วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

การแปลบันเทิงคดี (The translation of Literary Work)

สิ่งที่ได้เรียนรู้
การแปลบันเทิงคดี (The translation of Literary Work)
            บันเทิงคดี หมายถึง งานเขียนทุกประเภทที่ไม่อยู่ในประเภทของงานวิชาการและสารคดี ทั้งนี้หมายรวมถึงงานร้อยแก้วและร้อยกรอง บันเทิงคดีมีหลายรูปแบบ ได้แก่ นิทาน นวนิยาย เรื่องสั้น บทเพลง บทกวี บันเทิงคดีเป็นงานเขียนที่มีรูปแบบแตกต่างจากสารคดี ทั้งในด้านเนื้อหาและองค์ประกอบทางภาษา ในด้านเนื้อหานั้นบันเทิงคดีอาจเสนอเนื้อหาสาระที่มีความเป็นจริงบ้าง เช่น การเล่าหรือบรรยายชีวิตความเป็นอยู่ตามธรรมชาติของสิ่งต่าง ๆ ของโลกหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
            อย่างไรก็ตามผู้เขียนจะสอดแทรกทัศนะ ความรู้สึกหรือประสบการณ์ของผู้เขียนในงานเขียนกล่าวคือ การถ่ายทอดสาระความรู้ในงานบันเทิงคดีมีความแตกต่างจากการเสนอสิ่งเหล่านี้ในสารคดี ผู้เขียนบันเทิงคดีมีจุดประสงค์หลักคือ ให้ความบันเทิงแก่ผู้อ่าน ดังนั้นบันเทิงคดีอาจเป็นการถ่ายทอดสิ่งที่เป็นจินตนาการของผู้เขียนหรือเป็นการถ่ายทอดจินตนาการของผู้เขียนผสมผสานกับความจริงของปรากฏการณ์ในสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ของสังคม ภาษาที่ใช้ในบันเทิงคดีและสารคดีจึงมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ผู้แปลและผู้เรียนแปลจึงต้องศึกษาและฝึกแปลภาษาเฉพาะของบันเทิงคดีอย่างจริงจัง
            ในการแปลบันเทิงคดีผู้แปลต้องคำนึงถึงองค์ประกอบสำคัญ 2 ประการคือ องค์ประกอบด้านเนื้อหาและองค์ประกอบที่ไม่ใช่เนื้อหา ซึ่งหมายถึงอารมณ์และท่วงทำนองของงาน องค์ประกอบด้านอารมณ์และท่วงทำนองจะสะท้อนออกในองค์ประกอบของภาษา ดังนั้นองค์ประกอบด้านภาษาจึงเป็นประเด็นที่ผู้แปลจะต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการแปลงานบันเทิงคดี เมื่อกล่าวถึงองค์ประกอบด้านภาษาองค์ประกอบด้านภาษาที่เกี่ยวข้องกับการแปลงานบันเทิงคดีสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มได้แก่ การใช้สรรพนามและคำเรียกบุคคล การใช้คำที่มีความหมายแฝง และภาษาเฉพาะวรรณกรรม
            ภาษาที่มีความหมายแฝง คำศัพท์ในภาษาใด ๆ ประกอบด้วยคำศัพท์ที่มีความหมายตรงตัวหรือความหมายตามตัวอักษร เช่น chicken หมายถึง ไก่ แต่มีคำศัพท์จำนวนมากซึ่งมีความหมายตรงตัวแล้วยังมีความหมายแฝงอีกด้วย เช่น ไก่ ความหมายตรงตัวคือ สัตว์ปีกชนิดหนึ่ง แต่ความหมายแฝงคือหญิงสาวที่อ่อนต่อโลก ในการแปลงงานบันเทิงคดีผู้แปลจะต้องให้ความใส่ใจต่อคำศัพท์ทุกตัว ทั้งนี้จะต้องพิจารณาว่าคำศัพท์นั้นมีความหมายตรงตัวหรือมีสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากความหมายตรงตัว ดังนั้นผู้แปลจะต้องใช้ความสามารถ ปฏิภาณไหวพริบ จินตนาการ รวมทั้งใช้วิจารณญาณเพื่อตัดสินว่าคำศัพท์ที่พบในงานชิ้นหนึ่ง ๆ มีความหมายแฝงใด ๆ อยู่บ้าง
            นิวมาร์คได้ให้คำแนะนำว่านักแปลควรค้นหาความหมายของศัพท์ทุกตัว โดยเฉพาะคำศัพท์ที่นักแปลรู้จัก ทั้งนี้เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการแปล ในการแปลใด ๆ หากผู้แปลไม่ได้พิจารณาต้นฉบับอย่างรอบคอบแม้แต่นักแปลอาชีพก็อาจวินิจฉัยความหมายของคำหรือวลีผอดพลาดได้ วิธีหนึ่งที่จะทำให้ไม่เกิดความผิดพลาด คือ ทุกครั้งที่จะเริ่มปฏิบัติการแปลผู้แปลควรอ่านข้อความในต้นฉบับโดยตลอดจนจบอย่างน้อย 1 ครั้ง เพื่อเป็นการทำความเข้าใจเนื้อหาโดยรวม ในขั้นการอ่านนี้ผู้แปลไม่ควรหาความหมายของคำศัพท์ใด ๆ แต่อาจทำเครื่องหมายบางอย่างเช่น ขีดเส้นใต้หรือใส่ดอกจันไว้ที่ข้อความที่ไม่เข้าใจถ่องแท้
            นอกจากนี้ ในกระบวนการแปลงานทุกประเภท ผู้แปลไม่ควรใช้พจนานุกรมสองภาษาเพียงอย่างเดียว ผู้แปลควรใช้พจนานุกรมภาษาเดียว เช่น ไทย-ไทย, อังกฤษ-อังกฤษ หลาย ๆ เล่ม อีกทั้งยังต้องค้นคว้าหาความรู้จากหนังสืออ้างอิงอื่นประกอบการแปลด้วย เช่น ปทานุกรมสาขาต่าง ๆ พจนานุกรมเฉพาะสาขาและสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่นักวิชาการด้านการแปรแนะนำคือ นักแปลไม่ควรใช้คำศัพท์ที่พบเฉพาะในพจนานุกรมสองภาษา หากคำศัพท์ตัวนั้นไม่ปรากฏในพจนานุกรมภาษาเดียว ทั้งนี้เนื่องจากพจนานุกรม 2 ภาษามักมีคำศัพท์ที่ล้าสมัยอยู่ด้วย
            บันเทิงคดีมีรูปแบบภาษาเฉพาะหลายชนิดซึ่งผู้แปลจะต้องรอบรู้และนำมาใช้อย่างเหมาะสมรูปแบบเฉพาะที่ใช้ในบันเทิงคดีซึ่งเรียกว่าโวหารภาพพจน์ เช่น โวหารอุปมาอุปไมย โวหารอุปลักษณ์ โวหารเย้ยหยันเสียดสี โวหารที่ใช้ส่วนหนึ่งแทนทั้งหมด โวหารที่กล่าวเกินเกินจริง เป็นต้น ภาษากลุ่มนี้มีลักษณะเด่นประการหนึ่งคือ การสะท้อนวัฒนธรรมด้านต่าง ๆ ลงไปในตัวภาษา ได้แก่ วัฒนธรรมการกินอยู่แต่งกาย การงานอาชีพ รวมทั้งภูมิอากาศ ดินฟ้า ความเชื่อ ศาสนา เศรษฐกิจ การเมือง ซึ่งกล่าวอีกนัยหนึ่งคือภาษากลุ่มนี้โยงใยทุกแง่มุมของวัฒนธรรมและอารยธรรมของมนุษย์โดยถ่ายทอดผ่านทางภาษา
            จากการศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับการแปลบันเทิงคดี ผู้แปลจะต้องให้ความสำคัญกับคำศัพท์ทุกตัว ผู้แปลจะต้องพิจารณาว่าคำศัพท์นั้นมีความหมายตรงตัวหรือมีสิ่งอื่นที่อยู่นอกเหนือจากความหมายตรงตัวนี้ด้วยหรือไม่ ผู้แปลจะต้องใช้ความสามารถ ไหวพริบ จินตนาการ รวมทั้งใช้วิจารณญาณในการตัดสินว่าคำศัพท์ที่พบในงานแปลชิ้นนั้นมีความหมายแฝงอยู่หรือไม่ รวมไปถึงผู้แปลควรค้นหาความหมายของคำศัพท์ทุกตัวโดยเฉพาะคำศัพท์ที่ผู้แปลรู้จักเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดในการแปล

            

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น