานให้ขังออโรราไว้ในวังจนกว่าวันเฉลิมพระชนม์จะพ้นไป แต่ออโรราได้เดินไปยังห้องที่เก็บเครื่องปั้นฝ้ายไว้และถูกเข็มตำนิ้ว คำสาปจึงบรรลุผล มาเลฟิเซนต์เสียใจที่ไม่อาจปกป้องพระธิดาได้จึงลอบพาเจ้าชายฟิลลิปมาสู่วัง หวังว่า เจ้าชายอาจช่วยให้คำสาปหายไปได้ แต่ไม่เป็นผล มาเลฟิเซนต์เสียใจจึงสัญญาว่าจะดูแลรักษาพระธิดาจนกว่าจะฟื้น กล่าวแล้วก็จูบพระธิดาด้วยความรัก ทันใดนั้นพระธิดาก็ตื่นขึ้น มาเลฟิเซนต์จึงเข้าใจว่า รักใดในโลกนี้ก็ไม่จริงแท้เท่ารักที่แม่มีให้ลูก
         พระธิดาปรารถนาจะกลับไปอยู่กับมาเลฟิเซนต์ในเมืองทิพย์ มาเลฟิเซนต์จึงพาเสด็จหนี แต่พระเจ้าสเตฟานมาขวางและใช้ข่ายเหล็กจับมาเลฟิเซนต์ไว้ ทหารของพระองค์พร้อมด้วยอาวุธที่ทำด้วยเหล็กเตรียมจะฆ่านาง มาเลฟิเซนต์ใช้กำลังเฮือกสุดท้ายเสกให้นกกาเดียวัลเป็นมังกรเพื่อช่วยให้นางกับพระธิดาหนีไป แต่ไม่สำเร็จ ขณะที่มาเลฟิเซนต์กำลังจะถูกฆ่า เจ้าหญิงออโรราได้ถอดปีกของมาเลฟิเซนต์ที่รักษาไว้ในคุกออกมาคืนให้กับมาเลฟิเซนต์ มาเลฟิเซนต์จึงได้กลับมามีอำนาจและเอาชนะพระเจ้าสเตฟานได้ มาเลฟิเซนต์ขอให้เลิกรากันเท่านี้ ก่อนที่นางจะพาพระธิดาบินจากไป พระเจ้าสเตฟานไม่ยอมแพ้ได้กระโดดไปเกาะมาเลฟิเซนต์ไว้ แต่พลัดตกลงสู่พื้นจนเสียชีวิต มาเลฟิเซนต์จึงรวมเมืองทิพย์กับเมืองมนุษย์เข้าเป็นหนึ่งและแต่งตั้งออโรราให้ปกครองเมือง
          จากเรื่องย่องของ Maleficent ที่กล่าวมาข้างต้นทำให้ดิฉันได้ฝึกทั้งทักษะการฟังสำเนียงของเจ้าของภาษา และการอ่านคำบรรยายหนังได้อย่างเข้าใจมากขึ้น เมื่อฝึกทักษะการฟังและการอ่านแล้ว ดิฉันได้ฝึกทักษะการพูดและการเขียนด้วยการศึกษาคำศัพท์จากหนังสือ รู้ทันสันดานศัพท์  ซึ่งสิ่งที่ดิฉันได้เรียนรู้ คือ  คำว่า “unbelievable” หมายถึง ไม่น่าเชื่อ มีหลักในการจำคือ เวลาที่เราเจอเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ทำให้รู้สึกประหลาดใจว่ามันเป็นไปได้อย่างไร วลีที่สื่อถึงความรู้สึกดังกล่าวคือ Unbelievable! เช่น นางฟ้าบนสวรรค์มาหลงรักผู้ชายคนหนึ่งก็อาจพูดถึงความไม่น่าเชื่อได้เหมือนกันว่า Unbelievable! หรือถ้าเราคิดว่าสิ่งนั้นเป็นเรื่องเหลือเชื่อ แต่เป็นความเหลือเชื่อที่เกิดขึ้นแล้วและเป็นจริง นั่นคือเหตุการณ์ที่เราจะใช้คำว่า unbelievable
จากคำว่า unbelievable จะเห็นได้ว่า คำศัพท์คำนี้มีส่วนย่อยที่สามารถแยกออกจากกันได้คือ unbelievable ซึ่ง un ที่อยู่ข้างหน้า ทำหน้าที่กำหนดทิศทางของความหมาย สามารถเรียกส่วนนี้ด้วยการใช้คำที่เข้าใจง่าย ๆ คือ ใบหน้า” , believe เป็นส่วนกลาง ทำหน้าที่อุ้มความหมายหลักของคำเอาไว้ ซึ่งส่วนนี้คือ หัวใจของคำศัพท์ และ able อยู่ส่วนหลัง รั้งตำแหน่งเป็น บั้นท้ายส่วนนี้นอกจากจะให้ความหมายกับคำศัพท์แล้ว ยังเป็นตัวกำหนดหน้าที่ของคำไปด้วย คือช่วยบอกให้รู้ว่าควรอยู่ตำแหน่งไหนในประโยคจึงจะเหมาะสมและถูกต้อง ซึ่งคำศัพท์ unbelievable พัฒนามาจากคำว่า believe
คำว่า believe มีตัว e ข้างหลัง เมื่อนำไปรวมกับบั้นท้ายคือ able จะทำให้ตัว e นั้นหายไป กลายเป็น believable believable เป็นคำในขั้นที่สองของการแปรเปลี่ยน ความหมายคือ ที่สามารถเชื่อได้ และจาก believable เมื่อเติม un ที่ส่วนหน้าเข้าไป ความหมายที่มีอยู่เดิมก็จะกลายเป็นปฏิเสธแบบตรงข้ามคือ unbelievable ไม่น่าเชื่อถือ ดิฉันจะเรียงคำศัพท์เหล่านั้นอีกครั้งคือ believe เชื่อ ... believable น่าเชื่อ ... unbelievable ไม่น่าเชื่อ หรือจะมองย้อนกลับก็ได้เช่นกัน คือ unbelievable ไม่น่าเชื่อ ... believable น่าเชื่อ ... believe เชื่อ ซึ่งการเรียงลำดับความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันเป็นทอด ๆ ของคำศัพท์เหล่านี้จะเริ่มที่ส่วนไหนก่อนก็ได้ หากรู้จักส่วนประกอบคือ ใบหน้า หัวใจ และบั้นท้าย
นอกจากคำว่า unbelievable แล้วยังมีคำศัพท์ที่มีความหมายเหมือนกันนั่นคือ คำว่า incredible คือ คำที่สามารถนำมาเทียบเคียงความสัมพันธ์กับ unbelievable ได้อย่างลงตัว เพราะมีความหมายเหมือนกันคือ ไม่น่าเชื่อ incredible สามารถแยกออกเป็นสามส่วนคือ incredible ซึ่งพัฒนามาจากคำว่า credible แปลว่า น่าเชื่อถือหรือสามารถเชื่อถือได้ หากตัด credible ให้สั้นลงก็จะเหลือเพียงส่วนหัวใจที่อุ้มความหมายของคำเอาไว้นั่นคือ cred โดยคำศัพท์เหล่านี้สามารถเรียงให้เห็นการวิวัฒน์ของศัพท์ได้ดังนี้ incredible ไม่น่าเชื่อ ... credible น่าเชื่อ ... cred เชื่อ หรือจะมองย้อนกลับก็ได้เช่นกัน คือ cred เชื่อ ... credible น่าเชื่อ ... incredible ไม่น่าเชื่อ
คำศัพท์ unbelievable กับ incredible เป็นตัวอย่างคำศัพท์ในภาษาอังกฤษที่เกิดและพัฒนาด้วยการรวมส่วนประกอบย่อย ๆ เข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นวิธีการสร้างคำขึ้นมาใช้ในภาษาอย่างมีแบบแผนและเป็นระบบนั่นคือ ธรรมชาติของการเกิดและเติบโตขึ้นมาของคำศัพท์ส่วนใหญ่ คำศัพท์ที่เกิดขึ้นโดยวิธีนี้มีมากมายและไม่เสมอไปที่คำศัพท์จะต้องประกอบด้วยใบหน้า หัวใจ และบั้นท้าย เพราะคำศัพท์บางตัวมีแค่หัวใจ บางตัวมีใบหน้ากับหัวใจ บางตัวมีหัวใจกับบั้นท้าย และบางตัวก็มีใบหน้า หัวใจ และบั้นท้ายครบทั้งสามส่วน ตรงส่วนหัวใจนั้นสำคัญมาก เพราะส่วนนี้จะอุ้มความหมายหลักของคำไว้ หัวใจบางตัวเข้าใจง่ายเป็นหัวใจที่บอกความหมายตรงไปตรงมา สามารถใช้พูดหรือใช้เขียนได้เลย เช่น คำว่า believe
แต่หัวใจของคำศัพท์บางตัวเป็นหัวใจที่ซ่อนเร้น หากต้องการรู้ความหมายจะต้องเจาะลึกลงไป โดยตัวของมันอาจจะนำมาใช้ในการพูดหรือเขียนเป็นคำศัพท์ในภาษาอังกฤษเลยไม่ได้จะต้องมีการเสริมแต่งจึงจะโชว์ความหมายออกมาในโลกของการสื่อสารได้จริง เช่น คำว่า  cred เป็นรากศัพท์จากภาษาละตินมีความหมายว่า เชื่อ  ส่วน believe ที่แปลว่า เชื่อ นั้นเป็นคำศัพท์ภาษาอังกฤษ เมื่อจะพูดเป็นภาษาอังกฤษว่า ฉันเชื่อ ประโยคที่ควรใช้คือ I believe. จะไม่ใช้ I cred. ความหมายของคำศัพท์จำนวนมากแอบซ่อนอยู่ อาจจะต้องสังเกตให้ดีก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องไปเปิดพจนานุกรมหาความหมายทุกตัว แค่พิจารณาทำความเข้าใจกับส่วนต่าง ๆ ของคำให้กระจ่าง

นอกจากการศึกษาคำศัพท์จากหนังสือ รู้ทันสันดานศัพท์ที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว ดิฉันยังได้ศึกษา เคล็ดลับสำหรับการเรียนรู้คำศัพท์ใหม่เพิ่มทุกวันซึ่งมีทั้งหมด 7 เคล็ดลับ ได้แก่ เคล็ดลับที่หนึ่ง คือ ฝึกใช้คำศัพท์ใหม่ๆ ในประโยค โดยเวลาฝึกอ่านบทความภาษาอังกฤษในหัวข้อที่ชอบหรือสนใจ ให้จดคำศัพท์ที่น่าสนใจ แล้วค้นคว้าว่าเราสามารถใช้คำศัพท์ไหนแทนคำนี้ได้อีกบ้างเพียงเท่านี้ก็ทำให้เราได้เรียนรู้คำศัพท์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้น หรืออาจจะใช้เว็บไซต์ เช่น Oxford Dictionary ที่มี Word of the day ที่น่าสนใจมาแนะนำในแต่ละวัน วันละหนึ่งคำ จากนั้นก็ลองแต่งประโยคจากคำศัพท์เหล่านั้นดู ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีในการเรียนรู้และฝึกใช้คำศัพท์ได้ดีเช่นกัน

เคล็ดลับที่สอง คือ ฝึกเปลี่ยนไวยากรณ์ให้คำศัพท์ ซึ่งคำศัพท์หลาย ๆ คำที่เมื่อเป็นคำกริยา (Verb) จะเขียนแบบหนึ่ง แต่เมื่อเป็นคำนาม (Noun) หรือคำคุณศัพท์ (Adjective) ก็จะเขียนแตกต่างกันออกไป รวมถึงตำแหน่งและหน้าที่ของคำศัพท์นั้น ๆ เมื่ออยู่ในประโยคก็จะต่างกันออกไป ดังนั้น เมื่อรู้จักคำศัพท์หนึ่งคำแล้วก็ควรจะรู้ว่าเมื่อเปลี่ยนไวยากรณ์แล้วหน้าตาของมันเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง, เคล็ดลับที่สาม คือ ฝึกคิดแบบเชื่อมโยง โดยการจดจำคำศัพท์เป็นกลุ่ม ซึ่งจะทำให้เราจำได้มากขึ้นและแม่นยำกว่าท่องจำทีละคำ เช่น คำว่า car เป็น noun แปลว่า รถ ควรจะเชื่อมโยงว่า มีคำคุณศัพท์ (adjective) อะไรบ้างที่ขยาย car ได้ เช่น fast, slow, rusty , มีคำกริยา (verb)  อะไรที่ใช้กับ car ได้ เช่น to brake, to accelerate, to crash และมี car ประเภทอะไรบ้าง เช่น Limousine, Jeep

เคล็ดลับที่สี่ คือ จดคำศัพท์ใส่สมุดโน้ตเล่มเล็กหรือ Smart phone ในขณะที่รอคิวหรือนั่งรถเป็นเวลานานแทนการเล่นโทรศัพท์ เราจะพบว่าในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือนจะได้เรียนรู้คำศัพท์ใหม่ๆ มากขึ้น ถ้ารู้สึกว่าการจำคำศัพท์แบบธรรมดานั้นน่าเบื่อจนเกินไป ลองเชื่อมโยงคำศัพท์เข้ากับสถานที่ที่เรากำลังจะไปหรือสถานที่ชอบก็ได้ เช่น หากกำลังนั่งรถไปกินข้าวกับเพื่อนก็ท่องคำศัพท์ที่เกี่ยวกับร้านอาหาร, เคล็ดลับที่ห้า คือ ใช้ประโยชน์จาก Flash cards หรือบัตรคำ เพราะ Flash cards สามารถแกะปึกกระดาษออกมาสลับคำศัพท์ได้ หากเราจดคำศัพท์ใส่สมุดไว้เป็นแถวยาว เมื่อเจอคำแรกก็อาจจะนึกคำแปลของคำที่สองได้โดยอัตโนมัติ เพราะเราสามารถจำได้ด้วยความเคยชินจากตำแหน่งที่คำนั้นๆ อยู่ต่อกัน และเมื่อจำคำศัพท์ไหนได้แม่นแล้ว เรายังสามารถดึงคำนั้นออกแล้วใส่คำใหม่ๆ เข้าไปแทนได้อีก

เคล็ดลับที่หก คือ อ่านให้เยอะและหลากหลาย ถ้าได้อ่านสิ่งที่สนใจและรู้จักคำศัพท์ใหม่ ๆ จากสิ่งที่สนใจนั้นจะทำให้เรารู้สึกสนุกสนานและสามารถจับจุดกับการฝึกได้นานกว่าการท่องศัพท์แบบธรรมดา ซึ่งในปัจจุบันสามารถใช้อินเทอร์เน็ตในการหาบทความภาษาอังกฤษที่น่าสนใจได้อย่างหลากหลายหรืออาจจะเป็นข่าวบันเทิงหรือเรื่องการกินและการท่องเที่ยว และเคล็ดลับที่เจ็ด คือ หมั่นนำคำศัพท์ไปใช้บ่อยๆ เช่น การนำคำศัพท์ที่ได้เรียนมาแล้วหรือคำศัพท์ที่เพิ่งท่องจำมาใช้ในการสนทนากับเพื่อนร่วมชั้น หรือพูดคุยกับเจ้าของภาษาหรืออาจารย์ชาวต่างชาติอยู่เสมอ หรือการใช้อินเทอร์เน็ตโดยการพูดคุยกับเพื่อนชาวต่างชาติผ่านทาง Social Media  เช่น Skype  Facebook  และนอกจากคำศัพท์แล้วสิ่งที่ต้องคำนึงถึงอีกเรื่องหนึ่ง คือ ไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ
ในที่นี้ดิฉันจะขยายความไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ เรื่อง กริยาช่วย (Modals, Auxiliary Verbs, Helping Verbs) ” ได้แก่ v. to be คือ is, am, are, was, were ซึ่ง is จะใช้กับ he, she , it และประธานเอกพจน์, are ใช้กับ you, we, they และประธานพหูพจน์, am ใช้กับ I, was ใช้กับ I, he, she, it และประธานเอกพจน์, were ใช้กับ you, we, they และประธานพหูพจน์ แต่ในประโยค If – Clause และ Subjunctive จะใช้ were กับประธานทุกตัว ซึ่ง v. to be สามารถใช้ร่วมกับ v.3 ในโครงสร้าง Passive Voice (ประธานเป็นผู้ถูกกระทำ) ได้โดยมีโครงสร้าง คือ Subject + v. to be + v.3 โดย v. to be จะต้องผันตามประธานและผันตาม Tense เช่น The boy was punished., และเมื่อทำเป็นประโยคปฏิเสธให้เติม not หลัง v. to be เช่น The boy was not punished. และเมื่อทำเป็นประโยคคำถามประเภท Yes/No Question ให้ย้าย v. to be ไว้ต้นประโยค เช่น Was the boy punished?
นอกจากนี้ v. to be ยังสามารถใช้ร่วมกับ v.ing ในโครงสร้าง Progressive Form หรือ Continuous Tense เพื่อแสดงว่า v. นั้นกำลังดำเนินอยู่ โดยมีโครงสร้างคือ Subject + v. to be + v.ing ซึ่ง v. to be จะต้องผันตามประธานและผันตาม Tense เช่น My son is swimming., และเมื่อทำเป็นประโยคปฏิเสธให้เติม not หลัง v. to be เช่น My son  is not swimming .และเมื่อทำเป็นประโยคคำถามประเภท Yes / No Question ให้ย้าย v. to be ไว้ต้นประโยค เช่น  Is my son swimming? และกริยาช่วยอีกตัวหนึ่งคือ v. to do ซึ่ง v. to do นั้นสามารถใช้ร่วมกับ v.แท้ เพื่อทำให้เกิดประโยคปฏิเสธและประโยคคำถาม โดย v. to do จะต้องผันตามประธานและผันตาม Tense และเมื่อทำเป็นประโยคปฏิเสธให้เติม not หลัง v. to do
ทั้งนี้เมื่อ v. to do ทำเป็นประโยคคำถามประเภท Yes /No Question ให้ย้าย v. to do ไว้ต้นประโยคและเมื่อทำเป็นประโยคคำถามประเภท Wh – Question ให้นำ v. to do ไว้หน้าประธาน เช่น She does not go to school., Does she go to school?, Where does she go? และ Why didn’t they go to school? และ v. to do ยังสามารถใช้ร่วมกับ v. แท้ เพื่อแสดงการเน้น (Emphasis) ซึ่งจะต้องผันตามประธานและผันตาม Tense ได้อีกด้วย โครงสร้าง คือ Subject + v. to do + v.แท้ (v.1 ไม่ผัน) เช่น I do love me., He does love you. และกริยาช่วยอีกตัวหนึ่งคือ v. to have โดย have นั้นใช้กับ I, you, we, they และประธานพหูพจน์, has ใช้กับ he, she, it และประธานเอกพจน์ ซึ่ง v. to have นั้นสามารถใช้ร่วมกับ v.3 เพื่อทำให้เกิดโครงสร้าง Present Perfect (has/have + v.3) และ Past Perfect (had + v.3) เช่น I have studied hard., They had studied hard.
นอกจากกริยาช่วยที่กล่าวมาข้างต้นแล้วยังกริยาช่วยอีกคือ should/ought to ซึ่ง should และ ought to สามารถใช้แทนกันได้ มีความหมายว่า ควรจะ” (การให้คำแนะนำ) โดยการใช้ should และ ought to ในรูปปัจจุบัน (should/ought to + v.1) เป็นการให้คำแนะนำต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และการใช้ should และ ought to ในรูปอดีต (should/ought to + have + v.3) เป็นการกล่าวถึงเหตุการณ์ในอดีตที่ควรจะเกิดขึ้นแต่ไม่ได้เกิด หรือเหตุการณ์ในอดีตที่ควรจะทำแต่ไม้ได้ทำ เช่น Araya should/ought to study hard. จากตัวอย่างประโยคเป็นการให้คำแนะนำถึงเหตุการณ์ที่ควรจะเกิดขึ้นในปัจจุบันหรืออนาคต
should และ ought to สามารถใช้ร่วมกับ v. แท้ เพื่อทำให้เกิดประโยคปฏิเสธและประโยคคำถาม โดยเมื่อทำเป็นประโยคปฏิเสธให้เติม not หลัง should และ ought เช่น You should not eat too much. และเมื่อทำเป็นประโยคคำถามประเภท Yes / No Question ให้ย้าย should และ ought ไว้ต้นประโยค เช่น Should you not eat too much ? should หรือ ought to ยังสามารถใช้ในการตอบคำถามสั้นๆได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่เป็นปัจจุบันจะตอบคำถามสั้น ๆ ด้วย should / should not หรือ ought to / ought not to เช่น Should she study hard ? ตอบว่า Yes, she should./ No, she should not. และในกรณีที่เป็นอดีตจะตอบคำถามสั้น ๆ ด้วย should have / shouldn’t have เช่น Should she have studied hard ? ตอบว่า Yes, she should have. /No, she shouldn’t have.
กริยาช่วยตัวต่อไปคือ can / be able to ซึ่ง can และ be able to สามารถใช้แทนกันได้แปลว่า สามารถ จะตามหลังด้วย v.1 เสมอ มีโครงสร้าง คือ Subject + can / be able to + v.1 can จะใช้ในรูปปัจจุบัน ส่วนรูปอดีตจะใช้ could เช่น My daughter can speak English. (รูปปัจจุบัน), My daughter could speak English. (รูปอดีต) ส่วน be able to ในรูปปัจจุบันจะใช้ is / am / are + able to และรูปอดีตจะใช้ was / were + able to เช่น I am able to swim. (รูปปัจจุบัน), I was able to swim. (รูปอดีต) สำหรับการทำ can และ be able to เป็นประโยคคำถามและประโยคปฏิเสธนั้นเมื่อทำเป็นประโยคปฏิเสธให้เติม not หลัง can หรือ be เช่น My daughter cannot speak English. และเมื่อทำเป็นประโยคคำถามประเภท Yes / No Question ให้ย้าย can หรือ be ไว้ตันประโยค เช่น Can my daughter speak English ?
กริยาช่วยตัวต่อไปคือ may และ might โดย may และ might สามารถใช้ในการตอบคำถามสั้น ๆ ได้ เช่น May his son go tomorrow ? ตอบว่า Yes, he may. / No, he may not. , Might his son go tomorrow ? ตอบว่า Yes, he might. / No, he might notใช้ may  ขึ้นต้นประโยคในความหมายหวังเป็นอย่างยิ่งว่ามีรูปประโยค May + subject + v.1 เช่น May there never be another world war ! และกริยาช่วยตัวสุดท้ายคือ must / have to ซึ่ง must และ have to สามารถใช้แทนกันได้มีความหมายแสดงถึงความจำเป็น (Necessity / Obligation) และจะตามด้วย v.1 เสมอ มีโครงสร้าง คือ Subject + must / have to + v.1 เช่น My father  must / have to work hard. ในส่วนของ have to จะผันตามประธานและผันตาม Tense แต่ must ไม่ต้องผันตามประธาน เช่น I must work hard., My father has to work hard.
การทำ must ให้เป็นประโยคปฏิเสธและประโยคคำถามประเภท Yes / No Question คือ เมื่อทำเป็นประโยคปฏิเสธให้เติม not หลัง must เช่น  My father must not work hard. และเมื่อทำเป็นประโยคคำถามประเภท Yes / No Question ให้ย้าย must ไว้ต้นประโยค เช่น Must our fathers work hard ? และการทำ have to ให้เป็นประโยคปฏิเสธและประโยคคำถามประเภท Yes / No Question คือ นำ v. to do (ที่ผันตามประธานและผันตาม Tense) มาช่วยและ have ที่อยู่ข้างหลัง จะต้องอยู่ในรูปของ v.1 เสมอ ซึ่งเมื่อทำเป็นประโยคปฏิเสธให้เติม not หลัง v. to do ที่นำมาช่วย เช่น He doesn’t have to work hard., They don’t have to work hard. และเมื่อทำเป็นประโยคคำถามประเภท Yes/No Question ให้ย้าย v. to do ที่นำมาช่วยไว้ต้นประโยค เช่น Does he have to work hard ?, Do they have to work hard ?
จากการฝึกทักษะการฟังและการอ่านจากหนังเรื่อง Maleficent ฝึกทักษะการพูดและการเขียนด้วยการศึกษาคำศัพท์จากหนังสือ รู้ทันสันดานศัพท์  และได้เพิ่มเติมในเรื่องคำศัพท์ด้วยการศึกษา เคล็ดลับสำหรับการเรียนรู้คำศัพท์ใหม่เพิ่มทุกวัน และศึกษาหลักไวยากรณ์เรื่อง กริยาช่วย (Modals, Auxiliary Verbs, Helping Verbs) ” ทำให้ดิฉันได้พัฒนาทักษะทั้ง 4 ทักษะไปพร้อม ๆ กัน เช่น เมื่อดิฉันพูด ดิฉันก็มีคลังคำศัพท์ที่เกิดจากการท่องจำอยู่แล้วได้ถูกนำมาใช้และสามารถนำคำศัพท์มาเรียงประโยคในการพูดและเขียนได้ถูกหลักไวยากรณ์ ส่วนสำเนียงการพูดก็มีความใกล้เคียงกับเจ้าของภาษา และสามารถฟังภาษาอังกฤษได้เข้าใจและแปลความหมายได้ดีขึ้น
  

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น