สิ่งที่ได้เรียนรู้
หลักเกณฑ์การถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันแบบถ่ายเสียง
การเรียนวิชาภาษาอังกฤษตั้งแต่ระดับประถมศึกษา
ครูผู้สอนจะฝึกให้ผู้เรียนรู้จักการเทียบเสียงพยัญชนะในภาษาไทยมาเป็นภาษาอังกฤษซึ่งส่วนใหญ่จะให้ถ่ายทอดชื่อ
นามสกุล และชื่อเล่น ในทุก ๆ ปีชื่อ นามสกุล
และชื่อเล่นจะเปลี่ยนแปลงอักษรอยู่เสมอ
เพราะเมื่อได้เรียนรู้มากขึ้นพยัญชนะภาษาไทยสามารถถ่ายทอดมาเป็นภาษาอังกฤษได้หลายอักษร
หากไม่เข้าใจก็จะเกิดความสับสนได้ จนในระดับมหาวิทยาลัยได้เรียนรู้หลักการถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันแบบถ่ายเสียงโดยอ้างอิงจากราชบัณฑิตยสถาน
หลักเกณฑ์การถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันในที่นี้จะเป็นการถอดโดยวิธีการถ่ายเสียง
(Transcription)
เพื่อให้คำในภาษาไทยที่จะเขียนด้วยอักษรโรมันหรือภาษาอังกฤษให้ได้เสียงที่ใกล้เคียงกันมากที่สุด
โดยจะไม่คำนึงถึงการสะกดตัวการันต์และวรรณยุกต์ต่าง ๆ เช่น สงฆ์ = song, ฉิ่ง = ching, ญาติ = yat เป็นต้น
ซึ่งการถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันนี้สามารถถอดเสียงได้อย่างหลากหลาย
ไม่ว่าจะเป็นชื่อบุคคล ชื่อสถานที่ ชื่อองค์กรต่าง ๆ คำนำหน้านาม คำทับศัพท์
เป็นต้น
จะเห็นว่าการถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันส่วนใหญ่จะเป็นคำนาม
ไม่ว่าจะเป็นคำนามทั่วไป หรือคำสามานยนาม เช่น พระ คน เสื้อ สัตว์ แมว วัด วัง
มะม่วง จังหวัด แม่น้ำ เป็นต้น หรือคำนามทั่วไปที่บอกลักษณะภูมิประเทศตามธรรมชาติ
เช่น ภูเขา ดอย ลำคลอง หนอง ห้วย เกาะ ทะเล มหาสมุทร แหลม อ่าว
หรือจะเป็นคำนามทั่วไปทางภูมิศาสตร์ที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น ท่าเรือ สะพาน ซอย
และยังรวมไปถึงเขตการปกครองด้วย เช่น ประเทศ จังหวัด อำเภอ แขวง ตำบล หมู่บ้าน
นอกจากคำนามทั่วไปที่กล่าวมาข้างต้นแล้วยังมีคำนามที่เป็นชื่อเฉพาะหรือคำวิสามานยนาม
ไม่ว่าจะเป็นชื่อบุคคล เช่น พระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย พระนามราชทินนาม นาม
นามสกุล ซึ่งเป็นชื่อเฉพาะของบุคคลต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น พระนาม – สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ราชทินนาม – เจ้าพระยาจักรี หรือจะเป็นชื่อสถานที่และองค์กรต่าง ๆ เช่น
มูลนิธิคนพิการแห่งประเทศไทย กรมสรรพากร วัดชนาราม โรงเรียนเบญจมราชูทิศ วังสุโขทัย โรงเรียนสตรีวิทยา
ในที่นี้การถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันแบบถ่ายเสียงมีหลักเกณฑ์หลายประการ
ซึ่งดิฉันจะสรุป 3 ประการที่พบเห็นบ่อยและสามารถนำไปใช้ได้ในการเรียนการสอนในอนาคตหรือในงานแปลต่าง
ๆ ได้ หลักเกณฑ์การถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันแบบถ่ายเสียงมี 3 ประการ ดังนี้ ประการที่หนึ่ง คือ การใช้เครื่องหมาย “ - ” เพื่อแยกพยางค์ ประการที่สอง คือ การแยกคำ และประการที่สาม คือ
การใช้อักษรโรมันตัวใหญ่
จากหลักเกณฑ์ทั้งสามประการดังกล่าวข้างต้น
ดิฉันจะนำเสนอทีละประการ โดยในประการแรก คือ การใช้เครื่องหมาย “ -
” เพื่อแยกพยางค์ จะใช้ในกรณีที่คำมีหลายพยางค์
อักษรตัวสุดท้ายของพยางค์หน้ากับอักษรตัวแรกของพยางค์ที่ตามมา
อาจทำให้อ่านยากหรืออ่านผิดได้ จึงให้ใช้เครื่องหมาย “ - ”
เพื่อแยกพยางค์ ซึ่งมีหลักการคือ เมื่ออักษรตัวสุดท้ายของพยางค์หน้าเป็นสระ
และอักษรตัวแรกของพยางค์ที่ตามมาขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ ng (ง)
เช่น สง่า = Sa-nga
หลักการต่อมาในการใช้เครื่องหมาย
“ - ” เพื่อแยกพยางค์ คือ
เมื่ออักษรตัวสุดท้ายของพยางค์หน้าเป็น ng (ง) และอักษรตัวแรกของพยางค์ที่ตามมาขึ้นต้นด้วยสระ เช่น บังอร = Bang-on และอีกหลักการหนึ่ง คือ
เมื่ออักษรตัวแรกของพยางค์ที่ตามมาขึ้นต้นด้วยสระ เช่น สะอาด = sa=at, สำอาง = sam-ang ประการต่อมา คือ ประการที่สอง
การแยกคำ ในการถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันควรเขียนแยกเป็นคำ ๆ เช่น
สถาบันไทยคดีศึกษา = Sathaban Thai Khadi Sueksa, ถนนโชคชัย =
Thanon Chok Chai ยกเว้นคำประสมซึ่งถือว่าเป็นคำเดียวกันและคำนามที่เป็นชื่อบุคคลให้เขียนติดกัน
เช่น ลูกเสือ (คน) = luksuea, จานผี =
chanphi
และประการที่สาม คือ
การใช้อักษรโรมันตัวใหญ่ ซึ่งมีหลักการ 2 ข้อ คือ
อักษรตัวแรกของวิสามายนามและคำหน้านามที่อยู่หน้าคำวิสามานยนามนั้น ๆ
ให้ใช้อักษรโรมันตัวใหญ่ เช่น นายปรีดา อยู่เย็น = Nai Prida Yuyen, เด็กหญิงอุ้มบุญ ทองมี = Dekying Umbun Thongmi, และอีกหลักการต่อมา
คือ อักษรตัวแรกของคำแรกในแต่ละย่อหน้าให้ใช้อักษรโรมันตัวใหญ่ เช่น “ขอให้ทุกคนประสบความสำเร็จตามปรารถนาได้สมหมาย...ตามพุทธภาษิตที่ยกมาข้างต้น”
ถอดเป็นอักษรโรมันดังนี้ “Kho hai thuk khon prasop khwam
samret tam pratthana dai sommai… tam phutthaphasit thi yok ma khang ton”
นอกจากนี้ยังมีหลักการ
การถอดชื่อภูมิศาสตร์ การถอดคำทับศัพท์ การถอดเครื่องหมายต่าง ๆ การถอดคำย่อ
และการถอดตัวเลข ให้เป็นอักษรโรมันได้
โดยในการถอดชื่อภูมิศาสตร์นั้นให้ถอดคำสามานยนามที่เป็นชื่อภูมิศาสตร์เป็นอักษรโรมันโดยไม่ต้องแปลเป็นภาษาอังกฤษ
เช่น เขาสอยดาว = Khao Soi Dao ไม่ใช้ว่า Soi Dao
Hill, แม่น้ำป่าสัก = Maenam Pa Sak ไม่ใช้ว่า
Pa Sak River, ถนนท่าพระ = Thanon Tha Phra ไม่ใช้ว่า Tha Phra Road, เกาะสีชัง = Ko Si Chang ไม่ใช้ว่า Si Chang Island
หลักการต่อมา คือ
การถอดคำทับศัพท์ คำทับศัพท์ที่เป็นวิสามานยนามให้เขียนตามภาษาเดิม เช่น
บริษัทเฟิสต์คลาส จำกัด = First Class Co.Ltd. และคำทับศัพท์ที่เป็นส่วนหนึ่งของวิสามานยนามและไม่ประสงค์จะแปลชื่อวิสามานยนามนั้นให้เขียนคำทับศัพท์นั้นเป็นอักษรโรมันตามการออกเสียงในภาษาไทย
เช่น สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ = Sathaban Theknoloyi Kankaset Mae
Cho
หลักการต่อมา คือ
การถอดเครื่องหมายต่าง ๆ ซึ่งคำที่มีเครื่องหมายไม้ยมก (ๆ)
ให้ถอดซ้ำคำ วลี หรือประโยคอีกครั้งตามหลักการอ่าน เช่น ทำบ่อย ๆ = tham boi boi, ไฟไหม้
= fai mai fai mai หรือคำที่มีเครื่องหมายไปยาลน้อย (ฯ) ซึ่งย่อความของคำที่รู้จักกันดีแล้ว เช่น
กรุงเทพฯ หรือคำที่เป็นแบบแผนซึ่งต้องอ่านเต็ม เช่น โปรดเกล้าฯ
ให้ถอดเป็นอักษรโรมันเต็มตามคำอ่าน เช่น กรุงเทพฯ = Krung Thep Maha
Nakhon, โปรดเกล้าฯ =
protkao protkramom
หรือคำที่มีเครื่องหมายไปยาลน้อย (ฯ) หากมีคำเต็มซึ่งใช้ในข้อความก่อนหน้านั้นแล้วจะถอดเต็มตามคำอ่านหรือไม่ก็ได้
เช่น กรมพระราชวังบวรฯ = Kromphraratchawangbowon Sathanmongkhon หรือ Kromphraratchawangbowon หรือคำ ฯพณฯ
ให้ถอดตามคำอ่าน คือ พะนะท่าน = Phanathan หรือเครื่องหมายไปยาลใหญ่
(ฯลฯ) ที่อยู่ท้ายข้อความซึ่งอ่านว่า “ละ” หรืออ่านว่า “และอื่นๆ”
ให้ถอดเป็นอักษรโรมันตามเสียงอ่านนั้นๆ เช่น ในตลาดมีเนื้อสัตว์ ผัก
ผลไม้ น้ำตาล น้ำปลา ฯลฯ = nai talat mi nueasat phak phonlamai namtan
nampla la
หลักการต่อมาคือ การถอดคำย่อ คำย่อที่มาจากคำเต็มที่รู้จักกันดีและเป็นคำที่ไม่ยาวนัก
ให้อ่านเต็มตามหลักการอ่าน และให้ถอดเป็นอักษรโรมันตามคำอ่าน เช่น จ.
ซึ่งย่อมาจากคำ จังหวัด = changwat, อ. ซึ่งย่อมาจากคำ อำเภอ = amphoe หรือคำย่อที่มาจากคำประสมหลายคำและค่อนข้างยาวหรือยาวมากจะถอดตามคำอ่านของตัวย่อหรือถอดเต็มก็ได้
เช่น ผอ. ย่อจาก ผู้อำนวยการ = pho-o หรือ phu-amnuaikan
และอีกหลักการหนึ่ง คือ การถอดอักษร
ให้ถอดตามหลักการอ่านอักขรวิธีวิธีไทยโดยเขียนอักษรโรมันเต็มตามเสียงที่อ่านในภาษาไทย
เช่น 4.50 บาท อ่านว่า สี่บาทห้าสิบสตางค์ = si bat
ha sip satang
จากการศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันแบบถ่ายเสียงไม่ว่าจะเป็นหลักเกณฑ์การใช้เครื่องหมาย
“-” เพื่อแยกพยางค์, หลักเกณฑ์การแยกคำ
และหลักเกณฑ์การใช้อักษรโรมันตัวใหญ่ รวมไปถึงหลักการการถอดชื่อเฉพาะต่าง ๆ
การถอดคำทับศัพท์ การถอดเครื่องหมายต่าง ๆ การถอดคำย่อ การถอดตัวเลข
ทำให้ดิฉันถอดเสียงได้อย่างแม่นยำและถูกต้องมากขึ้น
และที่สำคัญดิฉันสามารถนำไปใช้ในการเป็นครูในอนาคตได้อีกด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น