Learning
Log
ครั้งที่
2
พื้นฐานความรู้เดิมของผู้เรียนย่อมมีความสำคัญต่อครูผู้สอนในการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมให้กับผู้เรียน
ผู้เรียนควรสังเกตตัวเองอยู่เสมอว่า เมื่อเรียนไปแล้ว
ผู้เรียนมีความรู้เพียงพอและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หรือไม่
อีกทั้งกระบวนการสอนของครูก็มีความสำคัญต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน เพราะผู้สอนแต่ละคนจะมีกระบวนการสอนที่แตกต่างกัน
ซึ่งมีผลทำให้ผู้เรียนมีความพึงพอใจหรือเจตคติต่อผู้สอนและรายวิชาที่แตกต่างกันออกไป
นี่คือสิ่งที่ดิฉันได้เรียนรู้ในห้องเรียน นอกจากการเรียนรู้ภายในห้องเรียนแล้ว
ดิฉันได้เพิ่มเติมความรู้โดยการเรียนรู้นอกห้องเรียนด้วยตนเอง
ซึ่งการเรียนรู้นอกห้องเรียนของดิฉันเป็นการฝึกทักษะการอ่าน การคิดวิเคราะห์
และการสังเคราะห์ จากบทความเรื่อง “กลยุทธ์ในการเรียนภาษา”
ในบทความนี้จะกล่าวถึงกลยุทธ์ในการเรียนภาษาอังกฤษ
โดยตัวผู้เรียนนั้นคือจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุด
สิ่งที่ได้เรียนรู้ในห้องเรียนจะเกี่ยวกับการที่ผู้สอนทราบพื้นฐานความรู้เดิมของผู้เรียนเป็นรายบุคคลซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้สอนพึงปฏิบัติ เพราะผู้สอนสามารถจัดการเรียนการสอนให้กับผู้เรียนได้อย่างเหมาะสม โดยการสอบถามความรู้เดิมนั้นใช้คำถาม KWL ซึ่ง K คือ What you know , W คือ What you want to know และ L คือ What you have learnt คำถามดังกล่าวผู้เรียนต้องสังเกตตัวเองว่า ในระยะเวลาที่ผ่านมา ผู้เรียนมีความรู้หรือพัฒนาความรู้จากเดิมมากน้อยเพียงใด อีกทั้งการสอบถามความพึงพอใจในกระบวนการเรียนการสอนของอาจารย์แต่ละคนถือมีความสำคัญเช่นกัน หากทราบว่าผู้เรียนแต่ละคนมีความพึงพอใจในกระบวนการเรียนการสอนของอาจารย์ท่านใด และเหตุผลที่พึงพอใจ ผู้สอนก็จะสามารถนำมาปรับใช้ในการเรียนการสอนได้
ผู้สอนภาษาจะสอนภาษาที่ดีได้นั้นต้องจัดกิจกรรมให้กับผู้เรียน
โดยการแบ่งกลุ่มผู้เรียนออกเป็น 3-6
กลุ่ม เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการปฏิสัมพันธ์ภายในกลุ่ม การปฏิสัมพันธ์นั้นสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 2 ways communication หมายถึง การส่งสารและการรับสาร
และ 1 way communication หมายถึง การส่งสารหรือรับสารเพียงอย่างเดียว
ในด้านการจัดกิจกรรม ผู้สอนสามารถแบ่งกลุ่มให้กับผู้เรียนได้อย่างหลากหลาย
เช่น whole class , group
work หรือ pairs
work และการสอนที่สำคัญในระดับมหาวิทยาลัยควรเป็นการสอนแบบผู้ใหญ่หรือ
Adult Learner คือ ผู้สอนทราบว่า ผู้เรียนเป็นใคร
มีความสามารถในด้านใดบ้าง และความสามารถนั้นอยู่ในระดับไหน
สิ่งที่ได้เรียนรู้นอกห้องเรียน คือ การฝึกทักษะการอ่าน การคิดวิเคราะห์ และการสังเคราะห์ จากบทความเรื่อง “กลยุทธ์ในการเรียนภาษา” ซึ่งภาษาดังกล่าวคือ ภาษาอังกฤษ โดยส่วนใหญ่ผู้เรียนในทุกระดับไม่สามารถฟัง พูด อ่าน เขียน และแปลภาษาอังกฤษได้ ทั้งนี้อาจมาจากปัจจัยภายนอกของผู้เรียน เช่น ครูผู้สอนขาดความรู้ความชำนาญในการใช้ภาษา ขาดวิธีสอนที่ได้ผล หรือ ตำรา แบบเรียน และสื่อการเรียนการสอนขาดคุณภาพ ไม่ได้มาตรฐาน หรือสภาพแวดล้อมทางสังคมไม่เอื้ออำนวยต่อการใช้ภาษาในสถานการณ์จริง แต่การเรียนภาษาอังกฤษให้ได้ผลดีนั้นไม่ใช่แค่อาศัยปัจจัยภายนอกเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเกิดจากปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน ซึ่งปัจจัยนั้นต้องเริ่มต้นจากตัวผู้เรียนเป็นอันดับแรกด้วยการพึ่งตนเองให้มากขึ้น
จากปัจจัยข้างต้น การพึ่งตนเองในการเรียนภาษาอังกฤษให้สัมฤทธิผลนั้น
ผู้เรียนจำเป็นต้องดำเนินไปอย่างมีระบบ หรือมีระเบียบแบบแผน โดยมีขั้นตอนที่สำคัญ คือ การกำหนดวัตถุประสงค์
ควรกำหนดว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง และทำภายในระยะเวลาเท่าไร การจัดเตรียมและหาแหล่งความรู้ที่เอื้ออำนวยต่อการฝึกทักษะต่าง
ๆ การพัฒนากลยุทธ์ในการเรียน เป็นสิ่งที่ผู้เรียนสามารถนำไปปรับแต่งหรือประยุกต์ใช้ให้เป็นวิธีการเฉพาะตัวของแต่ละบุคคลได้
และการลงมือปฏิบัติจริง เพราะการเรียนแต่ภาคทฤษฎีโดยไม่ฝึกปฏิบัติอาจทำให้ความสามารถในการใช้ภาษาไม่บรรลุเป้าหมาย
เพราะการฝึกทักษะภาษาเป็นการฝึกพฤติกรรมการใช้ภาษาซ้ำแล้วซ้ำอีกจนผู้เรียนสามารถสื่อสารได้อย่างถูกต้อง
คล่องแคล่ว โดยอาจจะฝึกจากกลยุทธ์ในการเรียนภาษา
กลยุทธ์ในการเรียนภาษา
เป็นจุดเริ่มต้นสำหรับผู้ที่ต้องการฝึกทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ
สามารถนำไปปรับแต่งให้เป็นกลยุทธ์เฉพาะตัวของแต่ละบุคคลได้
และยังนำไปประยุกต์ใช้กับการเรียนภาษาอื่น ๆ ได้อีกด้วย
ซึ่งองค์ประกอบของกลยุทธ์ในการเรียนภาษามีทั้งหมด 10 ประการ
คือ ศึกษาเรื่องศัพท์และไวยากรณ์ , ฝึกฝน โดยผ่าน “ตา หู ปาก และมือ” , ฝึกเป็นคนสังเกต
, จดจำด้วยการท่องจำและการจดบันทึก, เลียนแบบ
เกิดจากการยอมรับและใช้ตามสัญนิยมนั้น , รู้จักดัดแปลงให้เข้ากับวัตถุประสงค์
, อาศัยการวิเคราะห์ , ค้นคว้าเพิ่มเติม
, ใช้งานจริง และปรับปรุงแก้ไข
โดยแต่ละองค์ประกอบจะมีความเกี่ยวเนื่องและสนับสนุนซึ่งกันและกัน
จึงจำเป็นต้องนำมาใช้อย่างสม่ำเสมอและใช้อย่างต่อเนื่อง จึงจะเกิดผลสำเร็จ
จากองค์ประกอบทั้ง 10 ประการข้างต้นสามารถขยายความได้ดังนี้ ประการแรก คือ
การเรียนภาษาจะต้องเริ่มจากความรู้ที่เกี่ยวกับตัวภาษาโดยตรง ซึ่งมี 2 ด้าน คือ ศัพท์และไวยากรณ์ ที่ผู้เรียนต้องมีความรู้และความเข้าใจอย่างแท้จริง
ประการที่สอง คือ ฝึกฝน
ควรฝึกการใช้ภาษาอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอจนผู้เรียนสามารถสื่อสารได้อย่างถูกต้อง
คล่องแคล่ว และฝึกเป็นคนช่างสังเกต ละเอียดรอบคอบในการเรียนและการใช้ภาษา
นั่นคือประการที่สาม ส่วนประการที่สี่ คือ การจดจำ
การท่องจำเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ
ผู้เรียนควรจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรควบคู่กันไป ประการที่ห้า คือ
การเรียนภาษาต้องอาศัยการเลียนแบบโดยการยอมรับ ศึกษา และใช้ตามสัญนิยม ประการที่หก
คือ รู้จักดัดแปลงให้เข้ากับวัตถุประสงค์ในการใช้ภาษาในสถานการณ์ต่าง ๆ
ประการที่เจ็ด คือ อาศัยการคิดวิเคราะห์ โดยการอ่าน การเขียน และการแปลภาษา ประการที่แปด คือ
การค้นคว้าเพิ่มเติมจากแหล่งความรู้ต่าง ๆ โดยเฉพาะการค้นคว้าในพจนานุกรมภาษาอังกฤษ
ประการที่เก้า คือ เมื่อเรียนรู้ภาษาแล้ว ผู้เรียนสามารถนำไปใช้ได้ในสถานการณ์จริง
และประการสุดท้าย คือ การรู้จักสังเกตและเรียนรู้ข้อบกพร่องของตนเอง เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไข
การเรียนรู้ในห้องเรียนโดยการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงความคิดเห็นอย่างอิสระเป็นการพูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้สอนและผู้เรียน
ซึ่งดิฉันสามารถนำคำถามข้างต้นไปประยุกต์ใช้ในอนาคตได้
ส่วนการเรียนรู้นอกห้องเรียนมีประโยชน์มากสำหรับดิฉัน
เพราะดิฉันสามารถนำกลยุทธ์ในการเรียนภาษาอังกฤษมาปรับแต่งให้เป็นกลยุทธ์เฉพาะตัวของดิฉันได้อย่างเหมาะสม
และเห็นความสำคัญของการฝึกฝนการใช้ภาษาว่า
หากดิฉันฝึกฝนการใช้ภาษาอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ
ดิฉันจะสามารถสื่อสารได้อย่างถูกต้อง คล่องแคล่ว
และหากสังเกตตนเองว่ามีข้อบกพร่องประการใดก็สามารถนำมาปรับปรุงแก้ไขด้วยการศึกษา ฝึกฝน
วิเคราะห์ ค้นคว้า และทดสอบใหม่ เพื่อวัดพัฒนาการของการใช้ภาษา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น