วันพฤหัสบดีที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ความแตกต่างทางโครงสร้างของภาษาไทยกับภาษาอังกฤษที่มีผลต่อการแปล

ความแตกต่างทางโครงสร้างของภาษาไทยกับภาษาอังกฤษที่มีผลต่อการแปล
โครงสร้าง (Structure) เป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการเรียนรู้ภาษาหรือการใช้ภาษา โครงสร้างเป็นสิ่งที่สามารถบอกเราว่า เราจะนำคำศัพท์มาเรียงกันอย่างไรจึงจะสื่อสารกันอย่างเข้าใจ  ในการแปล  ผู้แปลมักนึกถึงคำศัพท์  เช่น เมื่อแปลไทยเป็นอังกฤษก็จะพยายามค้นหาคำศัพท์ภาษาอังกฤษที่เทียบเท่ากับภาษาไทย แต่หากหาคำศัพท์นั้นไม่ได้ก็จะคิดว่ามีปัญหา แต่นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่ง เพราะปัญหาที่สำคัญคือ ปัญหาทางโครงสร้าง แม้ว่าผู้แปลจะรู้คำศัพท์ แต่ไม่เข้าใจความสัมพันธ์ของคำศัพท์นั้นก็มีโอกาสล้มเหลวได้
1.              ชนิดของคำและประเภททางไวยากรณ์ที่สำคัญ
ชนิดของคำ (parts of speech) เป็นสิ่งสำคัญในโครงสร้าง เพราะการสร้างประโยคจะต้องคำนึงถึงชนิดของคำและประเภทของไวยากรณ์
ประเภททางไวยากรณ์ (grammatical category) หมายถึง ลักษณะสำคัญทางไวยากรณ์ของภาษาใดภาษาหนึ่ง ซึ่งจะสัมพันธ์กับชนิดของคำ ประเภททางไวยากรณ์ที่มีความสำคัญสำหรับการเทียบภาษาไทยกับภาษาอังกฤษมีดังนี้

1.1 คำนาม
ประเภททางไวยากรณ์ที่เป็นลักษณะสำคัญในภาษาอังกฤษ แต่เป็นลักษณะที่ไม่สำคัญในภาษาไทย ได้แก่
1.1.1 บุรุษ (person) หมายถึง ผู้พูด (บุรุษที่ 1) ผู้ฟัง (บุรุษที่ 2) หรือผู้ที่ถูกกล่าวถึง (บุรุษที่ 3) ในภาษาอังกฤษจะแยกสรรพนามตามบุรุษที่ 1 , 2 และ 3 อย่างเด่นชัด และมีการเติม –s  ที่กริยาของประธานบุรุษที่ 3 เอกพจน์
1.1.2 พจน์ (number) บ่งบอกจำนวนเพียงหนึ่งหรือมากกว่าหนึ่ง ในภาษาอังกฤษจะใช้ตัวกำหนด (determiner) ในการบ่งชี้พจน์ เช่น ใช้ a/an นำหน้าคำนามเอกพจน์เท่านั้น  และคำนามพหูพจน์จะเติม –s ท้ายคำศัพท์  แต่ในภาษาไทยไม่มีการบ่งชี้เช่นนั้น
1.1.3 การรก (case) คือ คำนามนั้นสัมพันธ์กับคำอื่นในประโยคอย่างไร ในภาษาอังกฤษการกของคำนามมักแสดงโดยการเรียงคำ ในภาษาไทยไม่มีการเติมหน่วยท้ายคำเพื่อแสดงการก แต่ใช้      การเรียงคำเหมือนการกในภาษาอังกฤษซึ่งจะเรียงคำแตกต่างกัน เช่น หนังสือครูไม่ใช่ ครูหนังสือเหมือนในภาษาอังกฤษ
1.1.4 นามนับได้และนามนับไม่ได้ (countable and uncountable nouns) ในภาษาอังกฤษจะใช้ a/an กับนามนับได้เอกพจน์ และเติม –s กับนามนับได้พหูพจน์  แต่ในภาษาไทยจะใช้ลักษณนามในการบอกจำนวน
1.1.5 ความชี้เฉพาะ (definiteness) ในภาษาอังกฤษมีเครื่องหมายที่บ่งชี้ความชี้เฉพาะ ได้แก่ a/an บ่งความไม่ชี้เฉพาะ (indefiniteness) และ the บ่งความชี้เฉพาะ (definiteness) แต่ในภาษาไทยไม่มีการชี้เฉพาะ
1.2  คำกริยา
1.2.1 กาล (tense) คำกริยาในภาษาอังกฤษต้องแสดงกาลว่าเป็นอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต
1.2.2 การณ์ลักษณะ (aspect) หมายถึง ลักษณะของการกระทำ หรือเหตุการณ์ เช่น การเสร็จสิ้นของการกระทำ การเกิดซ้ำของเหตุการณ์  ในภาษาอังกฤษ การณ์ลักษณะที่สำคัญคือ การณ์ลักษณะดำเนินอยู่ (verb to be + present participle) และการณ์ลักษณะเสร็จสิ้น (verb to have + past participle) การณ์ลักษณะเหล่านี้สามารถเข้าใจได้ง่าย เพราะภาษาไทยก็มีการณ์ลักษณะเช่นกัน
ภาษาอังกฤษถือว่าเรื่องเวลาของเหตุการณ์เป็นสิ่งสำคัญมาก  ประโยคที่พูดหรือเขียนต้องระบุเวลาชัดเจน แต่ภาษาไทยเหตุการณ์จะเกิดขึ้นเมื่อใดไม่เป็นสิ่งสำคัญ ผู้อ่านต้องตีความจากปริบทเอง
1.2.3 มาลา (mood) ใช้กับคำกริยา ทำหน้าที่แสดงให้เห็นว่า ผู้พูดมีทัศนคติต่อเรื่องที่พูดอย่างไร ในภาษาไทยมาลาแสดงโดยกริยาช่วยหรือวิเศษณ์เท่านั้น  ส่วนภาษาอังกฤษจะแสดงโดยการเปลี่ยนรูปคำกริยา
1.2.4 วาจก (voice) เป็นการบ่งชี้ความสัมพันธ์ระหว่างประธานกับการกระทำว่า ประธานเป็นผู้กระทำหรือผู้ถูกกระทำ ในภาษาอังกฤษประโยคส่วนใหญ่จะมีกริยาเป็นผู้กระทำ  ในภาษาไทยกริยาไม่มีการเปลี่ยนรูป แต่มีกริยาช่วยที่บ่งบอกผู้ถูกกระทำได้
1.2.5 กริยาแท้กับกริยาไม่แท้ (finite vs. non-finite) ในภาษาไทยไม่มีความแตกต่างระหว่างกริยาแท้กับกริยาไม่แท้  แต่ในภาษาอังกฤษต้องแสดงให้เห็นชัดว่าคำไหนเป็นคำกริยาแท้หรือคำไหนเป็นคำกริยาไม่แท้
1.3 ชนิดของคำประเภทอื่น
คำบุพบท ในภาษาอังกฤษสามารถห้อยท้ายวลีหรือประโยคได้ แต่ภาษาไทยไม่มีโครงสร้างเช่นนี้
คำวิเศษณ์ ในภาษาอังกฤษต้องใช้กับ verb to be และขยายคำนามที่เป็นคำหลัก เมื่อแปลเป็นไทยอาจมีปัญหา เพราะในภาษาไทยคำขยายจะอยู่หลังคำหลัก
2.หน่วยสร้างที่ต่างกันในภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
                                หน่วยสร้าง (construction) หมายถึง หน่วยทางภาษาที่มีโครงสร้าง
2.1 หน่วยสร้างนามวลี  ในภาษาอังกฤษมีตัวกำหนด (Determiner) อยู่หน้านามเสมอ ถ้าคำนามนั้นเป็นนามนับได้และเป็นนามเอกพจน์ แต่ในภาษาไทยไม่มีตัวกำหนด
2.2 หน่วยสร้างกรรมวาจก (passive constructions) ในภาษาอังกฤษมีรูปแบบชัดเจน แต่ในภาษาไทยมีหลายรูปแบบ และไม่จำเป็นที่จะต้องแปลหน่วยสร้างกรรมวาจกภาษาอังกฤษเป็นกรรมวาจกภาษาไทยเสมอไป
2.3 หน่วยสร้างประโยคเน้น subject (อังกฤษ) กับประโยคเน้น topic (ไทย) ประโยคในภาษาอังกฤษต้องมีประธานเสมอ แต่ในภาษาไทยไม่จำเป็นต้องมีประธาน

2.4 หน่วยสร้างกริยาเรียงในภาษาไทย (serial verb construction) ในภาษาอังกฤษไม่มีหน่วยสร้างกริยาเรียง แต่ในภาษาไทยมีหน่วยสร้างกริยาเรียง ซึ่งประกอบด้วยกริยาตั้งแต่สองคำขึ้นไปเรียงต่อกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น