วันจันทร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

Learning Log 6 นอกห้องเรียน

Learning Log
ครั้งที่ 6
สิ่งที่ได้เรียนรู้นอกห้องเรียน
อาการหรือถ้อยคำที่คนคนหนึ่งแสดงให้อีกคนหนึ่งทราบความหมายของตนนั้นเรียกว่า ภาษาในภาษาสันสกฤตคำนี้แต่เดิมหมายถึง คำพูดแต่ในปัจจุบันความหมายของคำนี้ได้ขยายออกอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นการแสดงกิริยาอาการด้วยกาย เพื่อต้องการสื่อความหมายให้ผู้อื่นทราบถึงความต้องการของตนก็เรียกว่าเป็นภาษาได้ เมื่อมนุษย์ต้องติดต่อสื่อสารกันก็เกิดความจำเป็นที่จะต้องมีภาษาและมีวิธีการสื่อสารระหว่างกัน เมื่อมีการอยู่รวมกันเป็นกลุ่มมนุษย์จะต้องใช้ภาษาสำหรับสื่อสารเชิงสังคม ใช้ในการถ่ายทอดศิลปะวิทยาการและความรู้ ความคิด ที่สามารถสื่อสารกันอย่างเข้าใจ  โดยภาษานั้นจะมีคำอยู่ 2 คำที่ทำให้เห็นภาพของภาษาได้ชัดขึ้นคือ  จักษุภาษา หมายถึง ภาษารับด้วยตา, คู่กับ โสตภาษาหมายถึง ภาษารับด้วยหู

 การดำเนินชีวิตประจำวันของคนเราในปัจจุบันย่อมใช้จักษุภาษาและโสตภาษาทั้งสองแบบผสมผสานกัน เพื่อติดต่อสื่อสารกับผู้อื่น แต่เดิมนั้นคำพูดจะมีน้อย แต่ขยายจำนวนเรื่อยมาตามความเจริญของมนุษย์ ภาษากิริยาอาการต่าง ๆ ต้องแสดงในกาลเทศะที่ผู้รับสารสามารถมองเห็นผู้ส่งสาร เมื่อใช้ตาดูแล้วไม่ได้ความสะดวกตามความต้องการก็จำเป็นต้องใช้หูฟังมากขึ้น เพราะผู้ส่งสารสามารถเปล่งเสียงและบัญญัติความหมายของเสียงนั้น ๆ ได้อย่างไม่มีขอบเขตจำกัด ในปัจจุบันเราใช้ตาดูภาษาและหูฟังภาษามากมายหลายประเภทสลับซับซ้อนกัน และผลิตภัณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ซึ่งสามารถรับได้ทั้งทางตาและหูไปพร้อมๆ กัน ได้แก่ ภาพยนตร์, เสียง, วิดีโอ, โทรทัศน์ และคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
เมื่อการศึกษาของมนุษย์เจริญมากขึ้น การเรียนการสอนต้องใช้ภาษามากขึ้นและทำให้ตัวภาษาได้รับการศึกษาค้นคว้าในหลายแง่มุมและหลายระดับความยากง่าย โดยอาจจะแยกประเภทได้ว่ามีประเภทภาษาศาสตร์บริสุทธิ์ และภาษาศาสตร์ประยุกต์ แต่ละประเภทยังสามารถแตกแขนงออกไปได้อีกมากมาย ดังนี้ ภาษาศาสตร์บริสุทธิ์ คือ การศึกษาเรื่องภาษา เป็นศาสตร์ที่มุ่งเพื่อความรู้เพียงส่วนเดียว ไม่หวังเพื่อเอาไปใช้งาน เช่น ภาษาศาสตร์เชิงพรรณนา (Descriptive Linguistics), ภาษาศาสตร์เชิงประวัติ (Historical Linguistics), ภาษาศาสตร์เชิงเปรียบเทียบ (Comparative Linguistics) และ ฯลฯ ส่วนภาษาศาสตร์ประยุกต์ คือ การศึกษาเรื่องภาษา เป็นศาสตร์มุ่งหมายนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ เช่น การศึกษาเกี่ยวกับความหมายของภาษา (Semantics)
ภาษาศาสตร์แขนงต่าง ๆ ส่วนมากจะศึกษาถึงโครงสร้างของภาษาว่าเป็นอย่างไร ศึกษาระบบเสียง ระบบคำ ระบบการเรียงคำ ระบบความหมาย หรือศึกษาถึงเรื่องการกลายเสียง การเปลี่ยนแปลงคำ ประวัติของคำ การกำเนิดภาษา การเปรียบเทียบภาษา เป็นต้น กล่าวโดยย่อ คือ การนำภาษามาวิเคราะห์จำแนกในแง่ต่าง ๆ แต่การใช้ภาษาเป็นพฤติกรรมของมนุษย์อีกส่วนหนึ่งซึ่งมีความสำคัญมาก ได้มีการศึกษาค้นคว้าและรวบรวมเป็นศาสตร์สาขาหนึ่งซึ่งเรียกชื่อในภาษาอังกฤษว่า “Psychology of Language” และในภาษาไทยเรียกว่า จิตวิทยาฝ่ายภาษาซึ่งหมายถึง การศึกษาเรื่องราวการใช้ภาษาควบคู่ไปกับพฤติกรรมของมนุษย์ เช่น ภาษากับความคิดมีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร
ภาษาพูดเป็นเครื่องมือสื่อสารที่ใช้ชั่วขณะ ช่วยในเรื่องความสะดวกมาจนกระทั่งมนุษย์มีความเจริญก้าวหน้าถึงขั้นมีอุปกรณ์ที่ใช้สื่อสารอย่างถาวร และส่งเสริมความคิดให้งอกงามนั้นต้องรู้จักประดิษฐ์ตัวอักษรให้เป็นสัญลักษณ์แทนความหมายที่เกิดมาจากความรู้ ความคิด และประสบการณ์ ในคนรุ่นหลังถ่ายทอดไปยังคนรุ่นใหม่ดังจะเห็นได้ว่า ในอู่อารยธรรมสำคัญรุ่นแรกของโลกซึ่งได้สร้างสรรค์ความเจริญทางวัตถุและทางนามธรรมก็เป็นอู่กำเนิดตัวอักษร เช่น ลุ่มแม่น้ำเหลือง ลุ่มแม่น้ำไนล์ จึงอาจกล่าวได้ว่า เพราะมีตัวอักษรจึงมีอารยธรรมเกิดขึ้น ซึ่งตัวอักษรที่ปรากฏอยู่ในโลกจะปรากฏในชั้นเก่าแก่เป็นรูปภาพแท้ Pictograph เพราะทำให้อ่าน เขียน เรียนง่าย กลายเป็นลักษณะตัวหนังสือที่เลียนมาจากรูปภาพ เช่น หนังสือจีนและตัวหนังสือชาติอื่น
การเรียนรู้ที่จะพูดและเขียนภาษาแม่ได้เป็นพฤติกรรมทางภาษาประเภทหนึ่ง ความเข้าใจในเรื่องการเรียนภาษาแม่จะทำให้เข้าใจภาษาและความคิดมีความเกี่ยวพันกันและเป็นแนวคิดในการเรียนภาษาที่สองด้วย มนุษย์จะเรียนภาษาแม่อย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะมนุษย์นั้นมีศักยภาพทางร่างกายในการเรียนภาษาแม่ โดยการเรียนนั้นจะเป็นไปตามลำดับขั้นตอน ซึ่งการเรียนภาษามี 5 ลำดับขั้นตอน ได้แก่ ขั้นที่หนึ่ง คือ ขั้นปฏิกิริยา, ขั้นที่สอง คือ ขั้นเล่นเสียง, ขั้นที่สาม คือ ขั้นเลียนเสียง, ขั้นที่สี่ คือ ขั้นเลียนเสียงผู้อื่น, และขั้นที่ห้า คือ ขั้นพูดภาษาได้จริง ภาษาจะมีพัฒนาการไปพร้อม ๆ กับพัฒนาการทางด้านสรีระด้านต่าง ๆ เช่น ปาก ลิ้น ฟัน และสมองส่วนภาษา
ภาษาและความคิดมีความสัมพันธ์กันและสำคัญต่อกันและกันอย่างแยกออกจากกันไม่ได้ วิวัฒนาการของภาษาจะควบคู่ไปกับวิวัฒนาการของความคิด การศึกษาวิวัฒนาการของความคิดเป็นรากฐานให้เข้าใจกระบวนการคิดที่ซับซ้อน ซึ่งมีขั้นตอนพัฒนาการทางความคิดของเพียเจท์มี 4 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นที่หนึ่ง คือ รู้จักคิดด้วยประสาทสัมผัสและกล้ามเนื้อ, ขั้นที่สอง คือ ขั้นกำหนดความคิดไว้ล่วงหน้า, ขั้นที่สาม คือ ขั้นใช้ความคิดเชิงรูปธรรม และขั้นที่สี่ คือ ขั้นใช้ความคิดอย่างเป็นระบบ ซึ่งทั้ง 4 ขั้นนี้ยังมีรายละเอียดย่อยอีกหลายประการ เช่น โครงสร้างของความคิด การเรียนรู้ และรับรู้ หลักการพัฒนาด้านการรับรู้ เป็นต้น
ประโยชน์ของภาษานั้นมีหลายประการ ในที่นี้ดิฉันจะกล่าวเพียง 3 ประการ คือ ประการแรก ภาษาเป็นเครื่องมือของสังคมสำหรับใช้เป็นสื่อกลางในการตอบตกลงบอกกล่าว ทำความเข้าใจกันระหว่างบุคคล ภาษายังเป็นเครื่องมือที่แสดงถึงความสามารถของมนุษย์ตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และอนาคตได้อีกด้วย, ประการที่สอง ภาษาเป็นวัสดุสำหรับสร้างสรรค์ศิลปกรรม เพราะภาษามีลักษณะพิเศษอีกอย่างหนึ่ง คือ ทำให้ผู้รับทราบภาษาเกิดการสะเทือนอารมณ์ เกิดความรู้สึกต่าง ๆ และยังเป็นเครื่องมือช่วยทำให้เข้าใจโลกและชีวิต และประการสุดท้าย ภาษาเป็นเครื่องมือช่วยให้คิดและวินิจฉัยคุณภาพของสติปัญญา
ภาษาและความคิดถือเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรา เพราะภาษาเกิดมาพร้อมกับมนุษย์ เรารู้จักใช้ภาษาตั้งแต่เกิดทั้งภาษาถ้อยคำและไม่ใช่ภาษาถ้อยคำ ดังนั้นภาษาจึงเป็นเรื่องราวในชีวิตประจำวันที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารกับบุคคลอื่นที่อยู่ร่วมกันในสังคมให้มีความเข้าใจอันดีต่อกัน เราเรียนรู้ภาษาเพื่อให้เรารู้จักคิดในแบบต่าง ๆ หรือรู้จักดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันทั้งกิจกรรมที่เกี่ยวกับการเรียนและการพักผ่อนหย่อนใจ หรือการพัฒนาตนเองในมุมต่าง ๆ ที่มีความหลากหลาย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น