วันพุธที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

Learning Log 12 นอกห้องเรียน

Learning Log
ครั้งที่ 12
สิ่งที่ได้เรียนรู้นอกห้องเรียน
การเรียนภาษาอังกฤษที่ดีอีกวิธีหนึ่งที่ดิฉันฝึกฝนคือการเรียนจากเพลง เพราะนอกจากจะทำให้ดิฉันรู้สึกผ่อนคลายจากการฟังแล้ว  ดิฉันยังได้เรียนรู้สำนวนและความหมายที่ซ่อนอยู่ในเพลง  อีกทั้งจะได้อรรถรสของเพลงและเข้าใจความหมายของเพลงนั้น ๆ อย่างลึกซึ้ง เพราะหากเราได้เข้าใจเพลงอย่างแจ่มแจ้ง เราจะสามารถรับรู้ถึงความรู้สึกของเพลงแต่ละเพลงได้และทำให้เรามีความรู้สึกร่วมกับเพลงเหล่านั้นได้อีกด้วย และหากดิฉันได้ฟังเพลงเป็นประจำ ดิฉันก็จะฟังเข้าใจและพัฒนาตัวเองได้มากยิ่งขึ้น  และมีอีกสิ่งหนึ่งที่ดิฉันให้ความสำคัญในการเรียนภาษาอังกฤษคือ สำนวน (Idiom) เพราะสามารถช่วยให้เราสามารถใช้ภาษาในสถานการณ์จริงได้อย่างเป็นธรรมชาติเหมือนกับเจ้าของภาษา

     ในวันที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมา ดิฉันได้ฝึกทักษะการฟังด้วยการฟังเพลง  Night Changesของ One Direction เพลงนี้ดิฉันได้ฟังหลายครั้งแล้ว ดิฉันรู้สึกชอบ เพราะฟังแล้วดิฉันรู้สึกว่าเพลงนี้มีความไพเราะ ชอบการประสานเสียงของศิลปิน  ในเพลงมีจังหวะทุ้ม ๆ บ้าง แต่ในส่วนลึกเมื่อดิฉันฟังเพลงนี้แล้วเสมือนว่าเพลงจะมีความหมายเศร้าซ่อนอยู่ และด้วยความชอบนี้ดิฉันจึงเริ่มฟังอีกครั้งอย่างตั้งใจ เพื่อจะจับใจความให้ได้ว่าเนื้อเพลงร้องว่าอย่างไรบ้าง แต่ดิฉันก็ทำไม่สำเร็จ เพราะดิฉันสามารถฟังเข้าใจพียงคำศัพท์บางคำเท่านั้น ดังนั้น ดิฉันจึงตัดสินใจเริ่มฟังเป็นครั้งที่ 2

เมื่อได้ฟังครั้งที่ 2 แล้ว ดิฉันก็ยังฟังไม่เข้าใจอีกเช่นเดิม ฟังออกเพียงแต่คำศัพท์ไม่กี่คำ ไม่สามารถฟังประโยคทั้งประโยคได้ ดิฉันจึงเปิดฟังอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้ดิฉันรู้สึกว่าสามารถฟังได้บ้าง แต่ยังไม่มากพอสมควร ดิฉันฟังซ้ำ ๆ อยู่หลายครั้งพร้อมทั้งจดคำศัพท์ที่ได้ยินไปด้วย เมื่อฟังไปเรื่อย ๆ คำไหนที่ฟังได้ ดิฉันก็จะจดเติมต่อกันไปเรื่อย ๆ แต่ก็ยังไม่ได้มากเท่าที่ควร ดิฉันจึงลองฟังอีกครั้งหนึ่งอย่างตั้งใจพร้อมทั้งดูคำศัพท์ที่จดบันทึกไว้ ครั้งนี้ทำให้ดิฉันรู้สึกว่าดิฉันเริ่มฟังได้ดีขึ้น จากนั้นดิฉันฟังเพลงอีกครั้งพร้อมกับมีเนื้อเพลงประกอบทำให้ดิฉันทราบว่าคำศัพท์ที่ดิฉันได้ยินนั้นส่วนใหญ่จะผิดอยู่

ในวันที่ 21 ตุลาคม ดิฉันจึงฟังเพลง Night Changes อีกครั้งพร้อมกับมีเนื้อเพลงประกอบ แต่ครั้งนี้ดิฉันจะวิเคราะห์ไวยากรณ์ในเพลงก่อนที่จะแปลความหมาย ซึ่งสิ่งที่ดิฉันได้เรียนรู้ไวยากรณ์จากเพลงมีดังนี้ Her mother doesn’t like that kind of dress. ประโยคนี้คือ Negative Statement หรือประโยคปฏิเสธของ Present Simple Tense, Moon is breaking through her hair. จากรูปประโยคดังกล่าวจะอยู่ในโครงสร้างประโยคของ Present Continuous Tense แต่ประธาน “Moon” เป็นสิ่งของ กริยาที่ใช้จะต้องอยู่ในรูปของ Passive Voice ในที่นี้สามารถใช้ได้ เพราะอาจเป็นการแต่งแบบบุคลาธิษฐานหรือ Personification คือ การกล่าวถึงสิ่งที่ไม่มีชีวิตให้แสดงกิริยาอาการเหมือนกับคนดังเช่นตัวอย่างข้างต้น

ไวยากรณ์ต่อมาคือ She said it was something that she won’t forget. ประโยคข้างต้นดิฉันคิดว่าเป็น Adjective Clause เพราะมีคำว่า  “that” เชื่อมประโยคอยู่และไปขยายคำนามในประโยคหลักคือ something,

Heart is beating loud. ประโยคนี้อยู่ในโครงสร้างของ Present Continuous Tense เช่นกันและมีลักษณะคล้ายกับตัวอย่างประโยคข้างต้น เพราะอาจจะเป็นการแต่งแบบบุคลาธิษฐานหรือ Personification  เช่นกัน, It will never change me and you. ประโยคดังกล่าวจะอยู่ในโครงสร้างของ Future Simple Tense ที่แสดงถึงการกระทำที่จะเกิดขึ้นในอนาคต, และ Driving too fast. จากประโยคนี้จะเห็นว่า too + adjective คือ fast

                ในวันที่ 22 ตุลาคม ดิฉันได้ฟังเพลง Night Changesอีกครั้งและได้แปลความหมายของเพลงเพื่อให้ได้อรรถรสในการฟังเพลงครั้งต่อไป ซึ่งดิฉันสามารถแปลความหมายของเพลงโดยรวมได้ดังนี้ ผู้หญิงคนหนึ่งที่อยากออกไปเที่ยวในยามค่ำคืน เพื่อต้องการเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่าง แต่แม่ของเธอไม่ชอบชุดที่เธอใส่ เธอไม่ได้สนใจและทำทุก ๆ สิ่งที่เธอไม่เคยทำ แสงจันทร์ส่องผ่านผมของเธอไปอย่างรวดเร็ว เธอมุ่งหน้าไปหาบางสิ่งที่เธอต้องการ เธอจะไม่มีวันเสียใจและไม่มีวันที่จะลืมมัน ในทุก ๆ วันเราก็มีแต่จะอายุเพิ่มขึ้น ผู้ชายคนหนึ่งกำลังคิดเกี่ยวกับสิ่งนี้อยู่ เพราะแต่ละคืนนั้นช่างผ่านไปเร็ว ทุก ๆ สิ่งที่เธอเคยฝันไว้จะหายไปเมื่อเธอตื่นขึ้นมา แต่ว่าไม่ต้องกลัวสิ่งใด เพราะแม้ว่าค่ำคืนจะเปลี่ยนแปลง แต่จะไม่มีวันเขาและเธอได้ แม้ในคืนนี้ความสงสัยยังคงวนเวียนอยู่ในหัวของเธอ แต่เขาก็จะรอ เขาสูบบุหรี่พร้อมกับจังหวะหัวใจที่เต้นแรง เธอตกหลุมรักเขาท่ามกลางแสงจันทร์ที่สาดลงมาบนผิวเธอ ไม่มีความเสียใจนั้นคือทั้งหมดที่เธอต้องการ

                และในวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมานั้นในรายวิชา วรรณคดีอังกฤษ ผู้สอนให้ดูหนัง 2 เรื่อง คือ Animal Farm ซึ่งแต่งโดย George Orwell และเรื่องที่สองคือ  A Passage to India แต่งโดย E.M. Forster  ในเรื่องแรกนั้นดิฉันสามารถฟังเข้าใจบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะอาศัยการดูภาพของหนังมากกว่า ส่วนในเรื่องที่สองดิฉันดูแล้วไม่เข้าใจ เพราะตัวละครจะเป็นคนอินเดียอาจจะทำให้สำเนียงในการพูดภาษาอังกฤษนั้นแตกต่างไป การดูหนังทำให้ดิฉันทราบว่าดิฉันยังอยู่ในระดับที่อ่อนมาก เพราะส่วนใหญ่เมื่อดิฉันดูหนัง ดิฉันจะดูไปพร้อมกับการมี Subtitle ประกอบ

                ในวันที่ 23 ตุลาคม ดิฉันได้อ่านสำนวนภาษาอังกฤษต่าง ๆ จากหนังสือ “Everyday English Idiom โดนใจ เรียนรู้สำนวนอังกฤษแบบเจ้าของภาษา ซึ่งเมื่อดิฉันได้อ่านแล้วมีสำนวนมากมายที่น่าสนใจและสามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวัน เช่น สำนวนแรกคือ Fair – weather friend สำนวนนี้หมายถึง เพื่อนกิน เพื่อนเที่ยว หรือคนที่อยู่กับเราเฉพาะในช่วงเวลาที่มีความสุข เวลาที่เรามีเงินทองมากมายให้เขาพึ่งพาได้ แต่เมื่อถึงเวลาทุกข์ยากลำบากเพื่อน ๆ เหล่านี้ก็จะหายหน้าไปไม่มาให้เห็นอีก ไม่สามารถพึ่งพาได้อย่างเพื่อนตาย โดยคำว่า Fair – weather นั้นสามารถเปรียบเทียบได้กับคำว่า Good times หรือช่วงเวลาที่ดีนั่นเอง เช่น You can’t rely on Pat – he’s really a fair - weather  friend. แปลว่า คุณหวังอะไรจากพัฒน์ไม่ได้ เขาเป็นได้แค่เพื่อนกินเท่านั้น

                สำนวนที่สองที่น่าสนใจคือ Chasing rainbows สำนวนนี้จะแปลตรงตัวว่า ไล่ตามสายรุ้งซึ่งก็หมายถึง การที่คนเราวิ่งไล่ไขว่คว้าสายรุ้งที่ไม่มีทางหาเจอหรือจับต้องได้ในความเป็นจริงเป็นการเปรียบเทียบกับการเสียเวลาคิดหรือหรือทำในสิ่งที่ไม่มีวันจะเป็นจริงหรือประสบความสำเร็จขึ้นมา เช่น She wanted to go into entertainment business, but friends told her to quit chasing rainbows. แปลว่า เธออยากเข้าทำงานในธุรกิจบันเทิง แต่เพื่อน ๆ ก็บอกให้เธอเลิกทำในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้, สำนวนต่อไปก็น่าสนใจอีกเช่นกันคือ Toe the line/Toe the mark แปลว่า ทำตามกฎ, ปฏิบัติตามกติกา ซึ่งสำนวนนี้มาจากการแข่งขันกีฬาวิ่ง เช่น The mineworker refused to toe the line and was fired from his job. แปลว่า คนงานเหมืองรายหนึ่งปฏิเสธไม่ยอมปฏิบัติตามกฎจึงถูกไล่ออกจากงาน

สำนวนต่อไปนี้เป็นอีกสำนวนหนึ่งที่ดิฉันชอบคือ Calm before the storm/Lull before the storm สำนวนนี้มีที่มาที่ไปเกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ กล่าวคือช่วงความสงบก่อนที่พายุจะพัดผ่านเข้ามา ใช้พูดเพื่อกล่าวถึงเหตุการณ์ความสงบ ความเป็นปกติในช่วงเวลาปัจจุบันก่อนที่เหตุการณ์หรือเรื่องราวร้าย ๆ ความยุ่งยากลำบากจะผ่านเข้ามา โดยคำว่า Lull (ออกเสียงว่า ลัล) นี้เป็นคำนามแปลว่า ภาวะสงบนิ่ง และคำกริยาแปลว่า กล่อม ทำให้นอนหลับ ทำให้สงบนิ่ง  เช่น We’re going to get very  busy on Friday. Today is just the calm before the storm. ซึ่งแปลว่า วันศุกร์นี้เราคงจะยุ่งกันมาก ๆ วันนี้ก็แค่ความสงบชั่วคราวแค่นั้น

สำนวนต่อมาสามารถนำมาใช้ล้อเลียนเพื่อนเวลาโกรธได้ เพราะเพื่อนอาจจะไม่รู้ความหมายของสำนวนนี้ นั่นคือ Have a face like thunder/Look like thunder ซึ่งสำนวนนี้เป็นการเปรียบเทียบใบหน้าของคนที่โมโหหรือเกิดความรู้สึกไม่พอใจต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งกับสายฟ้า (Thunder) หรือเสียงฟ้าร้องที่มีลักษณะของความก้าวร้าว ดุดัน ไม่นุ่มนวล เนื่องจากใบหน้ามีลักษณะบึ้งตึง ไม่ยิ้มแย้มแจ่มใส และดูดุร้ายน่ากลัวเหมือนสายฟ้า โดยนอกจากคำว่า “Thunder” จะแปลว่า สายฟ้า แล้วยังมีอีกความหมายหนึ่งคือ คำพูดที่รุนแรงเกรี้ยวกราดเช่น What’s up with Pun today? He has a face like thunder!

สำนวนต่อไปนี้ก็น่าสนใจอีกเช่นกัน เพราะหากเราเจอผู้ร้ายหรือโจรมาปล้นหรือขโมยของ หากเราพูดเป็นประโยคอาจทำให้เกิดความล่าช้าจนหัวขโมยหนีไปได้ ดังนั้นเราจึงอาจจะยกสำนวนนี้ขึ้นมาพูดได้คือ On the run. สำนวนนี้สามารถแปลตรงตัวได้เลยว่า อยู่ในระหว่างการวิ่งหรือการที่วิ่งอยู่ตลอดเวลา ซึ่งก็หมายถึง การหลบหนีมักใช้ในบริบทของการที่คนร้ายหรือผู้ที่กระทำความผิดกำลังหลบหนีหรืออยู่ระหว่างการจับกุมของตำรวจซึ่งจะใช้คู่กับคำบุพบทคำว่า “from” เช่น A killer was on the run last night after escaping from a prison. แปลว่า ฆาตกรรายหนึ่งอยู่ระหว่างการหลบหนีเมื่อคืนหลังจากการแหกคุกออกมา

สำนวนต่อไปนี้ก็น่าสนใจอีกเช่นกัน เพราะดิฉันสามารถนำไปใช้พูดในชีวิตประจำวันได้หากมีอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ช่วยดิฉันไว้ได้ทันเวลาพอดี ซึ่งสำนวนนั้นคือ Saved by the bell สำนวนนี้จะมีที่มาจากกีฬามวยของฝรั่งที่เสียงระฆังดังบอกหมดยกช่วยนักมวยที่ถูกกรรมการกำลังนับถอยหลังเพื่อตัดสินให้แพ้ไว้ได้ทันเวลาพอดี มักจะใช้พูดในสถานการณ์ที่เราบังเอิญได้รับความช่วยเหลือไว้จากสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์อย่างไม่ทันได้คาดคิดทำให้รอดหลุดออกมาจากสถานการณ์นั้น ๆ ได้อย่างหวุดหวิด เช่น I was lucky to be saved by the bell when the meeting ended before I had to delivery my report. แปลว่า ฉันโชคดีมากที่การประชุมเลิกเสียก่อน ก่อนที่ฉันจะส่งรายงานพอดี

และในวันที่ 24 ตุลาคมดิฉันได้กลับมาอ่านสำนวนอีกครั้ง เพราะเมื่ออ่านแล้วมันทำให้รู้สึกผ่อนคลาย จากสำนวนที่ได้ศึกษาที่ผ่านมานั้นดิฉันได้จดและท่องจำไว้เพื่อนำไปใช้ในการสื่อสารในชีวิตประจำวัน  ส่วนสำนวนที่ได้อ่านในวันที่ 24 ตุลาคมได้แก่สำนวนต่อไปนี้ สำนวนที่หนึ่งคือ Eat like a horse หมายถึง กินจุ, กินมาก สำนวนนี้จะแตกต่างจากสำนวนไทย เพราะคนไทยจะเปรียบลักษณะของคนที่กินมากหรือกินจุเหมือนกับหมู แต่ต่างชาติจะเปรียบเทียบการกินแบบนี้เหมือนกับม้า เพราะพวกเขาเชื่อว่าม้าเป็นสัตว์ที่กินเยอะและกินได้ทั้งวันและกินไม่หยุด เช่น No wonder Ping is becoming so fat. He eats like a horse. แปลว่า ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมปิ๊งถึงอ้วนขึ้นก็เขากินเยอะซะขนาดนั้น

สำนวนที่มีคำศัพท์เกี่ยวกับสัตว์อีกสำนวนหนึ่งคือ Sick as a dog หมายถึง ป่วยหนักถึงขั้นอาเจียนโดยเฉพาะปัญหาที่ช่องท้อง สำนวนนี้ในหนังสือระบุว่ามีการใช้ตั้งแต่สมัยปี ค.ศ. 1705 แต่สาเหตุที่เปรียบเทียบแบบนี้อาจจะเป็นเพราะลักษณะนิสัยของสุนัขที่กินอาหารไม่เลือกโดยเฉพาะสุนัขที่ไม่มีเจ้าของที่ต้องป่วยและอาเจียนออกมาก็เป็นได้ เช่น I don’t know what was in that soup but I was sick as a dog all night. แปลว่า ผมไม่รู้ว่าในซุปนั่นมีอะไรหรือเปล่า ผมถึงได้ป่วยหนักทั้งคืน

และอีกสำนวนหนึ่งที่ดิฉันจะยกตัวอย่างสำนวนที่มีคำศัพท์สัตว์อยู่คือ Smell a rat หมายถึง มีความรู้สึกถึงสิ่งที่ผิดปกติ, สังหรณ์ใจว่ามีบางอย่างผิดปกติเกิดขึ้น ซึ่งสำนวนนี้มาจากความเชื่อของชาวต่างชาติที่เชื่อว่าหนูเป็นสัตว์ที่สกปรกและเป็นพาหนะนำเชื้อมาสู่คนและสัตว์ที่มีความสามารถในการดมกลิ่นของหนูและจับหนูได้ดีที่สุดคือแมว ดังนั้นเขาจึงนำสำนวนที่ว่ารู้สึกถึงสิ่งผิดปกตินี้ไปเชื่อมโยงกับลักษณะอาการที่แมวได้กลิ่นของหนู เช่น When my husband started working late three or four times a week, I smelled a rat. แปลว่า ฉันรู้สึกถึงความไม่ชอบมาพากล ช่วงที่สามีของฉันเริ่มจะเลิกงานดึก 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์

สำนวนต่อมาเป็นสำนวนที่ทุกคนสามารถนำไปใช้ในการสนทนากันได้โดยเฉพาะในกลุ่มเพื่อน ๆ ที่จะต้องมีสำนวนนี้อยู่ในกลุ่มเพื่อความเป็นเพื่อนที่ดีและตลอดไปคือ สำนวน “Talk turkey” สำนวนนี้จะมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องเล่าของฝรั่งเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวกับชายอินเดียนแดงและชายผิวขาวคู่หนึ่งที่ออกล่าสัตว์ด้วยกัน ชายผิวขาวเป็นคนพูดขึ้นมาก่อนว่า ฉันจะล่าไก่งวงและให้นายล่าอีแร้งนะ หรือไม่ก็ให้นายล่าอีแร้งแล้วฉันล่าไก่งวงแทนชาวอินเดียนแดงจึงตอบด้วยความไม่พอใจออกไปว่า พูดเรื่องไก่งวงตรง ๆ กับฉันเลยก็ได้เนื่องจากอีแร้งนั้นเป็นสัตว์ที่รับประทานไม่ได้ ชายผิวขาวจึงทำทีพูดอ้อมค้อมให้ชายอินเดียนแดงล่าอีแร้งแทน เช่น I have business to discuss with you. Let’s talk turkey. แปลว่า ผมมีธุระจะสนทนากับคุณ เรามาคุยกันอย่างตรงไปตรงมาเลยนะ

จากสำนวนที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นนั้นเป็นสำนวนที่น่าสนใจและสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ อีกทั้งภาษาอังกฤษก็เป็นภาษาที่ซับซ้อนและรุ่มรวยไปด้วยสำนวนทำให้มีความน่าสนใจที่จะเรียนภาษาอังกฤษมากขึ้นและยังเป็นส่วนหนึ่งที่ผู้สนใจภาษาอังกฤษทุกคนจะต้องให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน และที่สำคัญการศึกษาสำนวนนี้ยังเป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถพัฒนาการเรียนภาษาอังกฤษของดิฉันให้ดีขึ้นได้ นอกจากการเรียนรู้สำนวนนั้น ๆ แล้วดิฉันจะต้องหมั่นใช้อย่างสม่ำเสมอเพื่อให้การพูดสำนวนนั้น ๆ เป็นไปอย่างธรรมชาติและเหมือนกับเจ้าของภาษามากที่สุด

จากการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่ดิฉันได้ฝึกทักษะการฟังด้วยการฟังเพลง การดูหนัง และการศึกษาจากหนังสือ “Everyday English Idiom โดนใจ เรียนรู้สำนวนอังกฤษแบบเจ้าของภาษา ทำให้ดิฉันได้พัฒนาการเรียนภาษาอังกฤษมากขึ้น ดิฉันเกิดความตั้งใจที่จะฝึกทักษะการฟังให้เกิดผลสำเร็จถึงแม้ว่ามันจะได้ผลบ้างหรือไม่ได้ผลบ้างก็ตาม แต่หากดิฉันฝึกฟังเป็นประจำ ดิฉันอาจจะฟังภาษาอังกฤษได้อย่างแจ่มแจ้ง ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อดิฉันสามารถเป็นผู้ฟังที่ดีแล้ว ดิฉันก็จะสามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้อีกด้วย ส่วนการศึกษาจากหนังสือที่กล่าวข้างต้นนั้นทำให้ดิฉันสามารถนำไปใช้ในการสื่อสารกับเพื่อนและเจ้าของภาษาได้อย่างถูกต้องและรู้ทันสำนวนของเจ้าของภาษา

 

 

 


 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น