วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

การถ่ายทอดตัวอักษร (Transliteration)

สิ่งที่ได้เรียนรู้
การถ่ายทอดตัวอักษร (Transliteration)
            ในปัจจุบันวิชาภาษาอังกฤษเป็นวิชาหนึ่งที่มีความสำคัญมากสำหรับการเรียนการสอน และมีความจำเป็นมากที่ทุกคนจะต้องหมั่นศึกษาเรียนรู้จนสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ อย่างเช่นการศึกษาการถ่ายทอดอักษรจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษจะทำให้เราสามารถถ่ายทอดสิ่งที่เราพบเห็นต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นชื่อป้าย ชื่อสถาบัน ชื่อตำบล หรือชื่ออำเภอ
            การถ่ายทอดอักษรหมายถึง การนำคำในภาษาหนึ่งมาเขียนด้วยตัวอักษรของอีกภาษาหนึ่งโดยพยายามให้การเขียนในภาษาใหม่นี้ถ่ายทอด เสียงของคำในภาษาเดิมให้ใกล้เคียงที่สุดเท่าที่จะทำได้ การถ่ายทอดตัวอักษรมีบทบาทในการแปลจากภาษาหนึ่งไปอีกภาษาหนึ่งในกรณีต่อไปนี้ กรณีที่หนึ่งคือ เมื่อในภาษาต้นฉบับมีคำที่ใช้แทนชื่อเฉพาะของสิ่งต่าง ๆ เช่น ชื่อคน ชื่อสถานที่ ชื่อแม่น้ำ ภูเขา หรือแม้แต่ชื่อสถาบันต่าง ๆ
            และกรณีที่สองคือ เมื่อคำในภาษาต้นฉบับมีความหมายอ้างอิงถึงสื่อที่เป็นรูปธรรมหรือนามธรรมที่ไม่มีในสังคมของภาษาฉบับแปลจึงไม่มีคำเทียบเคียงให้ (equivalent word) เช่น คำที่ใช้เรียกต้นไม้ สัตว์ และกิจกรรมบางชนิด ความคิดบางประเภทซึ่งมีในภาษาอังกฤษ แต่ไม่มีในภาษาไทยเนื่องจากยังไม่มีการบัญญัติศัพท์ขึ้น ในกรณีเช่นนี้ผู้แปลอาจแก้ปัญหาได้สองประการคือ ประการที่หนึ่ง ใช้วิธีให้คำนิยามหรือคำอธิบายที่บอกลักษณะตรงกับคำเดิมนั้น และประการที่สอง สามารถใช้ทับศัพท์ไปได้เลย
            ตัวอย่างจากกรณีข้างต้นเช่น คำว่า “football” ซึ่งเมื่อจะถ่ายทอดเป็นภาษาไทยอาจทำได้โดยให้คำนิยามว่า ลูกกลม ๆ ทำด้วยหนังหรือใช้ทับศัพท์ว่า ฟุตบอลหรือเช่นคำว่า “supermarket” ซึ่งอาจใช้ ร้านซึ่งขายทั้งของกินของใช้ประจำครัวเรือนหรือใช้คำเดิมว่า ซูเปอร์มาร์เก็ตโดยทั่ว ๆ ไปเรามักจะนิยมใช้คำเดิม จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเขียนคำนั้นในฉบับแปลด้วยตัวอักษรของภาษาฉบับแปล
            จากตัวอย่างข้างต้น ในการทำเช่นนั้นผู้แปลควรยึดหลักปฏิบัติในการถ่ายทอดเสียงของคำดังต่อไปนี้ ข้อแรก คือ ให้อ่านคำนั้นเพื่อให้รู้ว่าคำนั้นออกเสียงอย่างไร ประกอบด้วยเสียง (phone) อะไรบ้างแล้วหาตัวอักษรในภาษาฉบับแปลที่มีเสียงใกล้เคียงกันมาเขียนแทนเสียงนั้น ๆ ข้อที่สอง คือ ภาษาทุกภาษาจะมีเสียงพยัญชนะและสระตรงกันเป็นส่วนมาก และผู้แปลจะหาตัวอักษรมาเขียนแทนได้เลย เช่น การใช้ แทนเสียงแรกในคำว่า “Paul” เป็นต้น
            จากประเด็นข้างต้นจะมีเสียงจำนวนหนึ่งซึ่งไม่มีตัวอักษรที่แทนเสียงตรงกับในฉบับแปล ในกรณีนี้ให้หาตัวอักษรตัวหนึ่งหรือ 2 ตัว เรียงกันที่มีเสียงใกล้เคียงที่สุดมาเขียนแทน เช่น การใช้ แทนเสียงแรกของชื่อ “Thomas” และ “kh” แทน เป็นต้น เสียงบางประเภทอาจจะไม่มีใช้ในอีกภาษาหนึ่งเลยหรือมีก็เทียบเคียงกันไม่ได้ เช่น เสียงหนักเบา (stressed, unstressed) ในคำภาษาอังกฤษซึ่งไม่มีภาษาไทย หรือมีเสียงวรรณยุกต์ (tone) ประจำพยางค์ซึ่งมีในภาษาไทยแต่ไม่มีในภาษาอังกฤษ
            กรณีดังกล่าวไม่จำเป็นต้องคิดหาเครื่องหมายมาใช้ในการเขียน ดังนั้น การถ่ายทอดเสียงของคำภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยไม่จำเป็นต้องมีเครื่องหมายบอกเสียงหนักเบา และไม่จำเป็นต้องใช้วรรณยุกต์เพื่อแทนเสียงสูงต่ำ ข้อที่สามคือ เมื่อกำหนดตัวอักษรตัวใดตัวหนึ่งแทนเสียงใดเสียงหนึ่งแล้วให้ใช้ตัวนั้นตลอดไป อย่าเปลี่ยนไปมาไม่แน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบทแปลบทเดียวกันต้องใช้หลักการถ่ายทอดอย่างเดียวตลอดไป
            และข้อที่สี่ คือ สำหรับการยืมคำศัพท์มาใช้โดยเขียนลงเป็นภาษาในฉบับแปล ถ้าคำนั้นยังไม่เป็นที่แพร่หลายให้วงเล็บคำเดิมในต้นฉบับไว้ด้วย บัญชีต่อไปนี้มีไว้สำหรับผู้แปลระหว่างภาษาไทยและภาษาอังกฤษใช้เป็นแนวทางในการถ่ายทอดอักษร คือ บัญชีที่หนึ่ง สำหรับการถ่ายทอดจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ เช่น ตัวอักษรไทย คือ ก ตัวอักษรอังกฤษ คือ ต้นพยางค์ k-, ท้ายพยางค์ –k เช่น กานดา – Kanda, ตัวอักษรไทย คือ ง ตัวอักษรอังกฤษ คือ ต้นพยางค์ ng-, ท้ายพยางค์ –ng เช่น งาม – Ngarm, ทอง – Thong
            จากการถ่ายทอดอักษรภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษนี้ทำให้ดิฉันได้ทราบการเทียบเคียงอักษรทั้งไทยและอังกฤษ เมื่อดิฉันจะทอดเสียงภาษาไทยมาเป็นภาษาอังกฤษ ดิฉันก็จะสามารถทำได้โดยง่ายและถูกต้องตามหลักการถ่ายทอดตัวอักษรอีกด้วย และที่สำคัญในการเรียนรู้การถ่ายทอดอักษรนี้ทำให้ดิฉันสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการถอดตัวอักษรสิ่งที่ดิฉันพบเห็นในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย
             

    

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น