Learning
Log
การอบรมเชิงปฏิบัติการเทคนิคการสอนภาษาอังกฤษแบบบูรณาการทักษะ
วันพฤหัสบดีที่
29
ตุลาคม พ.ศ.2558 (ภาคเช้า)
ในปัจจุบันภาษาอังกฤษนับว่าเป็นภาษาหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการสื่อสารและการศึกษาเรียนรู้
การศึกษาไทยจึงได้พัฒนาภาษาอังกฤษให้มีบทบาทมากขึ้นโดยการเพิ่มเป็นกิจกรรมการเรียนการสอนหรือการปฏิบัติจริง
ยิ่งไปกว่านั้นบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษจะต้องมีประสิทธิภาพ
เนื่องจากในศตวรรษที่ 21
เป็นยุคที่มีความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี ด้านภาษา ด้านการสื่อสาร และด้านอื่น ๆ ซึ่งด้านต่าง ๆ
เหล่านี้มีบทบาทในการดำรงชีวิตของมนุษย์มากยิ่งขึ้น ทำให้สถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมักจะจัดการอบรมภาษาอังกฤษในรูปแบบที่หลากหลายเพื่อชี้แนวทางให้กับบุคคลที่ได้รับการอบรมนำไปประยุกต์ใช้ในการสอนได้
และที่สำคัญครูในศตวรรษที่ 21 จะต้องจัดการเรียนการสอนและมีวิธีการสอนที่สอดคล้องกับความเจริญก้าวหน้าทางด้านต่าง
ๆ ในศตวรรษที่ 21
เนื่องจากในวันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมาดิฉันได้เข้าร่วม “อบรมเชิงปฏิบัติการเทคนิคการสอนภาษาอังกฤษแบบบูรณาการทักษะ” ซึ่งจัดโดยศูนย์ภาษาของมหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราชที่เห็นถึงความสำคัญของการสอนภาษาอังกฤษ เพื่อพัฒนาครูและบุคลากรอื่น ๆ ให้มีประสิทธิภาพในการสอนภาษาอังกฤษมากขึ้น โดยในภาคเช้าเป็นการเสวนาวิชาการงานวิจัย ในหัวข้อ Beyond Language Learning โดย ดร.สุจินต์ หนูแก้ว , ผศ.ดร.ประกาศิต สิทธิ์ธิติกุล นายกสมาคมครูสอนภาษาอังกฤษแห่งประเทศไทย (Thailand TESOL), และอาจารย์สุนทร บุญแก้ว ซึ่งเป็นการเสวนาที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์กับดิฉัน
การเสวนาเริ่มต้นด้วยการเรียนในศตวรรษที่ 21 โดยผศ.ดร.ประกาศิต
สิทธิ์ธิติกุล ที่กล่าวว่า มาตรฐานของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 จะต้องมี 5C ซึ่งประกอบด้วย C1
= Communication
คือ ทักษะในด้านการสื่อสาร, C2 = Culture คือ
ผู้เรียนจะต้องรู้วัฒนธรรมของเจ้าของภาษา
โดยเฉพาะผู้ที่เรียนภาษาอังกฤษจะต้องมีความรู้ที่กว้างขวาง, C3 =
Connection คือ ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงความรู้ในสาขาวิชาอื่นได้,
C4 = Comparison คือ ทักษะในการเปรียบเทียบ กล่าวคือ
ผู้เรียนสามารถเปรียบเทียบได้ว่าสิ่งไหนดีกว่าสิ่งไหน, และ C5
= Communicative เช่น ผู้เรียนมีความเข้าใจในภาษาท้องถิ่น
นอกจากนี้มาตรฐาน 5C ของผู้เรียนแล้ว ครูในศตวรรษที่ 21
ก็มีความสำคัญเช่นกัน เพราะครูในยุคนี้จะต้องสอนให้น้อย เรียนให้มาก จะต้องสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางและลดบทบาทจากการที่คอยป้อนข้อมูลหรือความรู้ให้กับผู้เรียนเพียงฝ่ายเดียวมาเป็นผู้ที่คอยชี้แนะแนวทางให้กับผู้เรียนแทนและเปลี่ยนการเรียนการสอนที่เน้นการสอนหน้าชั้นเรียนของครูแล้วให้ผู้เรียนจดบันทึกตามมาเป็นให้ผู้เรียนศึกษาเรียนรู้ด้วยตัวเองและจัดกิจกรรมในชั้นเรียนเพื่อให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในการเรียนรู้ทุกขั้นตอน
จากนั้น
ผศ.ดร.ประกาศิต สิทธิ์ธิติกุล ก็ได้สอบถาม ดร.สุจินต์ หนูแก้ว
เกี่ยวกับการวิจัยที่อาจารย์ได้จัดทำขึ้นเพื่อวิเคราะห์ผู้เรียน ดร.สุจินต์ หนูแก้ว จึงกล่าวว่า
คุณลักษณะจำเป็นอย่างยิ่งของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 คือ
7C ได้แก่ C1 = Critical thinking and problem
solving คือ ทักษะด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และทักษะในการแก้ปัญหา, C2 = Creativity and innovation คือ ทักษะด้านการคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม
จะต้องมีความทันสมัย, C3 = Cross-cultural
understanding คือ ทักษะด้านความเข้าใจในต่างวัฒนธรรม, C4 = Teamwork and leadership คือ
การทำงานเป็นทีมและภาวะผู้นำ เนื่องจากในปัจจุบันหมดยุคของการแข่งขันแล้ว ผู้เรียนจะต้องเป็นทั้งผู้นำและผู้ตาม
จากนั้น C5 = Communications, information and media
literacy คือ ทักษะด้านการสื่อสาร สารสนเทศและรู้เท่าทันสื่อ,
C6 = Computing
and ICT คือ ทักษะด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ, และ C7 = Career and learning skills คือ ทักษะอาชีพและทักษะการเรียนรู้ อีกทั้งผู้เรียนจะต้องมีความสามารถพื้นฐานในด้านการอ่าน
การเขียน และการคิดคำนวณ อีกด้วย
เพราะในปัจจุบันผู้เรียนจะขาดการคิดวิเคราะห์
มักจะเชื่อในสิ่งที่ตนเองเห็นจนบางครั้งทำให้สังคมเกิดความวุ่นวาย ดังนั้นจึงเกิดการทำวิจัย
“Thinking
Skill” นี้ขึ้น
Thinking skill หรือทักษะการคิดวิเคราะห์นั้นจะเกิดประสิทธิภาพได้จะต้องผสมผสานในกิจกรรมการเรียนในชั้นเรียน
ซึ่งต้องอาศัยการการะทำซ้ำ ๆ ไปเรื่อย ๆ จนผู้เรียนเกิดความชำนาญ
และพัฒนาสื่อให้ผู้เรียนได้ฝึกฝน ซึ่งมีองค์ประกอบ 5 ข้อ คือ
1. จำแนกเป็น คือแยกออกมาเป็นตัวย่อยๆ ได้, 2. จัดกลุ่ม จะมีความคล้ายคลึงกับการจำแนก, 3. เชื่อมโยงความสัมพันธ์
เช่น ความเหมือน ความต่าง , 4. การวิเคราะห์สภาพ วิเคราะห์ข้อคิด
วิเคราะห์ความสำคัญ, และ 5. การทำนายในอนาคต
นอกจากคุณลักษณะของผู้เรียน 7C และความสามารถพื้นฐานในด้านต่าง
ๆ ที่อาจารย์สุจินต์ หนูแก้ว นำมาทำการวิจัยแล้วยังมีทฤษฎีของบลูมที่สอดคล้องกับคนในศตวรรษที่
21 คือ ขั้นความรู้ความจำ,
ขั้นความเข้าใจ, ขั้นสามารถนำไปใช้ได้,
ขั้นความสามารถในการวิเคราะห์และสังเคราะห์,
และขั้นการประเมินค่า ซึ่งครูจะต้องใช้ความชาญฉลาดของเด็ก เช่น บางคนชอบเคลื่อนไหว
บางคนชอบเล่นเกม ครูก็ต้องออกแบบการเรียนให้สอดรับกับทักษะต่าง ๆ ของผู้เรียน
เมื่อ ดร.สุจินต์ หนูแก้ว กล่าวเสร็จ ผศ.ดร.ประกาศิต สิทธิ์ธิติกุล จะกล่าวโดยสรุปอีกครั้งหนึ่ง
และได้สอบถาม อาจารย์สุนทร บุญแก้ว
ซึ่งเป็นอาจารย์ที่สอนอยู่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยอาจารย์ได้สอนนักศึกษา สาขาการท่องเที่ยวด้วย Project Based Learning (PBL)
ซึ่งเป็นการให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริงด้วยตนเอง โดยมีการจำลองสถานการณ์ว่ามีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติกินอาหารอีสานแล้วท้องเสีย
และให้นักศึกษาหาสาเหตุของอาการท้องเสียว่าเพราะอะไรและควรแก้ปัญหาอย่างไรโดยให้นักศึกษาทำงานกันเป็นกลุ่มและช่วยกันคิดหาสาเหตุและแนวทางการแก้ปัญหา
ในห้องเรียนมีนักศึกษากลุ่มหนึ่งตอบว่า
อาจเป็นเพราะหน่อไม้ดองที่ทำให้ท้องเสีย และควรแก้ปัญหาคือ
การตรวจสอบความสะอาดในขั้นตอนการทำ ซึ่งอาจารย์จะให้นักศึกษาบรรยายเป็นภาษาอังกฤษ
แต่นักศึกษาจะแปลจากภาษาไทยมาเป็นภาษาอังกฤษแบบตรงตัว ไม่ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์
ทำให้อาจารย์สามารถวิเคราะห์ได้ว่านักศึกษายังอยู่ในระดับอ่อนมากสำหรับการเรียนภาษาอังกฤษ
ดังนั้น อาจารย์จึงได้จัดกิจกรรมให้นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ทุกคนในสาขาวิชาการท่องเที่ยวไปเรียนรู้และพัฒนาการใช้ภาษาอังกฤษที่ประเทศมาเลเซีย
โครงการที่อาจารย์สุนทร บุญแก้ว จัดขึ้นนี้มีชื่อว่า Malaysia and
Singapore for learning language เป็นโครงการที่จัดขึ้นเพื่อให้นักศึกษาไปเรียนรู้ในประเทศมาเลเซียเป็นเวลา
3 เดือน ซึ่งอาจารย์ได้ประสานงานไปยังมหาวิทยาลัยในประเทศมาเลเซีย
แต่มหาวิทยาลัยไม่ยอมรับนักศึกษาเข้าเรียน เพราะนักศึกษามีจำนวนมากเกินไป ทำให้นักศึกษาเหล่านั้นต้องไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเอกชน
ซึ่งการเรียนรู้ในสองเดือนแรกนั้นนักศึกษาจะจัดกิจกรรมเพื่อหาเงินมาซื้อข้าว
นอกจากนี้นักศึกษายังได้นำวัฒนธรรมไทยไปเผยแพร่ในประเทศมาเลเซียอีกด้วย
หลังจากอาจารย์ได้พานักศึกษาไปยังประเทศมาเลเซียแล้ว
อาจารย์ก็นำนักศึกษาไปยังประเทศสิงคโปร์ต่อ โดยให้นักศึกษาแบ่งกลุ่มกันเพื่อเดินทางไปยังที่พัก
ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีอาจารย์อยู่ด้วย หากนักศึกษากลุ่มใดหลงทางให้อาจารย์ที่อยู่ในกลุ่มนั้นหลงทางไปกับนักศึกษาด้วย
เพราะหากนักศึกษาหลงทางมากเท่าไร นักศึกษาเหล่านั้นก็ต้องใช้ทักษะการสื่อสารมากขึ้น
สาเหตุที่อาจารย์สุนทร บุญแก้ว เลือกไปประเทศสิงคโปร์และนักศึกษาสามารถหลงทางได้
เพราะประเทศสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีความปลอดภัย และเมื่อหลงทางก็ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพิ่ม
โครงการที่อาจารย์สุนทร บุญแก้ว
จัดขึ้นนี้ดิฉันคิดว่ามีความน่าสนใจมาก
เพราะผู้เรียนได้ใช้ภาษาในสถานการณ์จริงทำให้ผู้เรียนสามารถลงมือปฏิบัติและแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองได้
แม้ว่าโครงการนี้จะมีทั้งข้อดีและข้อเสีย
แต่นักศึกษาส่วนใหญ่ก็มีการพัฒนาทางด้านภาษาอังกฤษมากขึ้น สามารถสื่อสารได้ดีกว่าเดิม
ที่สำคัญทำให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์ที่มีคุณค่าและน่าภาคภูมิใจ
และสามารถนำประสบการณ์นั้น ๆ มาเป็นบทเรียนในการพัฒนาการเรียนภาษาอังกฤษได้
จากการอบรมในภาคเช้าของวันที่ 29 ตุลาคมนี้ทำให้ดิฉันสามารถนำความรู้ในมาตรฐานของ
5C, 7C, ความสามารถพื้นฐานในการอ่าน
การเขียน และการคิดคำนวณ,
และการนำภาษาอังกฤษไปใช้ใสถานการณ์จริง นำมาปรับใช้กับตัวเองเพื่อให้เกิดการพัฒนาทางด้านภาษาอังกฤษอย่างต่อเนื่องและครอบคลุม
ที่สำคัญคือให้สอดรับกับการเป็นผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 และการเตรียมความพร้อมที่จะเป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่มีประสิทธิภาพในอนาคต
นอกจากนี้ดิฉันได้เรียนรู้พิธีการของการอบรมและรู้จักการวางตัวที่เหมาะสมในการเข้าร่วมอบรม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น