วันพฤหัสบดีที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2558

Learning Log 4

Learning Log
ครั้งที่ 4
สิ่งที่ได้เรียนรู้นอกห้องเรียน คือการหาความรู้เพิ่มเติม โดยฝึกการอ่านและการคิดวิเคราะห์ จากหนังสือ ความรู้ความเข้าใจเรื่องภาษาเพื่อการแปล จากทฤษฎีสู่การปฏิบัติ (Understanding Language to Translate : from theories to practice)” ซึ่งเนื้อหาในหนังสือจะเกี่ยวกับ ความรู้ทางทฤษฎีที่ใช้ได้กับการแปลและเสนอแนวทางในการปฏิบัติโดยใช้ทฤษฎีเป็นหลัก  ซึ่งเป็นการประมวลจากทฤษฎีภาษาศาสตร์ต่างๆ ของผู้เขียนที่เห็นว่ามีความเกี่ยวข้องกับการแปล เพื่อช่วยให้ผู้อ่านสามารถนำไปใช้วิเคราะห์ตัวบทอย่างมีระบบและสามารถนำไปสังเคราะห์ใช้ในการตัดสินใจเมื่อต้องแก้ปัญหาในการแปล ตลอดจนเพื่อให้มีมุมมองที่หลากหลายในการแก้ปัญหา และสามารถถ่ายทอดความหมายจากการแปลออกมาเป็นรูปภาษาที่แตกต่างจากต้นฉบับ และยังคงความหมายเดิมของต้นฉบับ ซึ่งจะทำให้งานแปลมีลักษณะเป็นธรรมชาติ

 การที่จะเข้าใจสิ่งใดในสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอาจจะจำเป็นต้องรู้จักและเข้าใจความเป็นมาในอดีตของสิ่งนั้น เพื่อเราจะได้รู้และเข้าใจว่า ทำไมสิ่งนั้นจึงมีสภาพหรือลักษณะดังที่เป็นอยู่  ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจสิ่งนั้นดีขึ้นและมีมุมมองที่ต่างไปจากการมองอย่างไม่รับรู้อดีตและความเป็นมา สำหรับในเรื่องการแปล การรับรู้พัฒนาการของการแปลทั้งในด้านที่เป็นกิจกรรมและในด้านวิชาการ อาจช่วยให้ดิฉันเข้าใจเกี่ยวกับการแปลมากขึ้น โดยการแปลเกิดขึ้นครั้งแรกในซีกโลกตะวันตกราว 2,000 กว่าปีที่แล้ว แต่ความเข้าใจเรื่องการแปลตามหลักวิชาการยังไม่เด่นชัด เพราะวิชาการแปลยังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร เมื่อเวลาผ่านไป การแปลก็มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ มีการศึกษาการแปลที่เป็นระบบมากขึ้น และใช้ทฤษฎีภาษาศาสตร์มาเป็นหลักในการวิเคราะห์ ทฤษฎีการแปลจึงมีความเป็น ศาสตร์และมีหลักวิชาการที่เคร่งครัด เพราะนำทฤษฎีภาษาศาสตร์มาใช้ทำให้ความสับสนคลุมเครือของการแปลหมดไป
สำหรับในประเทศไทย งานแปลเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยเป็นการแปลคำสอนหรือหลักธรรมทางศาสนา พงศาวดารของชาติที่มีสัมพันธไมตรีกัน และการแปลบันทึกประวัติศาสตร์ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีการแปลวรรณคดี เช่น เรื่องสามก๊ก เป็นการแปลจากภาษาจีนเป็นภาษาไทย และเมื่อพูดถึงวิธีการแปลแล้ว ในการแปลหลักธรรมทางศาสนา เช่น การแปลพระไตรปิฎกจากภาษาบาลีเป็นภาษาไทย ผู้แปลจะนำต้นฉบับหนึ่งหรือตอนหนึ่งมาแปลเป็นภาษาไทยในรูปของคำประพันธ์ โดยรักษาถ้อยคำ สำนวน และลีลาของภาษาให้เหมือนต้นฉบับ นำต้นฉบับมาแปลเคียงคู่ร้อยสลับกับฉบับแปลไปจนจบ ส่วนการแปลวรรณกรรมตะวันตกเป็นภาษาไทยเริ่มมีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ มีงานแปลบทละครเชกสเปียร์เป็นครั้งแรก ต่อมาก็มีการแปลนวนิยายซึ่งส่วนใหญ่จะมีเนื้อหาให้ความเพลิดเพลิน วิธีการแปลจะรักษาเนื้อเรื่องสำคัญไว้
วิธีการแปลแบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ การแปลคำต่อคำ (word-for-word) และการแปลความหมายต่อความหมาย (sense-for-sense) อีกทั้งการแปลอักษร (literal translation) นั้นเป็นเพียงอีกชื่อหนึ่งของการแปลคำต่อคำ ใช้วิธีการเดียวกัน ผู้แปลจะแบ่งตัวบท (text) ออกเป็นคำๆ และแปลคำแต่ละคำไปเรื่อยๆ ซึ่งถ้าจะเคร่งครัดตามขั้นตอน ในความเป็นจริงอาจทำไม่ได้เสมอไป เช่น หากภาษาในต้นฉบับเป็นภาษาที่ใช้รูปคำติดต่อกัน (agglutinative language) ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะถ่ายทอดโดยใช้คำๆ เดียวเช่นกันในภาษาที่ใช้รูปคำโดด (isolative language) เช่น เมื่อจะแปลต้นฉบับภาษาอังกฤษมาเป็นภาษาไทย การแปลแบคำต่อคำหรือแปลตามตัวอักษร จะไม่สามารถทำได้ทุกกรณี แม้ภาษาอังกฤษจะไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มภาษารูปคำติดต่อ เช่น คำว่า goodness ในภาษาไทยแปลว่า ความดี , incomplete ในภาษาไทยแปลว่า ไม่สมบูรณ์ ซึ่งคำว่า goodness และ incomplete จัดเป็นคำๆ เดียวที่มีหลายพยางค์ และในภาษาไทย จัดให้ ความดีเป็นคำประสมที่เกิดจากการนำคำสองคำมารวมกัน และคำว่า ไม่สมบูรณ์จัดเป็นคำสองคำโดยแท้
ตามแนวคิดของทฤษฎีไวยากรณ์ดั้งเดิม (Traditional Grammar) มีการจำแนกคำออกเป็นชนิดต่างๆ เช่น คำนาม (noun) คำกริยา (verb) คำบุพบท (preposition) เป็นต้น โดยใช้เกณฑ์ความหมายและหน้าที่ในการแยกประเภท ตามแนวคิดของทฤษฎีไวยากรณ์ดั้งเดิมนี้ถือว่า คำ” (word) ในความหมายในแง่ที่เป็น คำศัพท์” (lexical word) หรือบางตำราใช้คำว่า หน่วยศัพท์” (lexeme) หรือที่ต่อมานิยมใช้คำว่า รายศัพท์” (lexical item) เพื่อให้ครอบคลุมตั้งแต่คำศัพท์ที่ประกอบด้วยคำเดียวถึงศัพท์ที่ประกอบด้วยคำมากกว่าหนึ่งคำนั้นเป็นหน่วยพื้นฐานในการศึกษาโครงสร้างประโยค (syntax) และความหมาย (semantics) นอกจากในระดับคำแล้ว หน่วยของภาษาในระดับอื่นๆ เช่น วลี (phrase) ประโยค (sentence) ย่อหน้า (paragraph) จนถึงระดับตัวบท (text) ล้วนมีองค์ประกอบขึ้นมาจากรูปและความหมายทั้งสิ้น
ตัวอย่างเช่น คำว่า ดินสอเป็นคำศัพท์ที่ประกอบขึ้นมาจากรูปพยัญชนะและสระที่เมื่อรวมกันแล้วเขียนว่า ดินสอ ส่วนองค์ประกอบที่เป็น ความหมายนั้นคือสิ่งที่เกิดขึ้นในความคิด สิ่งที่เกิดขึ้นในความคิดหรือในวิชาอรรถศาสตร์ (semantics) เรียกว่า มโนทัศน์ส่วน ความหมายของคำศัพท์แต่ละคำก็คือ สิ่งที่เกิดขึ้นในความคิดของเรา เมื่อเราเห็นคำศัพท์คำนั้นๆ ทุกครั้ง ดังนั้น รูปและ ความหมายจึงมีความเชื่อมโยงกันอย่างมีเหตุผล หากจะแปลคำว่า pencil เป็นภาษาไทย อาจจะหาคำที่มีความหมายเทียบเคียง (equivalent) กับคำว่า pencil ก็คือคำว่า ดินสอหากการแปลเป็นเรื่องของการหาคำที่มีความหมายเทียบเคียงในอีกภาษาหนึ่งที่สามารถทำได้อย่างง่ายๆ เหมือนการแปลคำว่า pencil ประโยคต่อไปนี้ก็อาจจะแปลความหมายได้ง่ายเช่นกัน  My favorite color is blue.
จากประโยคข้างต้น เราสามารถหาคำเทียบเคียงได้ในภาษาไทยทุกคำ ยกเว้นคำว่า blue ซึ่งสามารถแปลได้ 2 ความหมาย คือ ความหมายแรก สีโปรดของฉันคือสีฟ้า กับ สีโปรดของฉันคือสีน้ำเงิน แต่หากมีบริบทเพิ่มเติมหรือมีภาพประกอบบอกให้รู้ว่าสีฟ้าหรือสีน้ำเงิน ผู้แปลอาจจะเลือกคำแปลได้ถูก ดังนั้น ปัญหาการแปลจึงอาจเกิดขึ้นเมื่อคำศัพท์ในภาษาหนึ่งไม่ได้มีความหมายตรงกับความหมายในคำศัพท์อีกภาษาหนึ่งอย่างพอดี เช่น ในกรณีข้างต้นที่คำว่า blue มี 2 ความหมายในภาษาไทย อีกตัวอย่างหนึ่งที่เกี่ยวกับเรื่อง รูปและ ความหมายคือ In fishing, patience is the name of the game. ในกรณีนี้คือ คำหลายคำประกอบขึ้นมาได้หนึ่งความหมาย the name of the game หมายถึง the most important thing or quality needed for a particular activity
จากประโยคข้างต้นหากจะแปลตรงตาม ความหมายของรูปคำแต่ละคำในวลีแยกกัน จะได้ดังนี้ แบบที่หนึ่ง คือ ในการตกปลานั้น ความอดทนเป็นชื่อของการเล่น แต่ถ้าแปลตามความหมายที่เกิดขึ้นจากการประกอบเข้าด้วยกันของคำทั้งหมดในวลี the name of the game จะได้ดังนี้ ในการตกปลานั้น ความอดทนเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด  จะเห็นได้ว่า การแปลในแบบที่หนึ่งจะให้ความสำคัญกับ รูปมากกว่า ความหมายนั่นคือ แปลแยกตามรูปแต่ละคำ ส่วนการแปลในแบบที่สองจะให้ความสำคัญกับ ความหมายที่ประกอบขึ้นมามากกว่า โดยมีผู้เรียกการแปลแบบที่สองนี้ว่า การแปลแบบยึดความหมาย (meaning-based translation) และมีวิธีการแปลอีกวิธีหนึ่งคือ การแปลแบบตามธรรมชาติของภาษาฉบับแปล (idiomatic translation) ซึ่งวิธีการแปลนี้จะแปลโดยใช้รูปภาษาไทยที่เป็นธรรมชาติ อ่านเข้าใจง่าย ไม่ติดขัด และไม่ต้องย้อนกลับมาตรวจสอบกับต้นฉบับอีก
ผู้แปลที่ดีควรมุ่งแปลเพื่อสื่อความหมายเป็นสำคัญโดยใช้ภาษาฉบับแปลให้เป็นไปตามธรรมชาติมากที่สุด ถึงแม้จะเป็นการแปลแบบตามตัวอักษรแต่หากถ่ายทอดความหมายออกมาได้เป็นภาษาแปลก็เป็นที่ยอมรับได้ การแปลไม่ได้เป็นเพียงการแปลเฉพาะตัวภาษาที่เป็นคำๆ หรือที่เป็นประโยคๆ แต่เป็นการแปลตัวบท (text) ที่เกิดจากการสัมพันธ์โยงใยกันระหว่างตัวภาษาเหล่านั้นซึ่งจะทำให้เกิดความหมายขึ้นมาได้ ตัวบทนั้นเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่อยู่รอบๆ ตัวเรา แทรกอยู่อย่างหลากหลายในสถานการณ์ที่นอกเหนือไปจากตัวภาษา (extra-linguistic situation) และขึ้นอยู่กับพื้นฐานทางสังคมและวัฒนธรรมเฉพาะตัวบทนั้น ๆ ดังนั้น การแปลจึงเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสังคมและวัฒนธรรม ผู้แปลจึงจำเป็นต้องมีความรู้ความสามารถไม่เพียงแต่ในด้านภาษา แต่ต้องมีความรู้เรื่องข้อเท็จจริงและข้อมูลเรื่องต่าง ๆ ที่อยู่ในวัฒนธรรมของภาษาต้นฉบับและภาษาแปล
การแปลต่างจากการใช้ความสามารถในการพูดหรือเขียนภาษาต่างประเทศ ทั้งนี้เพราะผู้แปลมีบทบาทและการกระทำที่ต่างจากผู้สื่อสารหรือผู้ที่พูดและเขียนภาษาต่างประเทศ ผู้แปลจะถอดความหมายของข้อความในภาษาหนึ่ง และถ่ายทอดข้อความเดิมเป็นอีกภาษาหนึ่ง ในขณะที่ผู้ส่งสารไม่ได้ทำเช่นนั้น เพราะผู้สื่อสารถอดความหมายของข้อความในภาษาหนึ่งและสื่อสารอีกข้อความหนึ่งตอบกลับไปในภาษาเดิม แต่ยังคงสื่อสารกับผู้รับสารคนเดิม แต่ผู้แปลจะถ่ายทอดข้อความเดิมเป็นอีกภาษาหนึ่งให้กับผู้อ่านอีกคนหนึ่ง ทำให้ผู้แปลและผู้สื่อสารต่างกันโดยสิ้นเชิง ความแตกต่างระหว่าง ผู้แปลและ ผู้สื่อสารในสถานการณ์การแปลภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย และการสื่อสารในภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศ ทั้ง ผู้แปลและ ผู้สื่อสารจะเป็นผู้ที่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาหลัก
หลังจากกล่าวถึงการแปลและงานแปลแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญคือ ผู้แปล ในการแปลจากภาษาหนึ่งมาอีกภาษาหนึ่งนั้นผู้แปลจะต้องมีความรู้ความสามารถด้านภาษาทั้งสองภาษา และมีความรู้จักคุ้นเคยกับวัฒนธรรมทั้งสองด้าน ผู้แปลจำเป็นต้องมีทักษะกว้าง ๆ 4 ด้าน คือ ด้านที่หนึ่ง คือ ทักษะด้านภาษา ผู้แปลจะต้องสามารถวิเคราะห์ภาษาในระดับตัวบทหรือระดับสัมพันธสาร (text analysis or discourse analysis) ซึ่งเป็นภาษาในระดับที่สูงกว่าประโยค การมีทักษะทางภาษาจะช่วยให้สามารถถ่ายทอดคำแปลที่เหมาะสมกับบริบทได้ ด้านที่สอง คือ ความรู้ทั่วไป (general knowledge) การมีความรู้ทั่วไปจะทำให้งานแปลดีขึ้น ผู้แปลจะต้องผสมผสานทักษะด้านภาษากับความรู้เรื่องโลกทั้งด้านกายภาพและจินตภาพ ด้านที่สาม คือ ความสามารถในการทำความเข้าใจ จะทำให้ผู้แปลสามารถตัดสินใจได้ว่าความหมายที่ผู้เขียนต้นฉบับตั้งใจจะสื่อคืออะไร จะต้องทำความเข้าใจได้ทั้งในเรื่องของภาษาและข้อมูล
และในด้านสุดท้าย คือ ความสามารถในการถ่ายทอดความหมายเป็นอีกภาษาหนึ่ง ผู้แปลจำเป็นต้องมีความสามารถในการเขียน ต้องรู้เทคนิควิธีการเขียนซึ่งเป็นความสามารถที่ต่างจากความสามารถของผู้เขียนวรรณกรรมที่จะดึงพลังความคิดสร้างสรรค์มาใช้สื่อทัศนะของตนที่มีต่อโลก แต่ความสามารถในการสร้างสรรค์ของผู้แปลอยู่ที่ความเฉียบคมในการรับรู้ความหมายที่ต้องการสื่อ และอยู่ที่ความหลักแหลมในการถ่ายทอดความหมายนั้นในอีกภาษาหนึ่ง ดังนั้น การแปลคือการใช้ทักษะในการตีความและถ่ายทอดความหมายเป็นอีกภาษาหนึ่ง โดยอาศัยพื้นฐานของความรู้ด้านภาษาและข้อมูล ความโดดเด่นเฉพาะตัวของผู้แปลแต่ละคนจะอยู่ที่ความสามารถในการวิเคราะห์ตัวบทอย่างละเอียดแม่นยำ และความสามารถในการเขียนโดยใช้ภาษาที่สละสลวยและกระชับ

ดิฉันได้เรียนรู้ว่า ควรเห็นประโยชน์ในการนำทฤษฎีภาษาศาสตร์มาเป็นแนวทางที่จะช่วยแก้ปัญหาในการแปล กรหาถ้อยคำที่สามารถถ่ายทอดความหมายให้ถูกต้องที่สุด เรียงร้อยถ้อยคำให้เป็นธรรมชาติมากที่สุด และสละสลวยที่สุดนั้นควรทำอย่างไร เพราะการแปลไม่ใช่เป็นเพียงการถ่ายทอดความหมาย แต่จะเริ่มมีกระบวนการตั้งแต่วิเคราะห์ต้นฉบับเพื่อจับความหมายให้ได้แล้วจึงถ่ายทอดเป็นอีกภาษาหนึ่ง ดิฉันจะต้องคิดอย่างเป็นระบบและเป็นขั้นตอน และดิฉันจะต้องทำความเข้าใจว่า ทฤษฎีภาษาศาสตร์ต่าง ๆ ล้วนพยายามจะอธิบายกลไกและธรรมชาติของภาษา แต่บางทฤษฎีอาจจะเหมาะสมกับทัศนะของคนหนึ่ง แต่อาจจะไม่เหมาะกับอีกคนหนึ่ง 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น