วันพุธที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

Learning Log อบรม 3

Learning Log
การอบรมเชิงปฏิบัติการเทคนิคการสอนภาษาอังกฤษแบบบูรณาการทักษะ
วันศุกร์ ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2558 (ภาคเช้า)
ในปัจจุบันการเรียนการสอนภาษาอังกฤษมีความสำคัญและมีความจำเป็นเป็นอย่างมาก เพราะในหลายประเทศนั้นภาษาอังกฤษจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นในด้านการศึกษา เศรษฐกิจ หรือแม้แต่การนำภาษาอังกฤษมาใช้ในเทคโนโลยีสื่อสารต่าง ๆ ซึ่งประเทศไทยก็เป็นส่วนหนึ่งในประเทศเหล่านั้นที่ให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนภาษาอังกฤษเป็นอย่างมาก โดยการพัฒนาภาษาอังกฤษให้ประสบความสำเร็จนั้นจะต้องเกิดจากตัวผู้เรียนเป็นสำคัญและควบคู่ไปกับการเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21 เพราะหากผู้สอนมีวิธีการสอนภาษาอังกฤษที่เหมาะสมและเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญนั้นจะทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ภาษาอังกฤษได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ผู้สอนก็ยังสามารถนำสื่อที่ทันสมัยมาปรับใช้ในการเรียนการสอนภาษาอังกฤษได้หลากหลายขึ้นและยังสอดคล้องกับผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 อีกด้วย
               
            ทางศูนย์ภาษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชได้มีการจัดอบรมให้กับครูและนักศึกษาโดยในวันศุกร์ ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2558 ของภาคเช้านั้น ผศ.ดร. ศิตา เยี่ยมขันติถาวร ได้บรรยายในหัวข้อวิธีการสอนภาษาอังกฤษในศตวรรษที่ 21” โดยจากหัวข้อดังกล่าวนั้นจะประกอบไปด้วยการเรียนการสอนภาษาอังกฤษตั้งแต่อดีต การเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21 และกลวิธีการเรียนการสอนภาษาในปัจจุบัน ซึ่งทั้ง 3 องค์ประกอบนี้จะมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน ยิ่งไปกว่านั้นแนวการสอนภาษอังกฤษมีความหลากหลายและแตกต่างกันจะมีทั้งแนวการสอนภาษาอังกฤษที่เน้นกฎเกณฑ์ของภาษา แนวการสอนภาษาอังกฤษที่เน้นการปฏิสัมพันธ์ แนวการสอนภาษาอังกฤษที่เน้นความเหมาะสมในการใช้ภาษา และแนวการสอนภาษาอังกฤษแบบบูรณาการเนื้อหาและภาษา
จากแนวการสอนภาษาอังกฤษที่กล่าวมาข้างต้นนั้นดิฉันจะอธิบายเพิ่มเติมโดยเริ่มจากแนวการสอนแบบที่ 1 คือ แนวการสอนที่เน้นกฎเกณฑ์ของภาษา ซึ่งแนวการสอนแบบนี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 วิธีสอน คือ วิธีสอนที่ 1 สอนแบบไวยากรณ์และแปล (The Grammar – Translation Method) วิธีสอนแบบนี้จะเน้นการเรียนไวยากรณ์และการแปลเพื่อให้ผู้เรียนสามารถอ่านตำราและวรรณคดีภาษาอื่น ๆ ได้ และมีการใช้วิธีสอนแบบนี้ในการสอนภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศโดยมีวัตถุประสงค์คือ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถอ่านบทอ่านได้อย่างเข้าใจและเห็นคุณค่าของคำประพันธ์ในภาษาต่างประเทศ วิธีสอนแบบนี้จะเน้นการท่องจำและความถูกต้องในการใช้ภาษา
ต่อมาวิธีการสอนแบบที่ 2 คือ วิธีการสอนแบบตรง (The Direct Method) วิธีสอนแบบนี้จะแตกต่างจากวิธีสอนแบบที่ 1 โดยสิ้นเชิง เพราะวิธีสอนแบตรงจะอิงแนวคิดที่ว่า ภาษาคือ ภาษาพูด การเรียนภาษาคือการให้ผู้เรียนได้สื่อสารด้วยภาษาที่เรียนและเพื่อให้ประสบผลสำเร็จยิ่งขึ้นนั้นควรให้ผู้เรียนได้เรียนรู้วิธีการที่จะคิดเป็นภาษาที่เรียนด้วย ดังนั้น การเรียนการสอนภาษาจึงควรใช้ภาษาต่างประเทศที่เรียนนั้นอยู่ตลอดเวลา และสื่อสารราวกับอยู่ในสถานการณ์จริง ซึ่งวิธีการสอนแบบนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เรียนใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารได้ โดยอาจจะเริ่มจากการสอนระบบสียงให้ผู้เรียนฝึกการเลียนแบบเสียงและแยกเสียงได้ถูกต้องแล้วจึงให้ผู้เรียนฝึกฟังความหมายในประโยค เช่น ประโยคคำถามคำตอบ หรือบทสนทนาสั้น ๆ
และวิธีสอนแบบที่ 3 คือ วิธีสอนแบบฟัง พูด (The Audio – Lingual Method) ซึ่งวิธีการสอนนี้จะอิงแนวคิดที่ว่า ภาษาคือ ภาษาพูด การสอนภาษาจึงควรเริ่มจากการฟังและการพูดก่อนซึ่งถือเป็นปัจจัยพื้นฐานไปสู่การอ่านและการเขียน ดังนั้นภาษาที่นำมาให้ผู้เรียนเรียนนั้นควรเป็นภาษาที่เจ้าของภาษาใช้พูดกันในชีวิตประจำวัน จึงมีการเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมของเจ้าของภาษาด้วย การเริ่มต้นด้วยภาษาพูดนั้นผู้เรียนจะไม่เห็นรูปแบบของภาษา ผู้เรียนจะต้องเลียนแบบเสียงของผู้สอนจนผู้เรียนสามารถฟังเข้าใจมากขึ้น วิธีสอนแบบนี้จะเน้นการท่องจำบทสนทนาก่อนแล้วจึงเริ่มฝึกการอ่านและการเขียน
ต่อไปเป็นแนวการสอนแบบที่ 2 คือ แนวการสอนที่เน้นการปฏิสัมพันธ์ ซึ่งมี 4 วิธีสอนและ 3 การเรียนรู้ คือ วิธีสอนแบบเงียบ (The Silent Way) เป็นวิธีสอนที่ กาเล็บ กเตนโย (Caleb Gattegno) เป็นผู้ริเริ่มขึ้นในต้นทศวรรษ 1960 วิธีสอนแบบนี้จะเน้นความรู้ความเข้าใจ เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญโดยให้ผู้เรียนคิดเอง, วิธีสอนตามธรรมชาติ (The Natural Approach) เป็นการรับรู้ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติโดยไม่มีใครสอน,วิธีสอนแบบชักชวน (Suggestopedia) เป็นวิธีสอนที่ผู้สอนควรโน้มน้าวให้ผู้เรียนได้ใช้พลังสมองของตนเองอย่างเต็มที่โดยขจัดความกลัว ความวิตกกังวล และข้อห้ามต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนภาษา และวิธีสอนแบบตอบสนองด้วยท่าทาง วิธีสอนนี้ได้แนวคิดมาจากงานวิจัยด้านจิตวิทยาพัฒนาการและทฤษฎีการเรียนรู้โดยจะเชื่อมโยงกับทฤษฎีของการจำในเชิงจิตวิทยา
และอีก  3 การเรียนรู้ของแนวการสอนที่เน้นการปฏิสัมพันธ์ คือ การเรียนรู้แบบร่วมมือ (Cooperative Learning) เป็นการส่งเสริมให้ผู้เรียนทำงานร่วมกันเพื่อให้ตนเองและสมาชิกทุกคนในกลุ่มประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดให้, การเรียนแบบเน้นภาระงาน (Task – Based Learning) เป็นการจัดการเรียนการสอนที่ใช้ภาระงานเป็นหลักโดยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการพัฒนาการเรียนการสอน ซึ่งภาระงานที่นำมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ใช้ภาษาในการปฏิบัติภาระงานนั้นสำเร็จ ภาระงานต้องทำให้ผู้เรียนบรรลุตามจุดมุ่งหมายและตรงกับความต้องการของผู้เรียน และการเรียนรู้จากการทำโครงงาน (Project – Based Learning) เป็นวิธีการสอนที่ให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองซึ่งเป็นการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
แนวการสอนต่อมา คือ แนวการสอนภาษาอังกฤษแบบบูรณาการเนื้อหาและภาษา ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 แบบ คือ การสอนที่เน้นสาระการเรียนรู้ คือผู้เรียนใช้ภาษาเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้และในขณะเดียวกันก็พัฒนาการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารไปด้วย ดังนั้น การคัดเลือกเนื้อหาที่นำมาให้ผู้เรียนได้เรียนจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเนื้อหาที่คัดเลือกมาจะต้องเอื้อต่อการบูรณาการการสอนภาษาทั้ง 4 ทักษะ คือ การฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน และการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ เป็นกลวิธีการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้ใช้วิธีการตั้งคำถามและกระบวนการแก้ปัญหาเป็นการเชื่อมโยงความคิดรวบยอดจากวิชาและประสบการณ์ต่าง ๆ เข้าด้วยกันช่วยให้เกิดการถ่ายโอนการเรียนรู้
จากแนวการสอนภาษาอังกฤษที่กล่าวมาข้างต้นผู้สอนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการสอนของตนเองได้ซึ่งอาจจะสอดคล้องกับการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งประกอบไปด้วยภาษาอังกฤษในฐานะภาษาแม่ (English) ทักษะการอ่าน (Reading) เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และได้รับความรู้เพิ่มเติม ซึ่งทักษะการอ่านเป็นทักษะพื้นฐานในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ และนำไปสู่ทักษะการใช้ภาษาอื่น ๆ (Language Arts) ได้แก่ การฟัง การพูด และการเขียนภาษาต่างประเทศ (World Language) นอกจากนี้ยังต้องบูรณาการในการจัดการเรียนการสอนซึ่งจำแนกได้เป็น 5 ด้าน คือ ความตระหนักเกี่ยวกับโลก ความรู้ ความเข้าใจด้านการเงิน เศรษฐกิจ ธุรกิจ และการเป็นผู้ประกอบการ ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหน้าที่พลเมือง และความรู้ความเข้าใจด้านสิ่งแวดล้อม

จากการอบรมในหัวข้อ วิธีการสอนภาษาอังกฤษในศตวรรษที่ 21” นั้นทำให้ดิฉันได้เรียนรู้แนวการสอนวิธีการสอน และการเรียนรู้ ที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นแนวการสอนที่เน้นกฎเกณฑ์ของภาษา โดยมีวิธีการสอนแบบต่าง ๆ ที่ดิฉันสามารถนำมาปรับใช้ในการเรียนการสอนในอนาคตได้ และนอกจากนี้จะต้องสอดคล้องกับการจัดการเรียนในศตวรรษที่ 21 ที่จะต้องเน้นผู้เรียนเป็นจุดศูนย์กลาง ให้ผู้เรียนได้คิดเองทำเอง ผู้สอนจะเป็นเพียงผู้ช่วยเหลือให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ผู้เรียนได้ใช้ความคิดความเข้าใจที่จะค้นพบกฎเกณฑ์ทางภาษาด้วยตนเองและจากเพื่อนมากกว่าการจดจำ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น