Leaning
Log
การอบรมเชิงปฏิบัติการเทคนิคการสอนภาษาอังกฤษแบบบูรณาการทักษะ
วันพฤหัสบดีที่
29
ตุลาคม พ.ศ.2558 (ภาคบ่าย)
การพัฒนาผู้เรียนให้เป็นบุคคลที่มีคุณภาพด้วยกระบวนการเรียนรู้
เพื่อความเจริญงอกงามของบุคคลและสังคมโดยการถ่ายทอดความรู้ การฝึกอบรม การสืบสานวัฒนธรรม
ความก้าวหน้าทางวิชาการ การสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากการจัดสภาพแวดล้อม สังคม
การเรียนรู้และปัจจัยเกื้อหนุนให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างต่อเนื่องและตลอดชีวิต
ปัจจัยที่สำคัญสำหรับการเรียนรู้ในยุคปัจจุบันที่ผู้เรียนให้ความสำคัญคือ
การใช้เทคโนโลยีในการสื่อสารระหว่างกัน เมื่อมีการสื่อสารเกิดขึ้น
ภาษาก็จะมีความหลากหลายมากขึ้น
ยิ่งไปกว่านั้นภาษาที่เกิดจากการดัดแปลงหรือเปลี่ยนแปลงก็จะทำให้รูปแบบของแต่ละภาษาผิดเพี้ยนไปจากเดิมได้
แต่ในปัจจุบันเมื่อโลกเข้าสู่ยุคสมัยของเทคโนโลยีมากขึ้น
การติดต่อสื่อสารก็จะขยายกว้างขึ้น ไม่เฉพาะแต่เครื่องมือการค้นหาข้อมูลอย่าง Google
ที่รู้จักกันทั่วไป แต่ยังมีสังคมออนไลน์อย่าง Facebook,
Twitter และ Line ที่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตของผู้คน
ผู้เรียนรุ่นใหม่ล้วนแต่มีทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศติดตัวกันมาทุกคน
หากว่ามีการนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการศึกษาหาความรู้จะเป็นเรื่องที่ดี
แต่ผู้เรียนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่จะใช้สื่อเทคโนโลยีที่ทำให้ภาษาเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือเกิดเป็นภาษาใหม่ที่ไม่ถูกต้องตามหลักภาษา
เช่น คำว่า Chill Chill นั้นไม่ใช่ภาษาอังกฤษ
เพราะที่ถูกต้องคือ Sit chill chill ส่วนคำว่า Selfy ที่ผู้เรียนรุ่นใหม่นิยมใช้กันนั้นเป็นคำศัพท์ที่ถูกต้องตามหลักภาษาแล้ว
เพราะมีรากศัพท์มาจากคำว่า Self
ในปัจจุบันปัจจัยที่ทำให้ภาษาเกิดการเปลี่ยนแปลงนั้นมีหลายปัจจัย
แต่ในที่นี้ ผศ.ดร. ศิตา เยี่ยมขันติถาวร
ได้กล่าวถึงปัจจัยที่ทำให้ภาษาเปลี่ยนแปลงนั้นคือความต้องการของมนุษย์ตามแนวคิดของมาสโลว์
ซึ่งมีทั้งหมด 5 ปัจจัย คือ ปัจจัยที่หนึ่ง คือ ความต้องการทางร่างกาย (Physiological
Needs) จะเป็นความต้องการลำดับต่ำสุดและเป็นพื้นฐานของชีวิต
เป็นแรงผลักดันทางชีวภาพ เช่น ความต้องการอาหาร น้ำ อากาศ ที่อยู่อาศัย, ปัจจัยที่สอง คือ ความต้องการความปลอดภัย (Safety Needs) เป็นความต้องการที่จะเกิดขึ้นหลังจากที่ความต้องการทางร่างกายได้รับการตอบสนองอย่างไม่ขาดแคลนแล้ว
หมายถึง ความต้องการสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยจากอันตรายทั้งทางกายและจิตใจ
ความมั่นคงในงาน ในชีวิตและสุขภาพ
ปัจจัยต่อมา
ปัจจัยที่สาม คือ ความต้องการทางสังคม (Social Needs) เมื่อมีความปลอดภัยในชีวิตและมั่นคงในการงานแล้ว
คนเราจะต้องการความรัก มิตรภาพ ความใกล้ชิดผูกพัน ต้องการเพื่อน การมีโอกาสเข้าสมาคมสังสรรค์กับผู้อื่น
ได้รับการยอมรับเป็นสมาชิกในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือหลายกลุ่ม,
ปัจจัยที่สี่ คือ ความต้องการเกียรติยศชื่อเสียง
(Esteem Needs) เมื่อความต้องการทางสังคมได้รับการตอบสนองแล้ว
คนเราจะต้องการสร้างสถานภาพของตัวเองให้สูงเด่น มีความภูมิใจและสร้างการนับถือตนเอง
ชื่นชมในความสำเร็จของงานที่ทำ ความรู้สึกมั่นใจในตัวเองและเกียรติยศ
ความต้องการเหล่านี้ได้แก่ ยศ ตำแหน่ง ระดับเงินเดือนที่สูง งานที่ท้าทาย
ได้รับการยกย่องจากผู้อื่น เป็นต้น
และปัจจัยที่ห้า
คือ ความต้องการเติมความสมบูรณ์ให้ชีวิต (Self-actualization Needs) เป็นความต้องการระดับสูงสุด
คือต้องการจะเติมเต็มศักยภาพของตนเอง ต้องการความสำเร็จในสิ่งที่ปรารถนาสูงสุดของตัวเอง
ความเจริญก้าวหน้า การพัฒนาทักษะความสามารถให้ถึงขีดสุดยอด
มีความเป็นอิสระในการตัดสินใจและการคิดสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ
การก้าวสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นในอาชีพและการงาน เป็นต้น และอีกปัจจัยหนึ่งที่เพิ่มเติมจากแนวคิดของมาสโลว์
คือ WiFi ซึ่งถือเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญอีกปัจจัยหนึ่งที่มนุษย์ในปัจจุบันขาดไม่ได้
มีความต้องการใช้อยู่ตลอดเวลา
นอกจากนี้มีอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ภาษาเกิดการเปลี่ยนแปลงคือ
ภาษาอินเตอร์เน็ต โดยมีรายละเอียดดังนี้ ประการแรก คือ การสะกดคำในรูปแบบใหม่ที่ไม่ใช่การสะกดตามมาตรฐานเดิม
กล่าวคือ ตัวสะกดบางตัวหายไป แต่ยังสามารถออกเสียงได้เหมือนเดิม หรือมีการนำตัวเลขเข้ามาผสมในคำเพื่อให้ออกเสียงได้เหมือนคำเดิม
หรือการสะกดคำใหม่ ตัวสะกดบางตัวหายไปแล้วยังออกเสียงไม่เหมือนเดิม ประการที่สอง
คือ มีการเชื่อมคำเข้าด้วยกัน (Word combination) ประการที่สาม
คือ สร้างอักษรย่อใหม่ขึ้นเพื่อให้เป็นที่รู้กันเฉพาะกลุ่มผู้ใช้อินเตอร์เน็ตเป็นประจำ
ประการที่สี่ คือ เกิดสัญลักษณ์ขึ้นใหม่ที่เรียกว่า Emoticons ซึ่งจะใช้เป็นตัวอักษร
ประการต่อมา ประการที่ห้า คือ มีการใส่เครื่องหมายเป็นสัญลักษณ์เพื่อสื่อความหมายบางประการ
ประการที่หก คือ มีการใส่คำแทนเสียงหรือเลียนเสียง (Onomatopoeic) เช่น เสียงหัวเราะ hahahaha เสียงสงสัย huh?
เสียงตกใจว่าทำอะไรผิด oops ประการที่เจ็ด คือ ศัพท์เฉพาะ
นอกจากภาษาไทยจะมีศัพท์เฉพาะในการใช้อินเตอร์เน็ต ประการที่แปด คือ มีการสะกดผิดเหมือนคำว่า “เบย” ที่สะกดผิดมาจากคำว่า “เลย” ในภาษาอังกฤษคือคำว่า Teh. ที่มาจากคำว่า The
ประการที่เก้า คือ
ถ้าใช้อักษรตัวใหญ่ทั้งหมดแปลว่าต้องการเน้นย้ำหรือพวกตวาดเสียงดัง เช่น “STOP
IT” และประการสุดท้ายคือ คำสแลงที่มักจะพบบ่อยในอินเตอร์เน็ต
ปัจจัยดังกล่าวข้างต้นนั้นล้วนมีผลกระทบที่ทำให้ภาษาเกิดการเปลี่ยนแปลง
แต่มีสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญที่ทำให้ภาษาเกิดการเปลี่ยนแปลงน้อยลงนั่นคือ “ครูผู้สอน”
เพราะครูผู้สอนภาษาอังกฤษจะต้องมีทักษะทั้ง 4 ด้านเป็นอย่างดี
โดยเฉพาะทักษะการพูดหรือการออกเสียงที่ผู้สอนจะต้องสร้างความมั่นใจให้กับผู้เรียนในการเรียนภาษาอังกฤษและควรตระหนักและออกแบบบทเรียนที่เอื้อให้ผู้เรียนสามารถนำภาษาอังกฤษไปใช้ได้จริง
ได้ฝึกจากสถานการณ์จริง และควรให้ผู้เรียนนั้นให้ความสำคัญกับการสื่อสารที่เข้าใจได้มากกว่าการออกเสียงให้เหมือนกับเจ้าของภาษา
ยิ่งไปกว่านั้นผู้สอนควรมีความรู้เบื้องต้นทางสัทศาสตร์ (Phonetics and
Phonology) เพราะจะทำให้ผู้สอนสามารถแก้ไขการออกเสียงที่ผิดพลาดของผู้เรียนได้
ในการฝึกออกเสียง ผศ.ดร. ศิตา เยี่ยมขันติถาวร
ได้ให้ทำกิจกรรมการออกเสียง “English Tongue Twisters” ซึ่งมีเนื้อหาที่ต้องออกเสียงดังนี้ ประโยคแรก คือ The
thirty-three thieves thought that they thrilled the throne throughout Thursday.
ประโยคที่สอง คือ I saw Susie sitting in a shoe shine shop.
Where she sits she shines, and where she shines she sits. และประโยคสุดท้าย
คือ I wish to wish the wish you
wish to wish, but if you wish the wish the witch wishes, I won’t wish the wish
you wish to wish จากประโยคดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่า
ในแต่ละประโยคจะออกเสียงคล้ายคลึงกัน
ทำให้ความยากของการออกเสียงนั้นง่ายขึ้นและทำให้เกิดความเพลิดเพลินอีกด้วยและเมื่อดิฉันได้ฝึกฝนบ่อย
ๆ ดิฉันก็จะเกิดความเคยชินกับการออกเสียงเช่นนี้
นอกจากนี้ ผศ.ดร. ศิตา เยี่ยมขันติถาวร
ได้บรรยายเกี่ยวกับอวัยวะที่ใช้ในการออกเสียง พยัญชนะภาษาอังกฤษ เสียงสระ
ซึ่งมีทั้งสระเดี่ยวเสียงสั้น สระเดี่ยวเสียงยาว สระประสมสองเสียง เป็นต้น
และยังได้อธิบายเกี่ยวกับ Phonology กล่าวคือ
การเน้นเสียง (stress) ซึ่งจะประกอบด้วยการเน้นระดับคำ (word
stress) เช่น PHOtograph phoTOgraphy และการเน้นเสียงระดับประโยค
(sentence stress) นอกจากนี้ยังอธิบายเพิ่มเติมไปถึงทำนองเสียง
(Intonation) ซึ่งจะทำให้การพูดภาษาอังกฤษมีความน่าสนใจและน่าฟังมากขึ้นรวมทั้งการหยุด
(pause) หรือการวรรคตอนการพูดที่ถูกต้อง
จากการอบรมของภาคบ่ายในวันนี้ทำให้ดิฉันมีความรู้ที่หลากหลายมากไม่ว่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ภาษาเกิดการเปลี่ยนแปลง
และเมื่อดิฉันเป็นครูภาษาอังกฤษ ดิฉันจะต้องมีความรู้เบื้องต้นทางสัทศาสตร์
เพื่อช่วยแก้ไขในการออกเสียงของผู้เรียนได้และหากดิฉันออกเสียงได้ถูกต้อง มีทำนองเสียง
มีการเน้นระดับคำ ระดับเสียง
หรือแม้กระทั่งการหยุดหรือวรรคตอนถูกต้องจะทำให้การเรียนการสอนภาษาอังกฤษมีสีสันและน่าฟังมากขึ้น
ยิ่งไปกว่านั้นการอบรมนี้ทำให้ดิฉันสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นการเสริมสร้างความมั่นใจให้กับดิฉันได้อีกด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น