Learning
Log
ครั้งที่ 11
สิ่งที่ได้เรียนรู้นอกห้องเรียน
การเรียนรู้นอกห้องเรียนสามารถเรียนรู้ได้หลายวิธีแล้วแต่ความสนใจและความถนัดของแต่ละคน
หากมีการเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ
สมองก็จะได้รับการพัฒนาอยู่ตลอดเวลารวมไปถึงเป็นการเพิ่มพูนความรู้ให้กับตนเองอีกด้วย
โดยการเรียนรู้นอกห้องเรียนดิฉันได้ศึกษาเรื่อง “คำศัพท์”
เป็นการศึกษาจากสันดานของศัพท์ว่า ศัพท์แต่ละตัวมีใบหน้า หัวใจ
และบั้นท้ายตัวใดแล้วคำนั้นจะมีความหมายว่าอย่างไร และได้ศึกษา “การพูดภาษาอังกฤษตามหลักภาษาศาสตร์” โดยศึกษาภาคทฤษฎีให้เข้าใจก่อนแล้วค่อยลงมือปฏิบัติ
ซึ่งเป็นการฝึกทักษะการพูดได้อีกแบบหนึ่ง
ในสัปดาห์ที่แล้วดิฉันได้ศึกษาเกี่ยวกับหัวใจของคำศัพท์ไปแล้ว และในสัปดาห์นี้ดิฉันจะศึกษาในส่วนของบั้นท้ายหรือส่วนท้ายของคำศัพท์ ซึ่งบั้นท้ายของคำศัพท์ในภาษาอังกฤษมีอยู่ด้วยกันหลายบั้นท้าย บั้นท้ายจะมีลักษณะเรียบร่าย จะรั้งอยู่ส่วนท้ายของคำศัพท์เพื่อปรับเปลี่ยนความหมาย และยังทำให้บทบาทหน้าที่ของคำศัพท์นั้นเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอีกด้วย โดยในส่วนท้ายสามารถเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า “Suffixes” คือ ส่วนที่นำไปเติมหน้ารากศัพท์หรือหัวใจแล้วคำนั้นเปลี่ยนชนิดของคำไป แต่ความหมายของคำนั้นยังคงเหมือนเดิม
บั้นท้ายคำแรกคือ –able
กับ –ible ซึ่งหากพบเห็นบั้นท้ายนี้ที่คำศัพท์ใด
จะมีความหมายว่า “สามารถ” แฝงอยู่ในคำศัพท์นั้นด้วย
เมื่อ –able กับ –ible วางอยู่ส่วนหลังของคำใดจะทำให้คำนั้นแสดงบทบาทเป็นคำคุณศัพท์
เช่น think เมื่อใส่บั้นท้าย –able ไปที่ข้างหลังกลายเป็น
thinkable หน้าที่ของคำก็จะเปลี่ยนไปเป็นคำคุณศัพท์ทันที
ศัพท์ตัวนี้มีความหมายว่า ที่สามารถจะนึกได้ หรือมีความเป็นไปได้
ตัวอย่างคำต่อมาคือ reason มีความหมายว่า เหตุผล
เมื่อเพิ่มบั้นท้าย –able เข้าไปจะได้ reasonable
ก็จะถูกปรับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่เป็นคำคุณศัพท์
ซึ่งความหมายของศัพท์ตัวนี้คือ ที่สามารถอธิบายให้เหตุผลได้
หรืออะไรก็ได้ที่สมเหตุสมผล
ตัวอย่างคำต่อมาคือ eatable
กับ drinkable คำแรกแปลว่า ที่สามารถกินได้
ส่วนคำที่สองแปลว่า ที่สามารถดื่มได้ คำต่อมาคือ
คำว่า accept แปลว่า ยอมรับ เมื่อใส่ able ไปข้างท้ายจะเกิดคำใหม่ขึ้นคือ acceptable ที่แปลว่า ที่สามารถยอมรับได้ ตัวอย่างประโยคเช่น
อะไรซึ่งเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ สามารถพูดเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า It is acceptable.
ตัวอย่างคำต่อมาคือ สิ่งของที่เปราะบางแตกหักได้
ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า breakable คำนี้เป็นส่วนผสมของคำว่า
break ที่แปลว่า แตก หัก และบั้นท้าย –able ที่มีความหมายว่า สามารถ ตัวอย่างต่อมาคือ enjoyable
มีความหมายว่า บรรยากาศรื่นเริงสนุกสนาน
ซึ่งคำนี้เป็นส่วนผสมของคำว่า enjoy และบั้นท้าย –able
เมื่อรู้ –able มีความหมายว่า
สามารถ หากเอาคำว่า un ซึ่งมีความหมายว่า “ไม่” มาเติมเข้าไปข้างหน้าก็จะเกิดคำใหม่ขึ้นมาคือ
คำว่า unable มีความหมายตรงตัวว่า ไม่สามารถ
คำศัพท์ที่มี –able เป็นบั้นท้ายนั้นมีมากมาย
แค่รู้ความหมายของ –able เท่านั้น
ความหมายของคำศัพท์คำนั้นก็เผยออกมาให้ทราบ เมื่อทราบความหมายของ –able ไปแล้วจะยกตัวอย่างบั้นท้ายอีกตัวหนึ่งคือ –ible ถึงแม้ว่ารูปลักษณ์ของ
–able กับ –ible จะไม่เหมือนกันแต่ทั้งสองบั้นท้ายมีความหมายเหมือนกัน
เช่น คำว่า credible มีความหมายว่า
ที่น่าเชื่อถือ หรือที่เราสามารถยอมรับได้ เมื่อใส่ใบหน้า –in เข้าไปจะกลายเป็น incredible ก็จะมีความหมายว่า
ที่ไม่สามารถเชื่อถือได้ หรือไม่น่าเชื่อจริง ๆ
ตัวอย่างต่อมาคือ visible แปลว่า ที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตา
ศัพท์ตัวนี้มีหัวใจคือ vis ซึ่งแปลว่า มองเห็น เมื่อรวมกับ -ible
ที่แปลว่า สามารถ จึงได้ความหมายที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
และเมื่อใส่ใบหน้าศัพท์ –in เข้าไปจะกลายเป็น invisible
ก็จะมีความหมายว่า ที่ไม่สามารถมองเห็นได้ หรือล่องหน คำต่อไปคือ
คำว่า possible มีความหมายว่า เป็นไปได้
จากคำศัพท์ดังกล่าว คำว่า posso มาจากภาษาอิตาเลี่ยนแปลว่า
ฉันทำได้ ซึ่งภาษาอังกฤษนั้นไปยืมมาใช้เพื่อสร้างคำ และมีคำตรงกันข้ามคำว่า possible คือคำว่า impossible มีความหมายว่า
ที่เป็นไปไม่ได้
บั้นท้าย –able กับ –ible
นี้หากปรับเปลี่ยนสามารถทำได้คือ จาก –able เปลี่ยนไปเป็น
–ability และ –ble เปลี่ยนไปเป็น –ibility
ซึ่งหน้าที่ของคำศัพท์ก็จะเปลี่ยนจากคำคุณศัพท์ (adjective) มาเป็นคำนาม (noun) ทันที
โดยความหมายที่มีอยู่เดิมนั้นก็จะไม่เปลี่ยนแปลง (แต่จะมีผลกับการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งนั้น
ๆ ในประโยค) ตัวอย่างเช่น credible = credibility, incredible = incredibility,
visible = visibility, invisible = invisibility, possible = possibility, impossible
= impossibility, acceptable = acceptability, unacceptable = unacceptability เป็นต้น
บั้นท้ายตัวต่อมาคือ –ful
กับ –less ศัพท์สองตัวนี้เป็นบั้นท้ายที่อยู่ตรงข้ามกัน
ซึ่ง –ful หดสั้นมาจากคำว่า full ที่แปลว่า
เต็มไปด้วย ส่วน –less เป็นคำคู่ตรงข้ามของคำดังกล่าวมีความหมายว่า
ที่ปราศจาก หรือไม่มี คำศัพท์ที่มีบั้นท้ายสองตัวนี้มักจะมีเป็นคู่ เช่น คำแรก คือ
hopeful แปลว่า เต็มไปด้วยความหวัง
หรือมีความหวังมาก มีคำคู่ตรงข้ามกันคือ hopeless แปลว่า ปราศจากความหวังหรือสิ้นหวัง คำที่สอง คือ useful แปลว่า ที่ใช้ได้ ที่มีประโยชน์ คำคู่ตรงข้ามกับคำนี้คือ useless
แปลว่า ที่ไม่มีประโยชน์ ที่ไร้ความหมาย
คำที่สามคือ careful
แปลว่า ที่มีความระมัดระวัง ที่ใส่ใจในรายละเอียด
มีคำคู่ตรงข้ามกันคือ careless แปลว่า
ที่ขาดความระมัดระวังหรือสะเพร่า คำที่สี่คือ fearful แปลว่า มีความหวาดกลัวหรือน่ากลัว โดยมีคำตรงข้ามคือคำว่า fearless
แปลว่า ไม่มีความกลัว ที่อาจหาญ คำที่ห้าคือ pitiful
แปลว่า น่าเวทนา น่าสงสาร คำตรงข้ามของคำนี้คือ pitiless
มีความหมายว่า ที่ปราศจากความสงสาร ที่ใจร้าย คำที่หกคือ painful
แปลว่า
เต็มไปด้วยความเจ็บปวด ซึ่งมีคำตรงข้ามคือ painless แปลว่า ที่ไม่เจ็บไม่ปวดแม้สักนิด และคำที่เจ็ดคือ mindful
แปลว่า ตั้งใจ เอาใจใส่ โดยมีคำตรงข้ามคือ mindless
มีความหมายว่า ไร้ความคิด ไร้เหตุผล เป็นต้น
คำศัพท์ที่มีบั้นท้าย –ful
กับ –less บางตัวมักจะนิยมใช้ –ful ไม่ค่อยนิยมใช้ –less แต่มีบางตัวที่นิยมใช้ –less
ไม่นิยมใช้ –ful ดังตัวอย่าง คำแรก คือ peaceful
มีความหมายว่า สงบเงียบ สันติไม่มีสงคราม, คำที่สองคือ beautiful แปลว่า สวยงาม ซึ่งคำศัพท์นี้มักจะไม่ค่อยได้ยินว่า beautiless (ปราศจากความสวย), คำที่สามคือ sorrowful
แปลว่า เศร้าโศก เสียใจ ถ้าจะอธิบายก็สามารถใช้คำว่า full of
sorrow ที่แปลว่า เต็มไปด้วยความโศกเศร้าได้,
คำที่สี่คือ visionless แปลว่า
ไร้วิสัยทัศน์ ไม่มีความสามารถในการวางแผนอนาคต, และคำที่ห้า
คือ heartless แปลว่า โหดร้าย ไร้ความปรารถนา คล้ายไม่มีหัวใจ
เป็นต้น
จากคำศัพท์ที่ยกตัวอย่างดังกล่าวนั้นคำศัพท์ที่มีบั้นท้าย
–less
บางตัวอาจจะมีความหมายที่ตรงข้ามกันกับความคิดของเราได้ เช่น
คำแรกคือ priceless ไม่ได้แปลว่า
ไม่มีราคาค่างวด แต่หมายถึง ราคาสูงมาก จนไม่สามารถกำหนดราคาได้, คำที่สองคือ timeless ไม่ได้แปลว่า
ไม่มีเวลา แต่หมายถึง ตลอดกาลยาวนานไม่ถูกจำกัดด้วยเวลา
เพราะไม่สามารถกำหนดเวลาได้แน่ชัด, คำที่สามคือ numberless
แปลว่า จำนวนมากมายก่ายกอง จนไม่สามารถระบุเป็นตัวเลขได้
และคำที่สี่คือ countless ก็แปลว่า
จำนวนมากมายมหาศาล ที่ไม่สามารถนับได้
เมื่อได้ศึกษาคำศัพท์จากส่วนบั้นท้ายหรือส่วนหลังแล้ว
สิ่งที่ดิฉันจะศึกษาอีกเรื่องหนึ่งคือ “การพูดภาษาอังกฤษตามหลักภาษาศาสตร์”
ซึ่งการสื่อความด้วยภาษาอังกฤษสามารถกระทำได้ 2 แบบคือ การสื่อความด้วยการพูดและการสื่อความด้วยการเขียน
การสื่อความทั้งสองแบบนี้มีความสำคัญเท่ากัน
แต่การสื่อความด้วยการพูดนั้นจะเป็นการสื่อความที่สะดวกและใช้กันมากที่สุด
นั่นคือการเปล่งเสียงออกมาได้อย่างรวดเร็วและสามารถแสดงสีหน้าหรือใช้ท่าทางประกอบเพื่อแสดงอารมณ์และความรู้สึกได้ง่ายกว่าการเขียน
โดยเฉพาะเมื่อผู้พูดอยู่ต่อหน้าผู้ฟัง
มนุษย์สามารถเปล่งเสียงได้พิเศษกว่าสัตว์อื่น
ๆ เพราะมนุษย์สามารถพูดได้
สิ่งที่กำหนดให้มนุษย์มีความสามารถในการพูดสื่อความได้นั้นจะอยู่ในสมอง ซึ่งมนุษย์มีบริเวณภาษา
โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
บริเวณที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของอวัยวะที่ใช้ออกเสียง นั่นคือ ปาก ลิ้น เป็นต้น
ส่วนอีกบริเวณหนึ่งจะอยู่ส่วนแรก ทำหน้าที่ในการรับรู้ตีความเมื่อได้ยิน
ซึ่งในการสื่อความครั้งหนึ่ง ๆ
จะเริ่มด้วยบริเวณภาษาในสมองที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของอวัยวะในการพูด
ธรรมชาติของการพูดภาษาอังกฤษก็มีวงจรในลักษณะเดียวกัน
ที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า ในการสื่อความแต่ละครั้งมนุษย์สามารถใช้สื่อที่เป็นภาษาพูดหรือภาษาเขียนได้
การสื่อความด้วยการเขียนนั้นผู้เขียนจะใช้ระบบการเขียนที่มีมาตรฐานเดียวกัน
แต่ในการสื่อความด้วยภาษาพูด
ผู้พูดอาจพูดด้วยระบบเสียงตามลักษณะประจำของภาษาพูดที่ใช้ในท้องถิ่นของตนหรือพูดแบบภาษาถิ่นตามลักษณะภูมิภาค
เช่น ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ หรือตามกลุ่มทางเศรษฐกิจสังคม เช่น พ่อค้า อาจารย์
ผู้สอนศาสนา
ซึ่งการออกเสียงของบุคคลในแต่ละกลุ่มหรือแต่ละท้องถิ่นอาจมีลักษณะแตกต่างกันไปและการพูดแบบท้องถิ่นต่าง
ๆ ก็จะแสดงสำเนียงที่แตกต่างกัน
สำหรับภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย
เมื่อพิจารณาภาษาพูดแล้วจะพบว่ามีความแตกต่างกันไปหลายสำเนียง
ที่สำคัญได้แก่สำเนียงที่ใช้ในภาษาอังกฤษ อเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ นอกจากนี้ยังมีสำเนียงที่พบในกลุ่มประเทศต่าง
ๆ ที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางในการสื่อสารทั่วไป เช่น อินเดีย ศรีลังกา
เอเชียบางกลุ่ม แอฟริกาบางกลุ่ม และอเมริกาใต้บางกลุ่ม
สำเนียงในการพูดภาษาอังกฤษของกลุ่มชนในประเทศทั้งหลายข้างต้นนี้ไม่ได้แตกต่างกันมากจนเป็นอุปสรรคในการทำความเข้าใจ
แต่ละกลุ่มยังคงพูดคุยกันอย่างเข้าใจได้
สำเนียงที่รู้จักกันทั่วไปคือ
สำเนียงภาษาอังกฤษ (British accent) และสำเนียงอเมริกัน
(American accent) จะพบว่า
คนที่พูดภาษาอังกฤษสำเนียงอังกฤษกับคนที่พูดภาษาอังกฤษสำเนียงอเมริกันสามารถโต้ตอบกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม ในทางด้านภาษาศาสตร์สามารถอธิบายได้ว่า
สำเนียงภาษาอังกฤษและสำเนียงอเมริกันจะแตกต่างกันบ้างนั้นเกิดจากการออกเสียงพยัญชนะและสระบางเสียง
และอยู่ในท่วงทำนองการพูดที่สามารถวิเคราะห์ให้เห็นได้
สำเนียงในภาษาอังกฤษที่ใช้ในสหราชอาณาจักรยังแบ่งออกเป็นหลายรูปแบบ
หลายสำเนียง เช่น สำเนียงสก๊อตในสก๊อตแลนด์ สำเนียงไอริชของคนจากเกาะไอร์แลนด์ และสำเนียงทางใต้
ในกลุ่มสำเนียงเหล่านี้ยังแบ่งแยกย่อยออกไปอีก เช่น
สำเนียงสก๊อตยังแบ่งได้อีกเป็นสำเนียงกลาสโกว หรือสำเนียงเอดินเบอเรอ ฯลฯ
สำเนียงทางใต้ยังแบ่งเฉพาะออกไปอีก 2 สำเนียง คือ
สำเนียงค็อกนีซึ่งเป็นสำเนียงเฉพาะกลุ่มชนทางตะวันออกของลอนดอน
และอีกสำเนียงหนึ่งคือสำเนียงแบบ “ยอมรับ” หรืออาร์พี (R.P. = received pronunciation) ดังนั้น
เมื่อพูดถึงคนในสหราชอาณาจักรแล้วไม่ใช่ว่าทุกคนจะพูดภาษาอังกฤษด้วยสำเนียงเดียวกัน
ในการเรียนการสอนภาษาอังกฤษนั้นสำเนียงที่ใช้กันอย่างแพร่หลายได้แก่สำเนียงแบบ
“ยอมรับ” (อาร์พี) โดยชื่อนี้ได้ใช้บรรยายภาษาอังกฤษที่ยอมรับว่าเป็นสำเนียงมาตรฐานของอังกฤษมาตั้งแต่
ค.ศ. 1869 โดย เอ.เจ. เอ็ลลิส
ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงชื่อไปตามเหมาะสมกับบรรยากาศทางการเมืองและสังคม
บุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการขนานนามสำเนียงมาตรฐานที่กล่าวถึงนี้คือศาสตราจารย์แดเนียล
โจนส์ (Daniel Jones) แห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน
ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสัทศาสตร์และภาษาศาสตร์ โดยแดเนียล โจนส์
ได้ใช้ศัพท์ขนานนามสำเนียงลักษณะนี้ในเชิงวิชาการ
ต่อมาเมื่อแดเนียล โจนส์ จัดพิมพ์ English
Pronouncing Dictionary (พจนานุกรมการออกเสียงภาษาอังกฤษ)
ขึ้นเป็นครั้งแรก แดเนียล โจนส์ เรียกสำเนียงดังกล่าวว่า “สำเนียงของผู้มีการศึกษาในโรงเรียนประจำ” แต่ในปีค.ศ.
1926 เมื่อปรับปรุง English Pronouncing
Dictionary เป็นครั้งที่ 3 แดเนียล โจนส์ ได้กลับไปใช้ชื่อเดิมคือ
สำเนียงแบบ “ยอมรับ” (อาร์พี) หลังจากนั้นบุคคลในวงการศึกษาและวงการภาษาศาสตร์ในภาษาอังกฤษจึงใช้ชื่อนี้สำหรับสำเนียงอังกฤษที่ยึดถือเป็นรูปแบบของการเรียนการสอนภาษาอังกฤษตลอดมา
ลักษณะการพูดภาษาอังกฤษในแต่ละครั้งจะประกอบด้วยลักษณะสำคัญ
2
ส่วน ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกันเสมอ ได้แก่
ส่วนของการออกเสียงพยัญชนะและสระ กับส่วนของการใช้ทำนองเสียง (intonation) การเน้นหนักบนพยางค์และการลงน้ำหนัก (stress and accentuation) ตลอดจนการให้จังหวะ (rhythm) ซึ่งผลของการพูดด้วยลักษณะสำคัญ
2 ส่วนที่กล่าวมานี้ทำให้เกิดพยางค์หนัก (strong
syllable) และพยางค์เบา (weak syllable) รวมทั้งมีการออกเสียงคำบางประเภทในลักษณะรูปแบบเข้ม
(strong form) และรูปแบบอ่อน (weak form) และผลสุดท้ายที่เกิดขึ้นคือ การสื่อความได้อย่างเหมาะสม
ลักษณะดังกล่าวข้างต้นผู้พูดที่เป็นเจ้าของภาษาอาจกระทำได้โดยอัตโนมัติ
เพราะได้สร้างนิสัยเช่นนี้มาตั้งแต่อยู่ในวัยเด็ก
และหากเจ้าของภาษาผู้นั้นไม่ได้เป็นนักภาษาศาสตร์หรือไม่มีความรู้ทางภาษาศาสตร์จะไม่สามารถอธิบายให้บุคคลที่ไม่ใช่เจ้าของภาษาเกิดความเข้าใจอย่างมีหลักเกณฑ์ได้
สำหรับบุคคลที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศเช่นคนไทยนั้น
ถึงแม้บรรยากาศการเรียนการสอนภาษาอังกฤษจะไม่เอื้อให้การพูดภาษาอังกฤษเป็นไปอย่างอัตโนมัติหรือคล้ายเจ้าของภาษามากนัก
แต่ยังพอมีหนทางที่จะปรับปรุงการพูดของตนได้ หากได้มีการฝึกฝนอย่างถูกหลักการด้วยวิธีการที่เหมาะสม
ในการพูดภาษาอังกฤษให้มีสำเนียงคล้ายเจ้าของภาษานั้น
ผู้ฝึกจำเป็นต้องฝึกหัดออกเสียงพยัญชนะและสระให้ชัดเจนใกล้เคียงกับเจ้าของภาษาเป็นลำดับแรก
ต่อไปจึงฝึกเสียงพยัญชนะที่เกิดขึ้นในคำในตำแหน่งต้นพยางค์และตำแหน่งท้ายพยางค์ ในช่วงแรกจะเป็นการฝึกออกเสียงคำพยางค์เดียวก่อนและได้มีการฝึกร่วมกับสระต่าง
ๆ ที่เกิดขึ้นในคำ
ในขณะที่ฝึกออกเสียงคำพยางค์เดียวนั้นจำเป็นต้องออกเสียงด้วยทำนองเสียงที่มีรูปแบบเฉพาะของภาษาอังกฤษ
ซึ่งควรเริ่มจากรูปแบบที่ง่ายที่สุดและทำให้เกิดการสื่อความที่เป็นกลางมากที่สุด นั่นคือจะไม่เกิดความหมายเป็นนัยอย่างอื่น
ต่อมาจึงฝึกพยัญชนะควบกล้ำ
ซึ่งเกิดขึ้นทั้งในตำแหน่งต้นพยางค์และท้ายพยางค์
การออกเสียงควบกล้ำนี้ผู้ฝึกคนไทยจะให้ความสนใจเป็นพิเศษ
เนื่องจากมีมากกว่าในภาษาไทย และออกเสียงยากกว่า หลังจากนั้นจึงฝึกออกเสียงพยัญชนะและสระในคำที่ประกอบด้วยหลายพยางค์
เมื่อถึงจุดนี้ต้องให้ความสำคัญแก่การเน้นหนักบนพยางค์
ทั้งนี้เพราะคำที่ประกอบด้วยคำหลายพยางค์นั้นจะมีการเน้นหนักบนพยางค์ไม่เท่ากัน
การเน้นหนักบนพยางค์เป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งในภาษาอังกฤษ เนื่องจากคำที่ประกอบด้วย
2
พยางค์ขึ้นไปนั้นจะมีการเน้นหนักบนพยางค์ที่คงที่เฉพาะคำ
ซึ่งถ้าเน้นหนักบนพยางค์ผิดตำแหน่งไป ผู้ฟังอาจจะไม่เข้าใจว่าผู้พูดหมายถึงคำใด
จากคำกล่าวข้างต้นสามารถยกตัวอย่างได้ เช่น
คำว่า “extravagant”
ซึ่งมีการเน้นหนักบนพยางค์ “tra” และอ่านออกเสียงว่า
\ik-ˈstra-vi-gənt\
หากผู้พูดเน้นหนักบนพยางค์ “ex” หรือ “va” หรือ “gant” แทน
ความลำบากในการตีความของผู้ฟังที่เป็นเจ้าของภาษาก็จะเกิดขึ้น
นอกจากนี้ระดับเสียงหรือเสียงสูงต่ำของพยางค์ที่มีการเน้นหนักจะแตกต่างไปจากพยางค์ที่ไม่มีการเน้นหนัก
ในขณะเดียวกันผู้ฝึกพูดภาษาอังกฤษยังต้องให้ความสนใจแก่พยางค์หนักและพยางค์เบา
ซึ่งเกิดขึ้นสัมพันธ์กับการเน้นหนักบนพยางค์นั่นเอง เช่นจากตัวอย่างข้างต้น
พยางค์ที่สองเป็นพยางค์หนักออกเสียงสระเต็มเสียง ส่วนอีก 3 พยางค์ที่เหลือเป็นพยางค์เบาซึ่งมีการออกเสียงสระต่างกัน
เมื่อฝึกออกเสียงคำหลายพยางค์แล้วจำเป็นต้องฝึกออกเสียงในถ้อยความที่ยาวขึ้น
เช่น วลี คำประสม ประโยค และถ้อยความต่อเนื่อง เช่น การสนทนาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
หรือการอ่านออกเสียงข้อความ
ในการออกเสียงถ้อยความที่ยาวขึ้นดังที่กล่าวแล้วจำเป็นต้องให้ความสำคัญต่ออิทธิพลของเสียงข้างเคียง
ซึ่งทำให้พยัญชนะแตกต่างไปจากเดิมเล็กน้อย นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงองค์ประกอบอื่น
ๆ ที่เกิดขึ้นร่วมกัน ได้แก่ จังหวะของภาษาอังกฤษ และทำนองเสียงที่เหมาะสม
องค์ประกอบเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้การพูดภาษาอังกฤษมีลักษณะเป็นธรรมชาติ
การพูดภาษาอังกฤษมีลักษณะเป็นธรรมชาติกล่าวคือ
ในการที่จะพูดถ้อยความต่าง ๆ ในภาษาอังกฤษให้มีจังหวะเหมือนเจ้าของภาษานั้น
ผู้ฝึกจำเป็นต้องเรียนรู้การใช้รูปแบบเข้ม (strong form) และรูปแบบอ่อน (weak form) ที่เกิดขึ้นกับคำที่ให้ความหมายทางไวยากรณ์
(function words) เช่น คำนำหน้านาม ได้แก่ a an the หรือสรรพนามรูปต่าง ๆ เช่น he she they their you her him เป็นต้น ถ้าใช้รูปแบบเข้มหรือรูปแบบอ่อนได้อย่างเหมาะสม
จังหวะที่เกิดขึ้นในถ้อยความนั้น ๆ
จะเป็นจังหวะตามลักษณะของเจ้าของภาษาและนำไปสู่การใช้ทำนองเสียงที่เหมาะสม
การใช้ทำนองเสียงให้เหมาะสมในครั้งหนึ่ง ๆ
นั้นขึ้นอยู่กับเจตนาและอารมณ์ที่ผู้พูดประสงค์จะแสดงออก โดยทำนองเสียงรูปแบบต่าง
ๆ กันจะสื่อความรู้สึกหรือแสดงทัศนคติได้ต่างกัน เช่น รูปแบบลง (falling)
เป็นการทอดเสียงลงในตอนท้ายของถ้อยความ
อาจแสดงลักษณะทางไวยากรณ์คือเป็นประโยคบอกเล่า
ใช้ในการให้ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงอย่างจริงใจโดยไม่มีทัศนคติใด ๆ
แต่ถ้าใช้รูปแบบลงดังกล่าวกับประโยคคำถาม เช่น
Will John be here? จะแสดงความหมายในเชิงปรึกษาหารือ
ทำนองเสียงในภาษาอังกฤษมีหลายรูปแบบ และใช้สื่อความหมายทางทัศนคติได้ต่างกัน
ผู้ฝึกจึงจำเป็นต้องเรียนรู้และใช้ให้ถูกต้องกับเจตนาของตนตลอดจนใช้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ด้วย
องค์ประกอบในการออกเสียงพูดที่กล่าวถึงข้างต้นมีความสัมพันธ์กันเป็นลูกโซ่
จะละทิ้งความสำคัญของเรื่องใดเรื่องหนึ่งไปมิได้
และเมื่อพูดประโยคหรือถ้อยความในภาษาอังกฤษได้ดีพอสมควรแล้วผู้ฝึกจำเป็นต้องฝึกหัดใช้ประโยคหรือถ้อยความต่าง
ๆ ในสถานการณ์จริง
เพื่อจะได้ทราบว่าในสถานการณ์จริงนั้นไม่ได้พูดประโยคครบถ้วนถูกต้องตามหลักไวยากรณ์เสมอไป
สามารถ “ละ” บางส่วนไว้ในฐานที่เข้าใจได้
อีกทั้งเป็นการหัดใช้ทำนองเสียงให้เหมาะสมตามสถานการณ์นั้น ๆ เมื่อฝึกมากจะมีความคล่องตัวในการใช้ภาษาอังกฤษมากขึ้น
และเมื่อพูดได้คล่องในสถานการณ์ต่าง ๆ แล้วก็หัดอ่านข้อความจากข้อเขียนต่าง ๆ
โดยวิธีการอ่านออกเสียง
เนื่องจากคนไทยเรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศ
ความคล่องในการพูดภาษาอังกฤษจึงมีน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในสถานศึกษาส่วนใหญ่ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาถึงระดับอุดมศึกษายังคงใช้ภาษาไทยเป็นสื่อในการเรียนการสอน
การพูดภาษาอังกฤษจะเป็นไปอย่างอัตโนมัติหรือไม่ขึ้นอยู่กับความรู้ การฝึกฝน
และการมีโอกาสได้ใช้ภาษาอังกฤษโดยตรงกับเจ้าของภาษาหรืออาจจะไม่ใช่เจ้าของภาษาก็ได้แต่สถานการณ์บังคับให้บุคคลนั้นจำเป็นต้องใช้ภาษาอังกฤษตลอดเวลา
“ความรู้” ที่กล่าวถึงข้างต้นมิได้หมายถึงการรู้กฎเกณฑ์ต่าง
ๆ ทางไวยากรณ์แต่เพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงความสามารถในการเข้าใจและวิเคราะห์รูปแบบในภาษาอังกฤษตลอดจนนำไปใช้ได้อย่างเหมาะสมในสถานการณ์ต่าง
ๆ
การนำไปใช้ด้วยการพูดนั้นจะเกิดประสิทธิภาพเพียงใดขึ้นอยู่กับการฝึกฝนทางการออกเสียงซึ่งมีองค์ประกอบต่าง
ๆ ดังที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น
มีบุคคลเป็นจำนวนมากที่พบว่าตนมีความรู้ด้านกฎเกณฑ์ทางไวยากรณ์และรู้ศัพท์ในภาษาอังกฤษมากพอสมควร
แต่เมื่อพูดกับชาวต่างประเทศหรือสื่อความด้วยการพูดภาษาอังกฤษแล้วเกิดความคับข้องใจและเกิดปัญหาขึ้นเนื่องจากผู้ฟังไม่เข้าใจเรื่องราวทีตนพูดหรือฟังแล้วเกิดมีอคติขึ้น
ตัวอย่างต่อไปนี้เป็นตัวอย่างจริงที่แสดงให้เห็นว่าเรื่องที่ได้กล่าวข้างต้นเกิดขึ้นแล้วและผู้ฟังได้แสดงอคติออกมาให้สาธารณชนเห็นผ่านหนังสือพิมพ์
Bangkok
Post
ในปี พ.ศ. 2535 ดังนี้ ชื่อเรื่องคือ Tall
story? มีใจความดังนี้ SIR: I thoroughly enjoyed a unique
story heard over Radio Thailand news programme recently. The story, told by a
lady with a grandma like voice, had it that Thailand had witches to
export to Spain. Among other goods to be chipped were canned fitch.
Watch out, Spain!... Or was Radio Thailand kidding their listeners: K.S.Sathish
ข้อความข้างต้นเป็นจดหมายของผู้อ่านเขียนไปถึงบรรณาธิการในคอลัมน์
“Postbag”
เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2535 (คำที่ขีดเส้นใต้คือคำที่เป็นปัญหา) อคติที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากการออกเสียงคำผิดพลาดไปเพียง
3 คำเท่านั้น
แต่ผู้เขียนได้แสดงอารมณ์ในทางลบด้วยลักษณะถากถางและเย้ยหยัน
ทั้งนี้เนื่องจากคำที่ออกเสียงผิดพลาดไปนั้นเมื่อเกิดขึ้นในประโยคทำให้เกิดความหมายใหม่ที่ดูเป็นเรื่องตลกและยอมรับไม่ได้ในภาษาอังกฤษกล่าวคือ
คำแรก witches ที่ถูกควรจะเป็น wishes,
คำที่สอง chipped ที่ถูกควรจะเป็น
shipped, และคำที่สาม fitch
ซึ่งที่ถูกควรจะเป็น fish
ตัวอย่างข้างต้นแสดงให้เห็นว่าผู้อ่านข่าวภาษาอังกฤษของวิทยุแห่งประเทศไทยผู้นี้มีปัญหาในการออกเสียง
/ʃ/
ซึ่งเป็นเสียงพยัญชนะของคำที่สะกดด้วย “sh” ส่วนใหญ่ และอาจจะออกเสียงนี้เป็นเสียงที่เขียนด้วย “ช” ในภาษไทย ซึ่งคล้ายกับการออกเสียง /tʃ/ ซึ่งส่วนใหญ่สะกดด้วย
“ch”
ในภาษาอังกฤษเสียงนี้ไม่เหมือนกับ “ช” เพราะจะต่างกันที่การยกปลายลิ้นขึ้นหรือลดปลายลิ้นลง
แต่เป็นพยัญชนะประเภทเดียวกันคือ พยัญชนะกักเสียดแทรก
นอกจากนี้การออกเสียงภาษาอังกฤษผิดพลาดยังก่อให้เกิดปัญหาอื่น ๆ
ได้แก่ปัญหาในด้านความหมาย เช่น จะพูดคำว่า “mile” แต่ไม่ออกเสียง
/l/ ในตำแหน่งท้ายพยางค์ทำให้ฟังเป็น “my” ได้ หรือทำให้เกิดปัญหาทางไวยากรณ์ เช่น จะพูดว่า “I walked
home yesterday.” แต่ไม่ออกเสียง “ed” หลัง
“walk” ซึ่งแสดงกาลในอดีต ทำให้ประโยคผิดไวยากรณ์ไป เป็นต้น
ในปัจจุบันคนไทยมักนิยมใช้ภาษาอังกฤษในการพูดภาษาไทยของตนมาก
ซึ่งถ้าไม่ระวังหรือฝึกฝนให้ถูกต้อง ปัญหาที่กล่าวไปแล้วเกิดขึ้นได้
ที่สำคัญและควรระวังมากที่สุดคือการออกเสียงสระผิดไป ผลก็คือผู้ฟังไม่สามารถเข้าใจได้ว่าผู้พูดหมายถึงอะไร
ดังตัวอย่างต่อไปนี้ ตัวอย่างที่หนึ่งผู้อ่านข่าวหุ้นประจำวันทางโทรทัศน์
อ่านคำว่า “designated” ซึ่งออกเสียงว่า /ˈdeziɡneitid/
เป็น “ดีไซเหน่ด” โดยออกเสียงสระที่ขีดเส้นใต้ผิด ออกเสียง
/z/ ผิด และไม่ออกเสียงแสดงไวยากรณ์ในตอนท้ายคือ “ed”
(ในที่นี้เสียง /e/ ออกเสียงคล้ายสระในคำว่า “set”
และ /i/ ออกเสียงคล้ายสระในคำว่า “sit”)
ตัวอย่างที่สอง จากโฆษณาในโทรทัศน์ คำว่า “Dove”
ซึ่งออกเสียงว่า /dʌv/ บุคคลในโฆษณาออกเสียงเป็น “โด๊ฟ” สระ /ʌ/ ในที่นี้ออกเสียงคล้ายสระในคำว่า “but” แต่ผู้โฆษณาออกเสียงเป็นสระ “โ-” และเสียงท้ายคือ /v/ ซึ่งเป็นเสียงก้อง
ผู้โฆษณาออกเสียงคล้ายกับเสียง /f/ ซึ่งไม่ก้อง
แทนที่จะเป็นเสียงก้อง /v/ (จากพจนานุกรมออกเสียงอเมริกันพบว่า
“dove” ที่เป็นคำนามออกเสียงว่า /dʌv/ เช่นกัน
แต่ถ้าเป็นรูปกริยาอดีตกาลของ “dive” อ่านว่า /douv/ ในขณะที่สำเนียงอังกฤษคือ “dived” /daivd/) และอีกคำหนึ่งคือ
“Body Glove” บุคคลในโฆษณาออกเสียงคำว่า “Glove” เป็น “โกล๊ฟ” ซึ่งที่ถูกคือเสียงสระและเสียงพยัญชนะท้ายออกเสียงเหมือนคำ
“Dove” คือ /glʌv/
ปัญหาดังกล่าวผู้พูดเทียบโยงการออกเสียงสระมาจากตัวสะกด
กล่าวคือ บุคคลในตัวอย่างที่หนึ่งเทียบโยงคำที่อ่านมาจากคำว่า “design”
และผู้พูดในตัวอย่างที่สองเทียบโยงตัวสะกด “o” ว่าต้องอ่านเป็น “โ-” ซึ่งไม่จริงเสมอไป
และจากตัวอย่างข้างต้นแสดงให้เห็นว่า
ผู้ฝึกออกเสียงภาษาอังกฤษควรคำนึงถึงหลักสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การสะกด (spelling)
กับการออกเสียง (pronunciation) นั้นไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกันจะยึดหลักการออกเสียงโดยเทียบโยงจากตัวสะกดของคำที่คุ้นเคยอยู่นั้นไม่ได้
การฝึกออกเสียงต่าง ๆ ในภาษาอังกฤษซึ่งแตกต่างไปจากภาษาไทยจำเป็นต้องมีผู้ช่วยชี้แนะ
การจะหวังพึ่ง “ครู” ตลอดเวลาย่อมเป็นไปไม่ได้
ปัญหาต่าง ๆ
ที่ได้กล่าวมาแล้วจำเป็นต้องมีการแก้ไข และวิธีการแก้ไขที่ได้ผลคือ การนำวิชา “สัทศาสตร์” และ “ภาษาศาสตร์”
มาใช้ วิชาสัทศาสตร์ (Phonetics) เป็นการศึกษาธรรมชาติของเสียงพูด
กระบวนการเปล่งเสียง ตลอดจนการออกเสียงต่าง ๆ
ที่เกิดขึ้นในภาษาทั่วโลกรวมทั้งศึกษาลักษณะอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในการพูดครั้งหนึ่ง
ๆ
และเมื่อทราบถึงองค์ประกอบของการพูดโดยทั่วไปแล้วสามารถนำมาพิเคราะห์ในภาษาใดภาษาหนึ่งได้
การพิจารณาเรื่องการออกเสียงที่เกิดขึ้นในภาษาใดภาษาหนึ่งโดยเฉพาะเป็นการศึกษาด้านภาษาศาสตร์
(Linguistics) ดังนั้นเมื่อกล่าวถึงการฝึกออกเสียงเพื่อใช้พูดในภาษาใดภาษาหนึ่งจำเป็นต้องใช้ความรู้ทางภาษาศาสตร์และสัทศาสตร์
วิธีที่สองคือ
การใช้พจนานุกรมเพื่อการออกเสียง ซึ่งพจนานุกรมที่จะใช้เป็นแบบในการออกเสียงตามสำเนียงอังกฤษแบบ
“ยอมรับ” (อาร์พี) คือพจนานุกรมการออกเสียงของแดเนียล
โจนส์ ในการใช้พจนานุกรมควรเปิดดูหน้า Key to Pronunciation ซึ่งส่วนใหญ่อยู่หลังคำนำของพจนานุกรม
และศึกษาสัญลักษณ์ที่ใช้ว่าเป็นสัญลักษณ์ลักษณะใด โดยจะมีคำง่าย ๆ
เป็นตัวอย่างประกอบการออกเสียงตามสัญลักษณ์นั้นด้วย
และเมื่อเข้าใจระบบสัญลักษณ์ที่ใช้ออกเสียงของพจนานุกรมเล่มนั้น ๆ แล้ว
จึงจะพิจารณาคำที่ผู้ฝึกต้องการจะออกเสียงต่อไป
การฝึกพูดภาษาอังกฤษให้มีประสิทธิภาพได้ด้วยตนเองนั้นควรเริ่มจากง่ายไปหายาก
ในตอนแรกเริ่มด้วยการฝึกออกเสียงพยัญชนะ สระ และพยัญชนะควบกล้ำในตำแหน่งต่าง ๆ
โดยใช้คำพยางค์เดียวเป็นหลัก ต่อมาในตอนที่สองจึงฝึกคำที่ประกอบด้วยหลายพยางค์
คำประสม วลี ประโยค การสนทนาในสถานการณ์ต่าง ๆ
ตลอดจนการอ่านออกเสียงข้อความในภาษาอังกฤษ เมื่ออธิบายถึงลักษณะการพูดที่ยาวขึ้นในตอนที่สองนี้ดิฉันได้เรียนรู้หลักการเน้นพยางค์
การใช้ทำนองเสียงแบบต่าง ๆ และการพูดด้วยจังหวะ ตามลักษณะของภาษาอังกฤษสำเนียงอังกฤษมาตรฐานเพื่อให้การพูดคล้ายกับเจ้าของภาษาและมีประสิทธิภาพในการสื่อความมากขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น