วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ภาษาไทยที่เป็นธรรมชาติ

สิ่งที่ได้เรียนรู้
ภาษาไทยที่เป็นธรรมชาติ
            ภาษา  หมายถึง  เสียงที่เป็นคำพูดหรือถ้อยคำสำนวนที่ใช้พูดกัน  รวมทั้งกิริยาอาการที่แสดงออกมาแล้วสามารถทำความเข้าใจกันได้ถูกต้องตรงกัน  แบ่งออกเป็น  2 ประเภทคือ ภาษาที่เป็นถ้อยคำหรือวัจนภาษา  หมายถึง ภาษาที่ใช้เสียงพูด หรือตัวอักษรที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นมา และภาษาที่ไม่เป็นถ้อยคำหรือ อวัจนภาษา  หมายถึง ภาษาที่เกิดจากกิริยาอาการต่างๆ  ที่แสดงออกมาทางร่างกาย หรือสัญลักษณ์ที่มองเห็นแล้วผู้อื่นเกิดความเข้าใจความหมายได้โดยไม่ต้องอาศัยภาษาพูดหรือภาษาเขียนเป็นสื่อ ภาษานั้นเป็นเครื่องมือสื่อความคิดระหว่างมนุษย์มาแต่โบราณ  ถ้าไม่มีภาษาสังคมมนุษย์ย่อมไม่สามารถพัฒนามาจนถึงปัจจุบันได้ 
            การเขียนบทแปลที่ดีต้องเขียนด้วย ภาษาไทยที่เป็นธรรมชาติซึ่งหมายถึงภาษาเขียน ภาษาพูดที่คนไทยทั่วไปใช้กันจริงในสังคมไทยทั้งนี้เพื่อให้คนไทย ผู้อ่านผู้ใช้งานสามารถเข้าใจได้ทันที ไม่มีอุปสรรคในการรับสารที่สื่อจากบทแปล องค์ประกอบที่นักแปลต้องพิจารณาในการเขียนบทแปลด้วยภาษาไทยที่เป็นธรรมชาติ ได้แก่ องค์ประกอบย่อยของการแปล คือ คำ ความหมาย การสร้างคำ และสำนวนโวหาร ดังต่อไปนี้ คำและความหมาย คำบางคำมีความหมายแตกต่างกันหลายอย่างมีทั้งความหมายตรงและความหมายแฝงหรือความหมายเชิงเปรียบเทียบ เช่น เบี้ยว ความหมายตรงคือ ลักษณะของสิ่งที่กลม แต่ไม่กลม บิด ไม่ตรง และความหมายแฝงคือ ไม่ซื่อสัตย์ ทรยศ หักหลัง เชื่อถือไม่ได้
            คำบางคำมีความหมายต่างกันไปตามยุคสมัย เช่น ในสมัยก่อน ๆ มีความหมายอย่างหนึ่ง แต่ในปัจจุบันแตกต่างไปเป็นอีกอย่างหนึ่ง บางครั้งก็ตรงกันข้ามกัน บางครั้งก็มีความหมายไปในทางที่ดี บางครั้งก็มีความหมายแย่ลง เช่น กู เดิมเป็นคำสามัญที่ใช้พูดจากันทั่ว ๆ ไป ปัจจุบันเป็นคำหยาบ มีความหมายเลวลงและจำกัดแคบลง อาจจะใช้ได้ในกลุ่มเพื่อนสนิทเท่านั้น หรือคำว่า ไพร่ เดิมหมายถึงชาวเมือง พลเมืองสำคัญ ปัจจุบันหมายถึง คนที่ขาดมารยาท คนไม่สุภาพ คนเลว ในการพูดหรือการเขียนที่ต้องการแสดงอารมณ์ อาจจะนำคำที่มีความหมายไม่ดีมาใช้ให้เกิดความหมายที่ดีขึ้นก็ได้ เช่น สวยอย่างร้าย หมายความว่า สวยมาก ใจดีเป็นบ้า หมายความว่า ใจดีมาก
            การสร้างคำกริยา ในที่นี้จะกล่าวถึงการเสริมท้ายคำกริยาด้วยคำกริยา ซึ่งบางคนอาจจะเห็นว่าทำให้ภาษายุ่งยาก อย่างไรก็ตามบางครั้งก็ชัดเจนขึ้น ถ้าเราเข้าใจความหมายที่แท้จริงดั้งเดิมของมัน คำกริยาที่นำมาเสริมท้ายนั้น ได้แก่ ขึ้น ลง ไป มา (ซึ่งเป็นอย่างเดียวกันในภาษาขอมโบราณ ภาษาไทยคงนำวิธีการนี้มาจากขอมโบราณก็ได้) โดยไม่มีความหมายเดิมเหลืออยู่เลย แต่กลายเป็นคำบอกปริมาณ และทิศทาง ดังนี้ ทำขึ้น บอกประมาณว่ามาก, ชัดเจน เช่นเดียวกับ หัวเราะขึ้น เกิดขึ้น มีขึ้น พูดขึ้น ปรากฏขึ้น อย่างไรก็ตาม โปรดระวัง ถ้าใช้ ไป-มา ขึ้น-ลง คู่กัน กลับหมายถึงการทำซ้ำ ๆ บ่อย ๆ เช่น เดินไปเดินมา คือ เดินซ้ำหลายหน คิดไปคิดมา คือ คิดซ้ำหลายหน
            การเข้าคู่คำ คือ การนำคำหลายคำมาเข้าคู่กันเพื่อให้ได้คำใหม่โดยมีความหมายใหม่หรือมีความหมายคงเดิม ดังนี้ คู่คำพ้องความหมายจะเป็นคำในภาษาเดียวกันหรือคำต่างประเทศหรือคำภาษาถิ่นก็ได้ ส่วนมากความหมายจะคงเดิม เช่น ทรัพย์สิน (มาจากสันสกฤตและจีน) หมายความว่า ร่ำรวย , เสื่อสาด (ไทยกลางและไทยถิ่น) หมายความว่า เครื่องปูลาด คู่คำที่มีความหมายตรงข้าม ส่วนมากจะได้ความหมายใหม่ เช่น ผู้ใหญ่ผู้น้อย (ใหญ่ ตรงข้ามกับ น้อย) หมายความว่า ทุกคน และคู่คำที่มีความหมายต่างกัน มักจะได้คำใหม่ที่มีเค้าความหมายเดิมเหลืออยู่ เช่น ลูกเมีย หมายความว่า ครอบครัว พี่ป้าอาน้า หมายความว่า ญาติ
            สำหรับการแปลขั้นสูงผู้แปลจะต้องรู้จักสำนวนการเขียนและการใช้โวหารหลาย ๆ แบบ มิฉะนั้นจะทำให้เข้าใจความหมายไม่ชัดเจน บางครั้งอาจเข้าใจผิดเป็นตรงกันข้ามก็ได้ การอ่านมากจะทำให้คุ้นกับสำนวนโวหารแบบต่าง ๆ ในวรรณกรรมชั้นดีผู้เขียนมักจะใช้สำนวนโวหารแปลก ๆ ซับซ้อนเพื่อให้ผู้อ่านเกิดความบันเทิง แต่ถ้าผู้อ่านไม่เข้าใจก็จะได้ผลตรงกันข้าม เช่น สำนวนที่ประกอบด้วยคำว่า ให้ในสำนวนจะไม่มีความหมายเหมือนเป็นคำกริยา แต่จะมีความหมายอย่างอื่น เช่น กับ แก่ คำที่ตามหลัง ให้ทำหน้าที่เป็นกรรมรอง เช่น พ่อค้าขายของให้ลูกค้า คุณพ่อซื้อของขวัญให้ลูก
            สำนวนที่มีคำซ้ำ คำซ้ำในที่นี้หมายถึงทั้งคำเดียวกันซ้ำกัน (ซ้ำรูป) และคำที่มีความหมายเหมือนกัน (ซ้ำความหมาย) การใช้คำซ้ำมีทั้งดีแงะเสียปะปนกัน สำหรับข้อดีของการใช้คำซ้ำ คือ เพื่อความไพเราะ คำสั้น ๆ และเสียงห้วน ถ้ามีการซ้ำรูปจะทำให้เสียงทอดยาว อ่อนสลวย, เพื่อให้มีความหมายอ่อนลง เช่น พูดดี ๆ นั่งเฉย ๆ มักจะใช้กับประโยคคำสั่งเพื่อคลายความบังคับลงให้กลายเป็นขอร้อง บางครั้งการใช้คำซ้ำในกรณีเช่นนี้แสดงความไม่หนักแน่น ไม่แน่ใจ, เพื่อให้ได้คำใหม่ ๆ ใช้ เช่น ความคิดสร้างสรรค์ หมายถึง ไม่ลอกแบบใครคิดขึ้นเอง และเพื่อแสดงว่ามีจำนวนมาก ปริมาณมาก หรือเป็นพหูพจน์ เช่น เด็ก ๆ มากินขนม
            สำหรับข้อเสียของการใช้คำซ้ำรูปและซ้ำความหมายมีอยู่อย่างเดียวคือ กลายเป็นฟุ่มเฟือยโดยไม่จำเป็น การใช้คำซ้ำซ้อนนี้แสดงฝีมือของนักเขียนหรือกวีว่าประณีตหรือหยาบ สูงหรือต่ำ สำนวนไทยนิยมการใช้คำซ้ำคำซ้อนมาแต่โบราณ ใครซ้ำซ้อนคำได้งดงามก็เป็นที่นับถือว่าเก่ง แต่ถ้าพลาดก็จะกลายเป็นฟุ่มเฟือย เช่น ตัวอย่างสำนวนที่ดี เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า บ้านช่องห้องหอ อาคารบ้านเรือน ห้อยโหนโยนตัว ส่วนตัวอย่างสำนวนที่ฟุ่มเฟือย สำนวนต่อไปนี้ถ้าตัดคำซ้ำออกก็จะได้ความดังเดิม มีความไพเราะเท่าเดิม เขารวยมีเงินมาก คนแก่อายุมาก คืนเดือนเพ็ญพระจันทร์เต็มดวง
            โวหารภาพพจน์เป็นโวหารที่นักแปลจำเป็นต้องทำความเข้าใจให้ถ่องแท้คือ โวหารภาพพจน์ (Figures of Speech) ทั้งนี้เพราะนักเขียนหรือกวีมักจะสร้างภาพพจน์อย่างกว้างขวางสลับซับซ้อน ถ้าผู้อ่านมีประสบการณ์น้อยก็จะไม่เข้าใจ โวหารภาพพจน์จะมีหลายลักษณะดังนี้ โวหารอุปมา (Simele) โวหารภาพลักษณ์ (Metaphor) โวหารเย้ยหยัน (Irony) โวหารขัดแย้ง (Contrast หรือ Antitheses) โวหารที่ใช้ส่วนหนึ่งแทนทั้งหมด (Metonymy) โวหารบุคคลาธิษฐาน (Personification) และโวหารที่กล่าวเกินจริง (Hyperbole)
            จากโวหารที่กล่าวมาข้างต้นดิฉันจะอธิบายจากโวหารแรกคือ โวหารอุปมา (Simele) คือ การสร้างภาพพจน์โดยการเปรียบเทียบ โดยมีจุดมุ่งหมายจะชี้แจงอธิบาย พูดพาดพิงถึง หรือเสริมให้งดงามขึ้น การเปรียบเทียบแบบนี้มักจะใช้คำเชื่อม คือ เหมือนราวกับ ดุจ ประดุจ ประหนึ่ง และอื่น ๆ ที่มีความหมายอย่างเดียวกัน โวหารแบบนี้จะเป็นวลีสั้น ๆ หรือเป็นทั้งประโยคหรือเป็นโคลงกลอนทั้งบท เช่น หน้าแจ่ม ดัง ดวงจันทร์วันเพ็ญ
            โวหารต่อมาคือ โวหารภาพลักษณ์ (Metaphor) คือ การเปรียบเทียบความหมายโดยนำความเหมือนและไม่เหมือนของสิ่งที่จะเปรียบเทียบมากล่าว การเปรียบเทียบแบบนี้แสดงความเก่งของกวี เพราะกวีจะเลี่ยงการใช้คำพื้น ๆ ไปสู่คำใหม่ที่น่าตื่นตาตื่นใจกว่า แต่ก็ต้องมีร่องรอยเดิมอยู่ในคำใหม่นั้น เช่น วัยไฟ (วัยรุ่น) วินัยเหล็ก (วินัยที่ต้องปฏิบัติอย่างเข้มแข็ง) โวหารต่อมาคือ โวหารเย้ยหยัน (Irony) คือ การใช้คำด้วยอารมณ์ขัน เพื่อยั่วล้อ เย้ยหยัน หรือชี้ให้เห็นข้อบกพร่อง
             โวหารต่อมาคือ โวหารขัดแย้ง (Contrast หรือ Antitheses) คือการใช้คำที่มีความหมายตรงข้ามกันมาเรียงต่อกันโดยรักษาสมดุลไว้ เช่น รักษาให้จำนวนคำเท่ากันทั้งสองฝ่าย เช่น คนสูงตำหนิตัวเอง คนต่ำตำหนิผู้อื่นโวหารขัดแย้งอีกอย่างหนึ่งเรียกว่า paradox เป็นการกล่าวโดยขัดแย้งกับความจริงหรือความเชื่อและความคิดเห็นของบุคคลทั่วไปเป็นคำกล่าวที่เหมือนจะขัดกันเอง แต่ถ้าจะพิจารณาให้ลึกซึ้งแล้วจะเห็นว่าเป็นความจริง
            โวหารต่อมาคือ โวหารที่ใช้ส่วนหนึ่งแทนทั้งหมด (Metonymy) ได้แก่การนำคุณสมบัติเด่นของสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาใช้แทนที่จะเอ่ยนามสิ่งนั้นออกมาตรง ๆ รวมทั้งส่วนประกอบของสิ่งของและของใช้ประจำบุคคลโดยไม่กล่าวชื่อของสิ่งของหรือบุคคลนั้น ๆ เช่น ปากกาคมกว่าดาบ โวหารต่อมาคือ โวหารบุคคลาธิษฐาน (Personification) คือการนำสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่มีชีวิต รวมทั้งความคิด การกระทำ และนามธรรมอื่น ๆ มากล่าวเหมือนเป็นบุคคล การใช้บุคคลาธิษฐานนี้นับเป็นส่วนหนึ่งของโวหาร Metaphor ดังกล่าวแล้วเป็นวิธีที่ใช้มากที่สุดในงานร้อยกรอง และโวหารสุดท้ายคือ โวหารที่กล่าวเกินจริง (Hyperbole) โวหารเช่นนี้มีจุดประสงค์ที่จะเน้นให้เห็นความสำคัญ ชี้ให้เห็นชัดเจนและเด่น และใช้เพื่อแสดงอารมณ์ที่รุนแรง ไม่ได้อธิบายข้อเท็จจริง เช่น ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุทร ไม่สิ้นสุดความรักสมัครสมาน
            เมื่อกล่าวถึงโวหารแต่ละโวหารข้างต้นแล้ว ลักษณะสำนวนโวหารที่ดีมีดังต่อไปนี้ ถูกหลักภาษา คือ ไม่ขัดกับไวยากรณ์, ไม่กำกวม สำนวนโวหารที่ดีจะชัดเจน แม่นตรง ไม่ชวนให้เข้าใจไขว้เขว, มีชีวิตชีวา คือ ไม่เนิบนาบ เฉื่อยชา ยืดยาด แต่มีชีวิตชีวา เร้าใจ ชวนให้ผู้อ่านรู้สึกกระตือรือร้น, สมเหตุสมผล น่าเชื่อถือ มีเหตุผลรอบคอบ ไม่มีอคติ ไม่สร้างความหลงผิดให้แก่ผู้อ่าน เช่น การบรรยายความฉลาดของสัตว์ที่มีเหนือกว่าคน และคมคายเฉียบแหลม คือ การใช้คำพูดที่เข้มข้น หนักแน่น แฝงข้อคิดที่ฉลาด โดยใช้ถ้อยคำไม่กี่คำ สำนวนแบบนี้มักจะได้แก่สุภาษิต คำคม คำพังเพย เป็นต้น
            จากการเรียนรู้ภาษาไทยที่เป็นธรรมชาติทั้งองค์ประกอบย่อยของการแปล ไม่ว่าจะเป็นคำ ความหมาย การสร้างคำ และสำนวนโวหาร ผู้แปลจะต้องรู้จักการเลือกใช้คำที่มีความหมายสอดคล้องกับต้นฉบับ ผู้แปลจะต้องทำความเข้าใจความหมายของคำจากต้นฉบับให้เข้าใจอย่างชัดเจน เพราะคำแต่ละคำจะมีความหมายแตกต่างกัน และจะแตกต่างไปตามยุคสมัย สิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบที่นักแปลจะต้องพิจารณาในการเขียนบทแปลด้วยภาษาไทยที่เป็นธรรมชาติ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น