วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

หลักการแปลวรรณกรรม

สิ่งที่ได้เรียนรู้
หลักการแปลวรรณกรรม
            วรรณกรรม หมายถึง หนังสือที่แต่งขึ้นด้วยความคิดสร้างสรรค์ไม่ว่าจะใช้วิธีร้อยแก้วหรือร้อยกรอง ไม่ว่าจะเป็นผลงานของกวีโบราณหรือปัจจุบัน ซึ่งรวมถึงสิ่งที่เราเรียกว่า วรรณคดีด้วย ตามปกติวรรณกรรมเป็นงานเขียนที่จัดไว้ในประเภท บันเทิงคดีงานแปลทางบันเทิงคดีที่จะนำมากล่าวถึงในที่นี้ ได้แก่ งานแปลนวนิยาย เรื่องสั้น นิทาน นิยาย บทละคร การ์ตูน บทภาพยนตร์ บทเพลง เป็นวรรณกรรมที่ผู้อ่านมุ่งหวังที่จะได้รับความบันเทิงเพลิดเพลินเป็นส่วนใหญ่ ส่วนที่จะค้นหาความรู้ ข้อมูลต่าง ๆ นั้นเป็นจุดประสงค์รองลงมา
            การแปลวรรณกรรมสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การรักษาความหมายเดิมไว้ให้ครบถ้วนถูกต้องไม่เปลี่ยนแปร ไม่กลายเป็นตรงกันข้าม รักษารสของความหมายเดิมไว้ให้เป็นรสเดียวกัน เช่น รสรัก เศร้าโศก ขมขื่น เบื่อหน่าย สงสัย หวาดระแวง ริษยา ชื่นชม ห่วงใย แค้นใจ ซาบซึ้งในความดี สำนึกในบุญคุณ ความมีไมตรีจิต ความอ่อนโยน เป็นต้น การรักษาความหมายเดิมกับการรักษารสของความหมายเดิมเป็นหัวใจของการแปลงานบันเทิงคดี ผู้แปลต้องใช้ศิลปะที่ละเอียดลึกซึ้ง เพราะงานแปลประเภทนี้เป็นงานศิลปะอย่างแท้จริง
            ต่อมา หลักการแปลนวนิยาย นวนิยายแปลเป็นหนังสือที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในทุกประเทศและทุกกาลสมัย ผู้แปลมีความสำคัญเทียบเท่ากับผู้แต่ง ในบางครั้งมีความสำคัญยิ่งกว่าผู้แต่ง เช่น เสถียรโกเศศ-นาคะประทีป ได้รับความสำเร็จในการแปลเรื่องกามนิต จนได้รับการยกย่องอย่างสูงทั่วไปในทุกวงการหนังสือของไทย งานแปลนวนิยายและหนังสือประเภทบันเทิงคดีมักจะนำชื่อเสียงเกียรติคุณมาสู่ผู้แปล ดังนั้นงานแปลประเภทนี้จึงมีความสำคัญมากในวงการแปล คุณค่าของวรรณกรรมอยู่ที่ศิลปะในการใช้ภาษาของผู้แปลที่สามารถค้นหาถ้อยคำสำนวนสละสลวยและสอดคล้องกับต้นฉบับเป็นอย่างดี
            ในการแปลผู้แปลจะต้องแปลชื่อเรื่องของวรรณกรรม ชื่อของหนังสือหรือภาพยนตร์มีความสำคัญเป็นอันดับแรก เพราะผู้แต่งได้พิถีพิถันตั้งชื่องานของเขาอย่างดีที่สุด เพื่อบอกคุณลักษณะของงานเพื่อเร้าใจผู้อ่านผู้ชมให้สนใจและติดตามผลงาน และเพื่อบอกผู้อ่านเป็นนัย ๆ ว่าผู้เขียนต้องการสื่ออะไรต่อผู้อ่าน หลักการแปลชื่อเรื่องตามที่นักแปลมืออาชีพปฏิบัติอยู่มี 4 แบบ ได้แก่ แบบที่ 1 ไม่แปล แต่ใช้ชื่อเดิมเขียนเป็นภาษาไทยด้วยวิธีถ่ายทอดเสียงหรือถ่ายทอดตามตัวอักษร แบบที่ 2 แปลตรงตัว ถ้าชื่อต้นฉบับมีความสมบูรณ์ครบถ้วนจะใช้วิธีแปลตรงตัวโดยรักษาคำและความหมายไว้ด้วยภาษาไทยที่ดีและกะทัดรัด
            แบบที่ 3 แปลบางส่วนดัดแปลงบางส่วน จะใช้วิธีนี้ต่อเมื่อชื่อต้นฉบับห้วนจนเกินไป ไม่ดึงดูด และไม่สื่อความหมายมากเพียงพอ เช่น Poor People รักของผู้ยากไร้, Animal Farm การเมืองของสัตว์, The Old Man and the Sea เฒ่าผจญทะเล เป็นต้น และแบบที่ 4 ตั้งชื่อใหม่โดยการตีความชื่อเรื่องและเนื้อเรื่อง ผู้แปลต้องใช้ความเข้าใจวิเคราะห์ชื่อเรื่องและเนื้อเรื่องจนสามารถจับประเด็นสำคัญและลักษณะเด่นของเรื่อง และจุดประสงค์ของผู้เขียนเรื่องได้ จึงจะสามารถตั้งชื่อใหม่ที่ดีได้ เช่น Gone with the Wind วิมานลอย, The Jungle ชีวิตเปลี่ยน, The Great Gatsby รักเธอสุดที่รัก เป็นต้น
            หลักการแปลขั้นต่อมา คือ การแปลบทสนทนา สิ่งที่เป็นปัญหาของการแปลนวนิยายคือบทสนทนา หรือถ้อยคำโต้ตอบกันของตัวละคร ซึ่งใช้ภาษาพูดหลายระดับแตกต่างกันตามสถานภาพทางสังคมของผู้พูด ตั้งแต่ราชาศัพท์ ภาษาสุภาพ ภาษาที่เป็นทางการ ภาษากันเอง และบางครั้งก็เป็นภาษาพูดแบบทั่วไปซึ่งเต็มไปด้วยคำสแลง คำสบถ คำย่อ คำตัดสั้น ๆ ที่ใช้กันตามความเป็นจริง ถ้าผู้แปลไม่คุ้นกับภาษาพูดระดับต่าง ๆ ก็อาจจะเข้าใจผิดได้ ตัวอย่างเช่น คำทักทาย คือ การแปลคำทักทาย ในภาษาอังกฤษมีการใช้คำพูดทักทายหลายประโยค เช่น How do you do? คุณสบายดีหรือคะ (ครับ)
            การตัดถ้อยคำให้สั้นลงทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ในภาษาพูดมักจะตัดเสียงคำให้สั้นลง เช่น ตัดเสียงพยางค์หน้าคำ (Good morning พูดว่า morning) ตัดเสียงพยางค์กลางคำ (มหาวิทยาลัย พูดว่า มหาลัย, นักศึกษา พูดว่า นักษา, พิษณุโลก พูดว่า พิษโลก) ในการแปลบทสนทนามีหลักการที่สำคัญที่สุดคือ แปลให้เป็นธรรมชาติสอดคล้องกับฐานะของผู้พูด สอดคล้องกับระดับภาษาที่ใช้ในโอกาสนั้น รักษาความหมายโดยนัยไว้ให้ครบถ้วน อย่ากังวลกับการแปลคำต่อคำ เพราะจะทำให้ภาษาฟังดูแข็ง ๆ ไม่เป็นธรรมชาติ
            หลักการแปลขั้นต่อมา คือ การแปลบทบรรยาย เป็นข้อความที่เขียนเล่าเรื่องราวเหตุการณ์ ซึ่งมักจะใช้ภาษาเขียนที่ขัดเกลาและแตกต่างกันหลายระดับ ก่อให้เกิดความยุ่งยากในการแปลเพื่อให้สอดคล้องกับต้นฉบับ อย่างไรก็ตาม ถ้าวิเคราะห์การใช้ภาษาในบทบรรยายแล้วจะพบว่าความยุ่งยากเกิดจากภาษาสองประเภท คือ ภาษาในสังคม กับภาษาวรรณคดี ดังนี้ ภาษาในสังคม พฤติกรรมการใช้ภาษาของมนุษย์ในแต่ละสังคมนั้นจะต้องผ่านการฝึกฝนมาแล้วจนเกิดความเคยชิน ภาษาของแต่ละสังคมบางครั้งก็คล้ายกันบางครั้งก็แตกต่างกัน เช่น เรื่องตลกขบขันของสังคมหนึ่งอาจกลายเป็นเรื่องอับอายขายหน้าของอีกสังคมหนึ่ง ไม่มีสังคมใดที่ทุกคนในสังคมพูดภาษาที่มีความหมายอย่างเดียวกันทั้งหมด
            ความแตกต่างในการใช้ภาษามีสาเหตุสำคัญหลายประการซึ่งเกิดจากอาชีพของผู้พูด วัย เพศ และสถานภาพทางสังคม ภาษาเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่าสังคมของผู้พูดมีลักษณะอย่างไร หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ สังคมมีอิทธิพลต่อภาษาพูด การใช้ภาษาของบุคคลในสังคมก็เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เปลี่ยนตามสภาวะแวดล้อมคือ ผู้ฟัง กาลเทศะ และอารมณ์ เช่น คำว่า กิน ในสภาพแวดล้อมที่มีผู้ใหญ่ หรือผู้ไม่คุ้นเคย ใช้คำรับประทาน ลองชิม ลิ้มรส หรือในสภาพแวดล้อมที่มีเด็ก ๆ ใช้คำ หม่ำ อ้ำ หรือในสภาพแวดล้อมที่มีผู้คุ้นเคย ใช้คำ กิน จัดการ งาบ เป็นต้น
            ต่อมาคือ ภาษาวรรณคดี (literary language) คือ ภาษาที่ใช้เขียนในวรรณกรรมต่าง ๆ เช่น กวีนิพนธ์ นวนิยาย บทละคร ความเรียง หรือข้อความในโอกาสที่ต้องการความไพเราะ สละสลวย เป็นภาษาที่ถูกต้องสมบูรณ์ทั้งความหมาย ไวยากรณ์ และความไพเราะ ภาษาระดับนี้ไม่นิยมใช้พูดจากันในชีวิตประจำวัน แต่จะนิยมใช้ในการเขียนที่ไพเราะเท่านั้น ภาษาระดับนี้จะคำนึงถึงลีลาการเขียนที่เป็นลักษณะเฉพาะของผู้เขียนประกอบด้วยการเล่นความหมายของคำ เสียงของคำ การเปรียบเทียบเพื่อสร้างมโนภาพและเร้าอารมณ์ การใช้สำนวนคมคาย เช่น Don’t beat about the bush. อย่าพูดจาอ้อมค้อม
            ขั้นตอนในการแปลวรรณกรรมควรปฏิบัติดังนี้ อ่านเรื่องราวให้เข้าใจโดยตลอด สามารถจับใจความสำคัญของเรื่องที่จะแปลได้ ย่อความเนื้อเรื่อง จับประเด็นของเรื่อง ทำแผนผังความสัมพันธ์ของตัวละครสำคัญในเรื่อง และพฤติกรรมที่มีความหมายมีความโยงใยต่อกัน, วิเคราะห์ถ้อยคำสำนวน ค้นหาความหมายของคำศัพท์ที่ไม่เคยรู้จัก ค้นหาความกระจ่างของข้อความที่ไม่เข้าใจ ค้นหาความกระจ่างด้านวัฒนธรรม และลงมือแปลเป็นภาษาไทยด้วยถ้อยคำสำนวนที่เรียบง่าย อ่านเข้าใจง่าย และชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นภาษาไทยที่เป็นธรรมชาติ
            หลักการแปลขั้นต่อมาคือ หลักการแปลบทละคร บทละครคือวรรณกรรมการแสดง ถ้าไม่มีดนตรีหรือบทร้องประกอบ เรียกว่า ละครพูด ถ้ามีดนตรีหรือบทร้องเป็นส่วนสำคัญก็เรียกกันทั่วไปว่า ละครร้อง ละครรำ ละครไทยมีชื่อเรียกมากมาย เช่น ละครชาตรี ลิเก เป็นต้น บทละครที่กล่าวถึงนี้เกี่ยวกับการแปลหมายถึง ละครโศก ละครชวนขัน ละครโอเปร่าหรืออุปรากร และบทละครสำหรับแสดงบนเวที หรือบทละครที่เขียนขึ้นเพื่อให้อ่าน ในบทละครสมัยใหม่ ส่วนใหญ่เป็นบทเจรจาหรือบทพูด ซึ่งตัวละครจะต้องเปล่งเสียงอย่างชัดเจนเพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง และติดตามเรื่องราวได้ถูกต้อง
            บทพูดเป็นสิ่งสำคัญของการดำเนินเนื้อเรื่องให้ต่อเนื่องกัน การเขียนละครที่ดี บทพูดจะไม่ยืดยาว และจะประกอบด้วยถ้อยคำที่กะทัดรัดชัดเจน ขณะที่ตัวละครพูดจากัน ผู้เขียนบทจะเขียนบอกผู้แสดงให้แสดงกิริยาท่าทางต่าง ๆ ด้วย เช่น ร้องไห้ หัวเราะเบา ๆ หอบ หวาดกลัว เป็นต้น บางครั้งจะบอกผู้แสดงที่ไม่ได้อยู่หน้าเวที เช่น เสียงเดินมาเปิดประตู เสียงทะเลาะกันเอะอะ เสียงปืน เป็นต้น ผู้แปลมักจะแปลการบอกบทเช่นนี้ไว้ในวงเล็บ บทบรรยายของบทละครเป็นคำบรรยายฉาก สถานที่ เวลา และการปรากฏตัวของตัวละคร ส่วนมากจะบรรยายก่อนเปิดม่าน
            วิธีแปลบทละคร ดำเนินการแปลเช่นเดียวกับการแปลเรื่องสั้น นวนิยาย นิทาน นิยาย คือ เริ่มต้นด้วยการอ่านต้นฉบับเพื่อทำความเข้าใจให้ตลอดตั้งแต่ต้นจนจบ หาความหมายและคำแปลแล้วจึงเขียนบทแปลด้วยภาษาที่เหมาะสม ในการอ่านต้นฉบับบทละคร ในการอ่านครั้งแรกเพื่อทำความเข้าใจเนื้อเรื่องอย่างคร่าว ๆ ตรวจสอบความเข้าใจด้วยการตั้งคำถาม ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อใด และในการอ่านครั้งต่อไปเพื่อค้นหาความหมายของคำและวลีที่ไม่รู้จักโดยใช้พจนานุกรมช่วยและหาความรู้รอบตัวเพิ่มเติมเกี่ยวกับต้นฉบับ
            หลักการแปลต่อมาคือ หลักการแปลบทภาพยนตร์ ภาพยนตร์จากต่างประเทศที่ฉายในโรงและในจอโทรทัศน์ ถ้าแปลบทเป็นภาษาไทยหรือพากย์ไทยจะอำนวยประโยชน์และความบันเทิงให้แก่ผู้ชมเป็นอันมาก บทภาพยนตร์ที่นำมาแปลจะถ่ายทอดเป็นบทเขียนอ่าน นอกจากบางครั้งที่ไม่มีบทเขียน ผู้แปลต้องดูและฟังจากฟิล์ม จุดประสงค์หลักของบทภาพยนตร์แปลมี 2 ประการคือ ประการที่หนึ่ง นำบทแปลไปพากย์หรืออัดเสียงในฟิล์ม ผู้ฟังจะได้ยินเสียงนักแสดงพูดภาษาไทย และประการที่สอง นำบทแปลไปเขียนคำบรรยายในฟิล์มดั้งเดิม ผู้ฟังจะได้ยินเสียงเดิมของนักแสดงและได้เห็นคำแปลพร้อมกัน
            บทแปลที่จะนำไปใช้ประโยชน์ตามประการที่หนึ่งผู้แปลต้องระวังความจำกัดตามจังหวะขยับริมฝีปากของผู้แสดงเท่าที่ปรากฏให้เห็น ส่วนข้อดีคือ หากมีข้อผิดพลาดก็จะจับไม่ได้ และตามประการที่สองบทแปลจะจำกัดด้วยเนื้อที่ในฟิล์มให้พอเหมาะกับกรอบภาพและขนาดของตัวอักษรที่ใช้พิมพ์คำบรรยาย ข้อจำกัดอีกอย่างหนึ่งคือ ผู้ชมภาพยนตร์สามารถจับผิดคำแปลได้จากการเปรียบเทียบคำพูดของนักแสดงกับคำแปล ในกรณีนี้ผู้แปลไม่มีทางหนีรอดไปได้เลย
            บทภาพยนตร์มีลักษณะเหมือนบทละครที่ประกอบด้วยคำสนทนาเป็นส่วนใหญ่ แต่ผู้แสดงภาพยนตร์จะมีจำนวนหลากหลายกว่า แต่ละคนจะใช้คำพูดต่างกันตามอุปนิสัยใจคอและพูดจารวดเร็วต่างจากผู้แสดงซึ่งจากพูดช้า และเน้นย้ำให้ชัดเจน บางครั้งผู้แสดงอีกคนหนึ่งจะช่วยเน้นย้ำด้วยการถามซ้ำบ้างทวนคำถามบ้าง และอุทานบ้าง นอกจากนี้การแสดงภาพยนตร์จะมีความเคลื่อนไหวเร็วกว่าการแสดงละครมาก บางทีพูดไปเคลื่อนไหวไปมีผลต่อการแปลบทขึ้นต้องแปลให้รวดเร็วและทันกับบทบาทของการแสดง บทภาพยนตร์เป็นข้อเขียนที่มีจุดประสงค์นำไปแสดง และพูดตามการสับเปลี่ยนฉากที่รวดเร็วเพื่อความฉับไวโดยรักษาความต่อเนื่องของภาพและเนื้อเรื่องไว้ให้เอกภาพ ผู้แปลต้องตระหนักในลักษณะเฉพาะของบทภาพยนตร์เพื่อป้องกันมิให้มีความเข้าใจผิดจนเกิดการแปลผิด
            หลักการแปลต่อมาคือ หลักการแปลนิทาน นิยาย สำหรับบันเทิงคดีประเภทนิทาน นิยาย เรื่องเล่า เป็นสิ่งที่มีมาแต่โบราณสมัยที่ยังไม่ใช้ตัวอักษรสื่อสารกัน นิทาน นิยาย และเรื่องเล่าเป็นการเล่าเรื่องด้วยปาก ดังนั้นจึงเรียกกันว่า วรรณคดีปาก หรือ มุขปาฐะ (Oral Literature) เนื่องจากการเล่านิทาน นิยาย เรื่องเล่าใช้วิธีการบรรยายและพรรณนา จะไม่ใช้วิธีซับซ้อน ดังนั้นจึงมีผู้เรียกว่า วรรณกรรมวรรณา (Narrative Literature) ในปัจจุบันนิทาน นิยาย เรื่องเล่ายังคงมีลักษณะคล้ายในสมัยโบราณคือมีลักษณะสนุกสนานน่าตื่นเต้น ให้ความรู้ความเพลิดเพลิน ให้คติธรรมแก่ชีวิต
            วิธีการแปลนิทานจะดำเนินการแปลตามขั้นตอนเช่นเดียวกับหลักการแปลวรรณกรรมประเภทอื่น ๆ คือ จะอ่านต้นฉบับนิทานก่อน ในการอ่านครั้งแรกจะอ่านอย่างรวดเร็วเพื่อทำความเข้าใจเนื้อเรื่องของนิทาน แล้วตรวจสอบความเข้าใจเนื้อเรื่องด้วยคำถามทั้ง 5 คือ ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อใด ทำไม เป็นต้น และในการอ่านครั้งต่อไปจะอ่านอย่างช้า ๆ และค้นหาความหมายและคำแปล ทำรายการคำและวลีที่ไม่ทราบความหมายและจะค้นหาความหมายในพจนานุกรม เช่น leap หมายถึง กระโดด และขั้นตอนต่อมาคือ การเขียนบทแปล การใช้ภาษาในนิทานอีสปเรื่องนี้เป็นภาษาระดับกลาง ใช้วิธีเขียนแบบเก่าไม่เหมือนกับปัจจุบัน การใช้ภาษาแปลในการแปลสรรพนามที่สัตว์ใช้ในนิทานควรใช้ภาษาเก่า เช่น เจ้า ข้า ตอนจบของนิทานเป็นคำสอน การแปลชื่อของเรื่องนี้สามารถใช้วิธีแปลตรงตัวได้
            หลักการแปลต่อมาคือ หลักการแปลเรื่องเล่า เรื่องเล่าสั้น ๆ แฝงอารมณ์ขันมักจะปรากฏตามหนังสือพิมพ์และนิตยสาร ผู้อ่านจะต้องเข้าใจปมของอารมณ์ขัน และหยิบยกขึ้นมาแปล ถ่ายทอดให้ตรงตามต้นฉบับ เรื่องเล่าแฝงอารมณ์ขันมักจะใช้ถ้อยคำจำกัดกะทัดรัด ถ้ามีความกำกวมอาจเป็นเพราะผู้เขียนจงใจ เพราะความกำกวมสร้างอารมณ์ขันได้ เรื่องเล่ามักจะปะกอบด้วยตัวละครสำคัญจำนวน 1-2 ตัว ซึ่งมีความสัมพันธ์กันตามความจำเป็นจะตัดตัวใดตัวหนึ่งออกไม่ได้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะกระชั้นชิดแบบรวดเร็วเพื่อให้กระชับความ วิธีการแปลเรื่องเล่าสามารถดำเนินการแปลตามขั้นตอนเช่นเดียวกับการแปลวรรณกรรมประเภทอื่น ๆ คือจะเริ่มต้นด้วยการอ่านต้นฉบับให้เข้าใจแล้วเขียนบทแปล ในขั้นตอนการเขียนบทแปล การใช้ภาษาในเรื่องนี้เป็นภาษาระดับกลาง มีความกำกวม และอารมณ์ขัน ผู้แปลจะต้องเลือกหาคำที่ฟังดูน่าขัน
            หลักการแปลต่อมาคือ หลักการแปลการ์ตูน การ์ตูนไม่ได้เป็นวรรณกรรมสำหรับเด็ก แต่ผู้ใหญ่ก็ได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลิน ผ่อนคลายความเครียดจากการอ่านการ์ตูนเช่นกัน การ์ตูนให้ความบันเทิงทุกอย่างแก่ผู้อ่านและยังมีส่วนสร้างสรรค์ความสามารถเชิงสังเกต วิเคราะห์ และไหวพริบแก่ผู้อ่าน ผู้อ่านสามารถเชื่อมโยงการสื่อความหมายด้วยภาพกับภาษาเข้าด้วยกัน หลักการสำคัญในการแปลการ์ตูนคือ การใช้คำแปลที่สั้น ชัดเจน เข้าใจหรือสื่อความหมายได้ สามารถจำกัดจำนวนคำให้อยู่ภายในกรอบคำพูดได้ ภาษาในบทสนทนาของการ์ตูนมีหลายระดับขึ้นอยู่กับตัวละครที่สร้างขึ้น ซึ่งผู้แปลต้องใช้ความสังเกตและความระมัดระวังให้การใช้ภาษาแปลมีความสอดคล้องกัน
            วิธีการแปลการ์ตูนจะดำเนินการแปลตามขั้นตอนเช่นเดียวกับการแปลเรื่องเล่าคือ เริ่มต้นด้วยการอ่านต้นฉบับให้เข้าใจโดยสังเกตรายละเอียดของภาพ ต่อจากนั้นจึงลงมือเขียนบทแปลโดยใช้ถ้อยคำสั้น ๆ สามารถบรรจุลงในกรอบคำพูดได้พอดี สำหรับในขั้นตอนการเขียนบทแปล เมื่อเข้าใจเรื่องราวโดยตลอดแล้ว อ่านซ้ำอีกครั้งอย่างละเอียดเพื่อเตรียมการเขียน ถ้ายังเขียนไม่ได้ก็หมายความว่ายังเข้าใจไม่แจ่มแจ้ง เพราะติดศัพท์บางตัว หรือขาดความรู้ภูมิหลัง
            และหลักการแปลสุดท้ายคือ หลักการแปลกวีนิพนธ์ ลักษณะการแปลกวีนิพนธ์มี 2 ลักษณะคือ แปลเป็นร้อยกรอง วิธีนี้นิยมใช้กับวรรณคดีโบราณที่มุ่งเน้นทั้งเนื้อหาสาระและความไพเราะของภาษา ผู้แปลส่วนใหญ่มุ่งหวังจะให้งานแปลของตนเป็นวรรณคดีอีกชิ้นหนึ่งในภาษาอีกภาษาหนึ่ง นอกจากจะแปลเนื้อหาสาระแล้วยังรักษาวิธีนำเสนอที่ใกล้เคียงที่สุดกับต้นฉบับโดยยึดฉันทลักษณ์ไว้อย่างเหนียวแน่น พยายามเล่นคำ เล่นความหมายตามต้นฉบับทุกจังหวะ การแปลที่ยึดติดฉันทลักษณ์นี้เหมาะสมสำหรับการแปลเป็นภาษาที่มีฉันทลักษณ์อย่างเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน
            และลักษณะที่สองคือ แปลเป็นร้อยแก้วที่ประณีตหรือ prose poem ผู้แปลจะใช้การแปลกวีนิพนธ์เป็นร้อยแก้วต่อเมื่อมีจุดประสงค์เพียงการสื่อสารความคิดและวัฒนธรรมอื่น ๆ ในกวีนิพนธ์ ทั้งนี้เพราะบทบาทการใช้งานแปลวรรณคดีได้ทวีความหลากหลายขึ้นมาก เช่น เพื่อศึกษาและเผยแพร่ความคิด ถ้อยคำ เหตุการณ์ ตำนาน ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมอื่น ๆ ทั้งนี้เพื่อความสะดวกรวดเร็ว และความชัดเจนของเนื้อหาสาระ  prose poem หรือ poetic prose ถึงแม้จะเป็นร้อยแก้วที่ประณีตก็ยังมีองค์ประกอบหลายอย่างของกวีนิพนธ์ เช่น มีจังหวะ สัมผัสนอก สัมผัสใน สัมผัสอักษร และการเล่นคำความหมาย
            ในการแปลกวีนิพนธ์อาจจะเกิดปัญหาขึ้นได้ เช่น ความเข้าใจเป็นปัญหายิ่งใหญ่ที่สุดของผู้แปลไม่ว่าจะแปลงานประเภทใดโดยเฉพาะกวีนิพนธ์ประเภทที่มุ่งแสดงความรู้สึก มโนทัศน์ และอื่น ๆ ที่เป็นนามธรรม บางครั้งปัญหาความเข้าใจเกิดจากรูปแบบแปลก ๆ ใหม่ ๆ ที่กวีใช้ หรือปัญหาการเลือกใช้ถ้อยคำสำนวน หลังจากที่ผู้แปลทำความเข้าใจความคิดของกวีและรูปแบบของกวีนิพนธ์อย่างถูกต้องก็จะหาคำแปลสั้น ๆ กะทัดรัดในจำนวนที่จำกัดตามลักษณะฉันทลักษณ์ทั้งยังต้องมีเสียงหนักเบาเหมาะกับจังหวะและสัมผัสด้วย ซึ่งเป็นงานหนักมากของผู้แปล อย่างไรก็ตามถ้าผู้แปลเป็นกวี หรือเคยชินกับการแต่งกวีนิพนธ์แล้วก็จะได้รับความสะดวกมากขึ้น
            จากการศึกษาและเรียนรู้หลักการแปลวรรณกรรม หลักการแปลนวนิยาย หลักการแปลบทละคร หลักการแปลบทภาพยนตร์ หลักการแปลนิทาน นิยาย หลักการแปลเรื่องเล่า หลักการแปลการ์ตูน และหลักการแปลกวีนิพนธ์ จะมีขั้นตอนการแปลเหมือนกันคือ จะเริ่มด้วยการอ่านต้นฉบับเพื่อทำความเข้าใจให้ตลอดตั้งแต่ตอนต้นจนจบเรื่องก่อนเสมอ จากนั้นผู้แปลจะต้องหาความหมายของคำและคำแปล แล้วจึงลงมือเขียนบทแปลด้วยภาษาที่เหมาะสม สละสลวย และยังคงรักษาความหมายเดิมของภาษาต้นฉบับ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น