วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

การแปลบันเทิงคดี (The translation of Literary Work)

สิ่งที่ได้เรียนรู้
การแปลบันเทิงคดี (The translation of Literary Work)
            บันเทิงคดี หมายถึง งานเขียนทุกประเภทที่ไม่อยู่ในประเภทของงานวิชาการและสารคดี ทั้งนี้หมายรวมถึงงานร้อยแก้วและร้อยกรอง บันเทิงคดีมีหลายรูปแบบ ได้แก่ นิทาน นวนิยาย เรื่องสั้น บทเพลง บทกวี บันเทิงคดีเป็นงานเขียนที่มีรูปแบบแตกต่างจากสารคดี ทั้งในด้านเนื้อหาและองค์ประกอบทางภาษา ในด้านเนื้อหานั้นบันเทิงคดีอาจเสนอเนื้อหาสาระที่มีความเป็นจริงบ้าง เช่น การเล่าหรือบรรยายชีวิตความเป็นอยู่ตามธรรมชาติของสิ่งต่าง ๆ ของโลกหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
            อย่างไรก็ตามผู้เขียนจะสอดแทรกทัศนะ ความรู้สึกหรือประสบการณ์ของผู้เขียนในงานเขียนกล่าวคือ การถ่ายทอดสาระความรู้ในงานบันเทิงคดีมีความแตกต่างจากการเสนอสิ่งเหล่านี้ในสารคดี ผู้เขียนบันเทิงคดีมีจุดประสงค์หลักคือ ให้ความบันเทิงแก่ผู้อ่าน ดังนั้นบันเทิงคดีอาจเป็นการถ่ายทอดสิ่งที่เป็นจินตนาการของผู้เขียนหรือเป็นการถ่ายทอดจินตนาการของผู้เขียนผสมผสานกับความจริงของปรากฏการณ์ในสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ของสังคม ภาษาที่ใช้ในบันเทิงคดีและสารคดีจึงมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ผู้แปลและผู้เรียนแปลจึงต้องศึกษาและฝึกแปลภาษาเฉพาะของบันเทิงคดีอย่างจริงจัง
            ในการแปลบันเทิงคดีผู้แปลต้องคำนึงถึงองค์ประกอบสำคัญ 2 ประการคือ องค์ประกอบด้านเนื้อหาและองค์ประกอบที่ไม่ใช่เนื้อหา ซึ่งหมายถึงอารมณ์และท่วงทำนองของงาน องค์ประกอบด้านอารมณ์และท่วงทำนองจะสะท้อนออกในองค์ประกอบของภาษา ดังนั้นองค์ประกอบด้านภาษาจึงเป็นประเด็นที่ผู้แปลจะต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการแปลงานบันเทิงคดี เมื่อกล่าวถึงองค์ประกอบด้านภาษาองค์ประกอบด้านภาษาที่เกี่ยวข้องกับการแปลงานบันเทิงคดีสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มได้แก่ การใช้สรรพนามและคำเรียกบุคคล การใช้คำที่มีความหมายแฝง และภาษาเฉพาะวรรณกรรม
            ภาษาที่มีความหมายแฝง คำศัพท์ในภาษาใด ๆ ประกอบด้วยคำศัพท์ที่มีความหมายตรงตัวหรือความหมายตามตัวอักษร เช่น chicken หมายถึง ไก่ แต่มีคำศัพท์จำนวนมากซึ่งมีความหมายตรงตัวแล้วยังมีความหมายแฝงอีกด้วย เช่น ไก่ ความหมายตรงตัวคือ สัตว์ปีกชนิดหนึ่ง แต่ความหมายแฝงคือหญิงสาวที่อ่อนต่อโลก ในการแปลงงานบันเทิงคดีผู้แปลจะต้องให้ความใส่ใจต่อคำศัพท์ทุกตัว ทั้งนี้จะต้องพิจารณาว่าคำศัพท์นั้นมีความหมายตรงตัวหรือมีสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากความหมายตรงตัว ดังนั้นผู้แปลจะต้องใช้ความสามารถ ปฏิภาณไหวพริบ จินตนาการ รวมทั้งใช้วิจารณญาณเพื่อตัดสินว่าคำศัพท์ที่พบในงานชิ้นหนึ่ง ๆ มีความหมายแฝงใด ๆ อยู่บ้าง
            นิวมาร์คได้ให้คำแนะนำว่านักแปลควรค้นหาความหมายของศัพท์ทุกตัว โดยเฉพาะคำศัพท์ที่นักแปลรู้จัก ทั้งนี้เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการแปล ในการแปลใด ๆ หากผู้แปลไม่ได้พิจารณาต้นฉบับอย่างรอบคอบแม้แต่นักแปลอาชีพก็อาจวินิจฉัยความหมายของคำหรือวลีผอดพลาดได้ วิธีหนึ่งที่จะทำให้ไม่เกิดความผิดพลาด คือ ทุกครั้งที่จะเริ่มปฏิบัติการแปลผู้แปลควรอ่านข้อความในต้นฉบับโดยตลอดจนจบอย่างน้อย 1 ครั้ง เพื่อเป็นการทำความเข้าใจเนื้อหาโดยรวม ในขั้นการอ่านนี้ผู้แปลไม่ควรหาความหมายของคำศัพท์ใด ๆ แต่อาจทำเครื่องหมายบางอย่างเช่น ขีดเส้นใต้หรือใส่ดอกจันไว้ที่ข้อความที่ไม่เข้าใจถ่องแท้
            นอกจากนี้ ในกระบวนการแปลงานทุกประเภท ผู้แปลไม่ควรใช้พจนานุกรมสองภาษาเพียงอย่างเดียว ผู้แปลควรใช้พจนานุกรมภาษาเดียว เช่น ไทย-ไทย, อังกฤษ-อังกฤษ หลาย ๆ เล่ม อีกทั้งยังต้องค้นคว้าหาความรู้จากหนังสืออ้างอิงอื่นประกอบการแปลด้วย เช่น ปทานุกรมสาขาต่าง ๆ พจนานุกรมเฉพาะสาขาและสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่นักวิชาการด้านการแปรแนะนำคือ นักแปลไม่ควรใช้คำศัพท์ที่พบเฉพาะในพจนานุกรมสองภาษา หากคำศัพท์ตัวนั้นไม่ปรากฏในพจนานุกรมภาษาเดียว ทั้งนี้เนื่องจากพจนานุกรม 2 ภาษามักมีคำศัพท์ที่ล้าสมัยอยู่ด้วย
            บันเทิงคดีมีรูปแบบภาษาเฉพาะหลายชนิดซึ่งผู้แปลจะต้องรอบรู้และนำมาใช้อย่างเหมาะสมรูปแบบเฉพาะที่ใช้ในบันเทิงคดีซึ่งเรียกว่าโวหารภาพพจน์ เช่น โวหารอุปมาอุปไมย โวหารอุปลักษณ์ โวหารเย้ยหยันเสียดสี โวหารที่ใช้ส่วนหนึ่งแทนทั้งหมด โวหารที่กล่าวเกินเกินจริง เป็นต้น ภาษากลุ่มนี้มีลักษณะเด่นประการหนึ่งคือ การสะท้อนวัฒนธรรมด้านต่าง ๆ ลงไปในตัวภาษา ได้แก่ วัฒนธรรมการกินอยู่แต่งกาย การงานอาชีพ รวมทั้งภูมิอากาศ ดินฟ้า ความเชื่อ ศาสนา เศรษฐกิจ การเมือง ซึ่งกล่าวอีกนัยหนึ่งคือภาษากลุ่มนี้โยงใยทุกแง่มุมของวัฒนธรรมและอารยธรรมของมนุษย์โดยถ่ายทอดผ่านทางภาษา
            จากการศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับการแปลบันเทิงคดี ผู้แปลจะต้องให้ความสำคัญกับคำศัพท์ทุกตัว ผู้แปลจะต้องพิจารณาว่าคำศัพท์นั้นมีความหมายตรงตัวหรือมีสิ่งอื่นที่อยู่นอกเหนือจากความหมายตรงตัวนี้ด้วยหรือไม่ ผู้แปลจะต้องใช้ความสามารถ ไหวพริบ จินตนาการ รวมทั้งใช้วิจารณญาณในการตัดสินว่าคำศัพท์ที่พบในงานแปลชิ้นนั้นมีความหมายแฝงอยู่หรือไม่ รวมไปถึงผู้แปลควรค้นหาความหมายของคำศัพท์ทุกตัวโดยเฉพาะคำศัพท์ที่ผู้แปลรู้จักเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดในการแปล

            

ภาษาไทยที่เป็นธรรมชาติ

สิ่งที่ได้เรียนรู้
ภาษาไทยที่เป็นธรรมชาติ
            ภาษา  หมายถึง  เสียงที่เป็นคำพูดหรือถ้อยคำสำนวนที่ใช้พูดกัน  รวมทั้งกิริยาอาการที่แสดงออกมาแล้วสามารถทำความเข้าใจกันได้ถูกต้องตรงกัน  แบ่งออกเป็น  2 ประเภทคือ ภาษาที่เป็นถ้อยคำหรือวัจนภาษา  หมายถึง ภาษาที่ใช้เสียงพูด หรือตัวอักษรที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นมา และภาษาที่ไม่เป็นถ้อยคำหรือ อวัจนภาษา  หมายถึง ภาษาที่เกิดจากกิริยาอาการต่างๆ  ที่แสดงออกมาทางร่างกาย หรือสัญลักษณ์ที่มองเห็นแล้วผู้อื่นเกิดความเข้าใจความหมายได้โดยไม่ต้องอาศัยภาษาพูดหรือภาษาเขียนเป็นสื่อ ภาษานั้นเป็นเครื่องมือสื่อความคิดระหว่างมนุษย์มาแต่โบราณ  ถ้าไม่มีภาษาสังคมมนุษย์ย่อมไม่สามารถพัฒนามาจนถึงปัจจุบันได้ 
            การเขียนบทแปลที่ดีต้องเขียนด้วย ภาษาไทยที่เป็นธรรมชาติซึ่งหมายถึงภาษาเขียน ภาษาพูดที่คนไทยทั่วไปใช้กันจริงในสังคมไทยทั้งนี้เพื่อให้คนไทย ผู้อ่านผู้ใช้งานสามารถเข้าใจได้ทันที ไม่มีอุปสรรคในการรับสารที่สื่อจากบทแปล องค์ประกอบที่นักแปลต้องพิจารณาในการเขียนบทแปลด้วยภาษาไทยที่เป็นธรรมชาติ ได้แก่ องค์ประกอบย่อยของการแปล คือ คำ ความหมาย การสร้างคำ และสำนวนโวหาร ดังต่อไปนี้ คำและความหมาย คำบางคำมีความหมายแตกต่างกันหลายอย่างมีทั้งความหมายตรงและความหมายแฝงหรือความหมายเชิงเปรียบเทียบ เช่น เบี้ยว ความหมายตรงคือ ลักษณะของสิ่งที่กลม แต่ไม่กลม บิด ไม่ตรง และความหมายแฝงคือ ไม่ซื่อสัตย์ ทรยศ หักหลัง เชื่อถือไม่ได้
            คำบางคำมีความหมายต่างกันไปตามยุคสมัย เช่น ในสมัยก่อน ๆ มีความหมายอย่างหนึ่ง แต่ในปัจจุบันแตกต่างไปเป็นอีกอย่างหนึ่ง บางครั้งก็ตรงกันข้ามกัน บางครั้งก็มีความหมายไปในทางที่ดี บางครั้งก็มีความหมายแย่ลง เช่น กู เดิมเป็นคำสามัญที่ใช้พูดจากันทั่ว ๆ ไป ปัจจุบันเป็นคำหยาบ มีความหมายเลวลงและจำกัดแคบลง อาจจะใช้ได้ในกลุ่มเพื่อนสนิทเท่านั้น หรือคำว่า ไพร่ เดิมหมายถึงชาวเมือง พลเมืองสำคัญ ปัจจุบันหมายถึง คนที่ขาดมารยาท คนไม่สุภาพ คนเลว ในการพูดหรือการเขียนที่ต้องการแสดงอารมณ์ อาจจะนำคำที่มีความหมายไม่ดีมาใช้ให้เกิดความหมายที่ดีขึ้นก็ได้ เช่น สวยอย่างร้าย หมายความว่า สวยมาก ใจดีเป็นบ้า หมายความว่า ใจดีมาก
            การสร้างคำกริยา ในที่นี้จะกล่าวถึงการเสริมท้ายคำกริยาด้วยคำกริยา ซึ่งบางคนอาจจะเห็นว่าทำให้ภาษายุ่งยาก อย่างไรก็ตามบางครั้งก็ชัดเจนขึ้น ถ้าเราเข้าใจความหมายที่แท้จริงดั้งเดิมของมัน คำกริยาที่นำมาเสริมท้ายนั้น ได้แก่ ขึ้น ลง ไป มา (ซึ่งเป็นอย่างเดียวกันในภาษาขอมโบราณ ภาษาไทยคงนำวิธีการนี้มาจากขอมโบราณก็ได้) โดยไม่มีความหมายเดิมเหลืออยู่เลย แต่กลายเป็นคำบอกปริมาณ และทิศทาง ดังนี้ ทำขึ้น บอกประมาณว่ามาก, ชัดเจน เช่นเดียวกับ หัวเราะขึ้น เกิดขึ้น มีขึ้น พูดขึ้น ปรากฏขึ้น อย่างไรก็ตาม โปรดระวัง ถ้าใช้ ไป-มา ขึ้น-ลง คู่กัน กลับหมายถึงการทำซ้ำ ๆ บ่อย ๆ เช่น เดินไปเดินมา คือ เดินซ้ำหลายหน คิดไปคิดมา คือ คิดซ้ำหลายหน
            การเข้าคู่คำ คือ การนำคำหลายคำมาเข้าคู่กันเพื่อให้ได้คำใหม่โดยมีความหมายใหม่หรือมีความหมายคงเดิม ดังนี้ คู่คำพ้องความหมายจะเป็นคำในภาษาเดียวกันหรือคำต่างประเทศหรือคำภาษาถิ่นก็ได้ ส่วนมากความหมายจะคงเดิม เช่น ทรัพย์สิน (มาจากสันสกฤตและจีน) หมายความว่า ร่ำรวย , เสื่อสาด (ไทยกลางและไทยถิ่น) หมายความว่า เครื่องปูลาด คู่คำที่มีความหมายตรงข้าม ส่วนมากจะได้ความหมายใหม่ เช่น ผู้ใหญ่ผู้น้อย (ใหญ่ ตรงข้ามกับ น้อย) หมายความว่า ทุกคน และคู่คำที่มีความหมายต่างกัน มักจะได้คำใหม่ที่มีเค้าความหมายเดิมเหลืออยู่ เช่น ลูกเมีย หมายความว่า ครอบครัว พี่ป้าอาน้า หมายความว่า ญาติ
            สำหรับการแปลขั้นสูงผู้แปลจะต้องรู้จักสำนวนการเขียนและการใช้โวหารหลาย ๆ แบบ มิฉะนั้นจะทำให้เข้าใจความหมายไม่ชัดเจน บางครั้งอาจเข้าใจผิดเป็นตรงกันข้ามก็ได้ การอ่านมากจะทำให้คุ้นกับสำนวนโวหารแบบต่าง ๆ ในวรรณกรรมชั้นดีผู้เขียนมักจะใช้สำนวนโวหารแปลก ๆ ซับซ้อนเพื่อให้ผู้อ่านเกิดความบันเทิง แต่ถ้าผู้อ่านไม่เข้าใจก็จะได้ผลตรงกันข้าม เช่น สำนวนที่ประกอบด้วยคำว่า ให้ในสำนวนจะไม่มีความหมายเหมือนเป็นคำกริยา แต่จะมีความหมายอย่างอื่น เช่น กับ แก่ คำที่ตามหลัง ให้ทำหน้าที่เป็นกรรมรอง เช่น พ่อค้าขายของให้ลูกค้า คุณพ่อซื้อของขวัญให้ลูก
            สำนวนที่มีคำซ้ำ คำซ้ำในที่นี้หมายถึงทั้งคำเดียวกันซ้ำกัน (ซ้ำรูป) และคำที่มีความหมายเหมือนกัน (ซ้ำความหมาย) การใช้คำซ้ำมีทั้งดีแงะเสียปะปนกัน สำหรับข้อดีของการใช้คำซ้ำ คือ เพื่อความไพเราะ คำสั้น ๆ และเสียงห้วน ถ้ามีการซ้ำรูปจะทำให้เสียงทอดยาว อ่อนสลวย, เพื่อให้มีความหมายอ่อนลง เช่น พูดดี ๆ นั่งเฉย ๆ มักจะใช้กับประโยคคำสั่งเพื่อคลายความบังคับลงให้กลายเป็นขอร้อง บางครั้งการใช้คำซ้ำในกรณีเช่นนี้แสดงความไม่หนักแน่น ไม่แน่ใจ, เพื่อให้ได้คำใหม่ ๆ ใช้ เช่น ความคิดสร้างสรรค์ หมายถึง ไม่ลอกแบบใครคิดขึ้นเอง และเพื่อแสดงว่ามีจำนวนมาก ปริมาณมาก หรือเป็นพหูพจน์ เช่น เด็ก ๆ มากินขนม
            สำหรับข้อเสียของการใช้คำซ้ำรูปและซ้ำความหมายมีอยู่อย่างเดียวคือ กลายเป็นฟุ่มเฟือยโดยไม่จำเป็น การใช้คำซ้ำซ้อนนี้แสดงฝีมือของนักเขียนหรือกวีว่าประณีตหรือหยาบ สูงหรือต่ำ สำนวนไทยนิยมการใช้คำซ้ำคำซ้อนมาแต่โบราณ ใครซ้ำซ้อนคำได้งดงามก็เป็นที่นับถือว่าเก่ง แต่ถ้าพลาดก็จะกลายเป็นฟุ่มเฟือย เช่น ตัวอย่างสำนวนที่ดี เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า บ้านช่องห้องหอ อาคารบ้านเรือน ห้อยโหนโยนตัว ส่วนตัวอย่างสำนวนที่ฟุ่มเฟือย สำนวนต่อไปนี้ถ้าตัดคำซ้ำออกก็จะได้ความดังเดิม มีความไพเราะเท่าเดิม เขารวยมีเงินมาก คนแก่อายุมาก คืนเดือนเพ็ญพระจันทร์เต็มดวง
            โวหารภาพพจน์เป็นโวหารที่นักแปลจำเป็นต้องทำความเข้าใจให้ถ่องแท้คือ โวหารภาพพจน์ (Figures of Speech) ทั้งนี้เพราะนักเขียนหรือกวีมักจะสร้างภาพพจน์อย่างกว้างขวางสลับซับซ้อน ถ้าผู้อ่านมีประสบการณ์น้อยก็จะไม่เข้าใจ โวหารภาพพจน์จะมีหลายลักษณะดังนี้ โวหารอุปมา (Simele) โวหารภาพลักษณ์ (Metaphor) โวหารเย้ยหยัน (Irony) โวหารขัดแย้ง (Contrast หรือ Antitheses) โวหารที่ใช้ส่วนหนึ่งแทนทั้งหมด (Metonymy) โวหารบุคคลาธิษฐาน (Personification) และโวหารที่กล่าวเกินจริง (Hyperbole)
            จากโวหารที่กล่าวมาข้างต้นดิฉันจะอธิบายจากโวหารแรกคือ โวหารอุปมา (Simele) คือ การสร้างภาพพจน์โดยการเปรียบเทียบ โดยมีจุดมุ่งหมายจะชี้แจงอธิบาย พูดพาดพิงถึง หรือเสริมให้งดงามขึ้น การเปรียบเทียบแบบนี้มักจะใช้คำเชื่อม คือ เหมือนราวกับ ดุจ ประดุจ ประหนึ่ง และอื่น ๆ ที่มีความหมายอย่างเดียวกัน โวหารแบบนี้จะเป็นวลีสั้น ๆ หรือเป็นทั้งประโยคหรือเป็นโคลงกลอนทั้งบท เช่น หน้าแจ่ม ดัง ดวงจันทร์วันเพ็ญ
            โวหารต่อมาคือ โวหารภาพลักษณ์ (Metaphor) คือ การเปรียบเทียบความหมายโดยนำความเหมือนและไม่เหมือนของสิ่งที่จะเปรียบเทียบมากล่าว การเปรียบเทียบแบบนี้แสดงความเก่งของกวี เพราะกวีจะเลี่ยงการใช้คำพื้น ๆ ไปสู่คำใหม่ที่น่าตื่นตาตื่นใจกว่า แต่ก็ต้องมีร่องรอยเดิมอยู่ในคำใหม่นั้น เช่น วัยไฟ (วัยรุ่น) วินัยเหล็ก (วินัยที่ต้องปฏิบัติอย่างเข้มแข็ง) โวหารต่อมาคือ โวหารเย้ยหยัน (Irony) คือ การใช้คำด้วยอารมณ์ขัน เพื่อยั่วล้อ เย้ยหยัน หรือชี้ให้เห็นข้อบกพร่อง
             โวหารต่อมาคือ โวหารขัดแย้ง (Contrast หรือ Antitheses) คือการใช้คำที่มีความหมายตรงข้ามกันมาเรียงต่อกันโดยรักษาสมดุลไว้ เช่น รักษาให้จำนวนคำเท่ากันทั้งสองฝ่าย เช่น คนสูงตำหนิตัวเอง คนต่ำตำหนิผู้อื่นโวหารขัดแย้งอีกอย่างหนึ่งเรียกว่า paradox เป็นการกล่าวโดยขัดแย้งกับความจริงหรือความเชื่อและความคิดเห็นของบุคคลทั่วไปเป็นคำกล่าวที่เหมือนจะขัดกันเอง แต่ถ้าจะพิจารณาให้ลึกซึ้งแล้วจะเห็นว่าเป็นความจริง
            โวหารต่อมาคือ โวหารที่ใช้ส่วนหนึ่งแทนทั้งหมด (Metonymy) ได้แก่การนำคุณสมบัติเด่นของสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาใช้แทนที่จะเอ่ยนามสิ่งนั้นออกมาตรง ๆ รวมทั้งส่วนประกอบของสิ่งของและของใช้ประจำบุคคลโดยไม่กล่าวชื่อของสิ่งของหรือบุคคลนั้น ๆ เช่น ปากกาคมกว่าดาบ โวหารต่อมาคือ โวหารบุคคลาธิษฐาน (Personification) คือการนำสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่มีชีวิต รวมทั้งความคิด การกระทำ และนามธรรมอื่น ๆ มากล่าวเหมือนเป็นบุคคล การใช้บุคคลาธิษฐานนี้นับเป็นส่วนหนึ่งของโวหาร Metaphor ดังกล่าวแล้วเป็นวิธีที่ใช้มากที่สุดในงานร้อยกรอง และโวหารสุดท้ายคือ โวหารที่กล่าวเกินจริง (Hyperbole) โวหารเช่นนี้มีจุดประสงค์ที่จะเน้นให้เห็นความสำคัญ ชี้ให้เห็นชัดเจนและเด่น และใช้เพื่อแสดงอารมณ์ที่รุนแรง ไม่ได้อธิบายข้อเท็จจริง เช่น ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุทร ไม่สิ้นสุดความรักสมัครสมาน
            เมื่อกล่าวถึงโวหารแต่ละโวหารข้างต้นแล้ว ลักษณะสำนวนโวหารที่ดีมีดังต่อไปนี้ ถูกหลักภาษา คือ ไม่ขัดกับไวยากรณ์, ไม่กำกวม สำนวนโวหารที่ดีจะชัดเจน แม่นตรง ไม่ชวนให้เข้าใจไขว้เขว, มีชีวิตชีวา คือ ไม่เนิบนาบ เฉื่อยชา ยืดยาด แต่มีชีวิตชีวา เร้าใจ ชวนให้ผู้อ่านรู้สึกกระตือรือร้น, สมเหตุสมผล น่าเชื่อถือ มีเหตุผลรอบคอบ ไม่มีอคติ ไม่สร้างความหลงผิดให้แก่ผู้อ่าน เช่น การบรรยายความฉลาดของสัตว์ที่มีเหนือกว่าคน และคมคายเฉียบแหลม คือ การใช้คำพูดที่เข้มข้น หนักแน่น แฝงข้อคิดที่ฉลาด โดยใช้ถ้อยคำไม่กี่คำ สำนวนแบบนี้มักจะได้แก่สุภาษิต คำคม คำพังเพย เป็นต้น
            จากการเรียนรู้ภาษาไทยที่เป็นธรรมชาติทั้งองค์ประกอบย่อยของการแปล ไม่ว่าจะเป็นคำ ความหมาย การสร้างคำ และสำนวนโวหาร ผู้แปลจะต้องรู้จักการเลือกใช้คำที่มีความหมายสอดคล้องกับต้นฉบับ ผู้แปลจะต้องทำความเข้าใจความหมายของคำจากต้นฉบับให้เข้าใจอย่างชัดเจน เพราะคำแต่ละคำจะมีความหมายแตกต่างกัน และจะแตกต่างไปตามยุคสมัย สิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบที่นักแปลจะต้องพิจารณาในการเขียนบทแปลด้วยภาษาไทยที่เป็นธรรมชาติ


หลักการแปลวรรณกรรม

สิ่งที่ได้เรียนรู้
หลักการแปลวรรณกรรม
            วรรณกรรม หมายถึง หนังสือที่แต่งขึ้นด้วยความคิดสร้างสรรค์ไม่ว่าจะใช้วิธีร้อยแก้วหรือร้อยกรอง ไม่ว่าจะเป็นผลงานของกวีโบราณหรือปัจจุบัน ซึ่งรวมถึงสิ่งที่เราเรียกว่า วรรณคดีด้วย ตามปกติวรรณกรรมเป็นงานเขียนที่จัดไว้ในประเภท บันเทิงคดีงานแปลทางบันเทิงคดีที่จะนำมากล่าวถึงในที่นี้ ได้แก่ งานแปลนวนิยาย เรื่องสั้น นิทาน นิยาย บทละคร การ์ตูน บทภาพยนตร์ บทเพลง เป็นวรรณกรรมที่ผู้อ่านมุ่งหวังที่จะได้รับความบันเทิงเพลิดเพลินเป็นส่วนใหญ่ ส่วนที่จะค้นหาความรู้ ข้อมูลต่าง ๆ นั้นเป็นจุดประสงค์รองลงมา
            การแปลวรรณกรรมสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การรักษาความหมายเดิมไว้ให้ครบถ้วนถูกต้องไม่เปลี่ยนแปร ไม่กลายเป็นตรงกันข้าม รักษารสของความหมายเดิมไว้ให้เป็นรสเดียวกัน เช่น รสรัก เศร้าโศก ขมขื่น เบื่อหน่าย สงสัย หวาดระแวง ริษยา ชื่นชม ห่วงใย แค้นใจ ซาบซึ้งในความดี สำนึกในบุญคุณ ความมีไมตรีจิต ความอ่อนโยน เป็นต้น การรักษาความหมายเดิมกับการรักษารสของความหมายเดิมเป็นหัวใจของการแปลงานบันเทิงคดี ผู้แปลต้องใช้ศิลปะที่ละเอียดลึกซึ้ง เพราะงานแปลประเภทนี้เป็นงานศิลปะอย่างแท้จริง
            ต่อมา หลักการแปลนวนิยาย นวนิยายแปลเป็นหนังสือที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในทุกประเทศและทุกกาลสมัย ผู้แปลมีความสำคัญเทียบเท่ากับผู้แต่ง ในบางครั้งมีความสำคัญยิ่งกว่าผู้แต่ง เช่น เสถียรโกเศศ-นาคะประทีป ได้รับความสำเร็จในการแปลเรื่องกามนิต จนได้รับการยกย่องอย่างสูงทั่วไปในทุกวงการหนังสือของไทย งานแปลนวนิยายและหนังสือประเภทบันเทิงคดีมักจะนำชื่อเสียงเกียรติคุณมาสู่ผู้แปล ดังนั้นงานแปลประเภทนี้จึงมีความสำคัญมากในวงการแปล คุณค่าของวรรณกรรมอยู่ที่ศิลปะในการใช้ภาษาของผู้แปลที่สามารถค้นหาถ้อยคำสำนวนสละสลวยและสอดคล้องกับต้นฉบับเป็นอย่างดี
            ในการแปลผู้แปลจะต้องแปลชื่อเรื่องของวรรณกรรม ชื่อของหนังสือหรือภาพยนตร์มีความสำคัญเป็นอันดับแรก เพราะผู้แต่งได้พิถีพิถันตั้งชื่องานของเขาอย่างดีที่สุด เพื่อบอกคุณลักษณะของงานเพื่อเร้าใจผู้อ่านผู้ชมให้สนใจและติดตามผลงาน และเพื่อบอกผู้อ่านเป็นนัย ๆ ว่าผู้เขียนต้องการสื่ออะไรต่อผู้อ่าน หลักการแปลชื่อเรื่องตามที่นักแปลมืออาชีพปฏิบัติอยู่มี 4 แบบ ได้แก่ แบบที่ 1 ไม่แปล แต่ใช้ชื่อเดิมเขียนเป็นภาษาไทยด้วยวิธีถ่ายทอดเสียงหรือถ่ายทอดตามตัวอักษร แบบที่ 2 แปลตรงตัว ถ้าชื่อต้นฉบับมีความสมบูรณ์ครบถ้วนจะใช้วิธีแปลตรงตัวโดยรักษาคำและความหมายไว้ด้วยภาษาไทยที่ดีและกะทัดรัด
            แบบที่ 3 แปลบางส่วนดัดแปลงบางส่วน จะใช้วิธีนี้ต่อเมื่อชื่อต้นฉบับห้วนจนเกินไป ไม่ดึงดูด และไม่สื่อความหมายมากเพียงพอ เช่น Poor People รักของผู้ยากไร้, Animal Farm การเมืองของสัตว์, The Old Man and the Sea เฒ่าผจญทะเล เป็นต้น และแบบที่ 4 ตั้งชื่อใหม่โดยการตีความชื่อเรื่องและเนื้อเรื่อง ผู้แปลต้องใช้ความเข้าใจวิเคราะห์ชื่อเรื่องและเนื้อเรื่องจนสามารถจับประเด็นสำคัญและลักษณะเด่นของเรื่อง และจุดประสงค์ของผู้เขียนเรื่องได้ จึงจะสามารถตั้งชื่อใหม่ที่ดีได้ เช่น Gone with the Wind วิมานลอย, The Jungle ชีวิตเปลี่ยน, The Great Gatsby รักเธอสุดที่รัก เป็นต้น
            หลักการแปลขั้นต่อมา คือ การแปลบทสนทนา สิ่งที่เป็นปัญหาของการแปลนวนิยายคือบทสนทนา หรือถ้อยคำโต้ตอบกันของตัวละคร ซึ่งใช้ภาษาพูดหลายระดับแตกต่างกันตามสถานภาพทางสังคมของผู้พูด ตั้งแต่ราชาศัพท์ ภาษาสุภาพ ภาษาที่เป็นทางการ ภาษากันเอง และบางครั้งก็เป็นภาษาพูดแบบทั่วไปซึ่งเต็มไปด้วยคำสแลง คำสบถ คำย่อ คำตัดสั้น ๆ ที่ใช้กันตามความเป็นจริง ถ้าผู้แปลไม่คุ้นกับภาษาพูดระดับต่าง ๆ ก็อาจจะเข้าใจผิดได้ ตัวอย่างเช่น คำทักทาย คือ การแปลคำทักทาย ในภาษาอังกฤษมีการใช้คำพูดทักทายหลายประโยค เช่น How do you do? คุณสบายดีหรือคะ (ครับ)
            การตัดถ้อยคำให้สั้นลงทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ในภาษาพูดมักจะตัดเสียงคำให้สั้นลง เช่น ตัดเสียงพยางค์หน้าคำ (Good morning พูดว่า morning) ตัดเสียงพยางค์กลางคำ (มหาวิทยาลัย พูดว่า มหาลัย, นักศึกษา พูดว่า นักษา, พิษณุโลก พูดว่า พิษโลก) ในการแปลบทสนทนามีหลักการที่สำคัญที่สุดคือ แปลให้เป็นธรรมชาติสอดคล้องกับฐานะของผู้พูด สอดคล้องกับระดับภาษาที่ใช้ในโอกาสนั้น รักษาความหมายโดยนัยไว้ให้ครบถ้วน อย่ากังวลกับการแปลคำต่อคำ เพราะจะทำให้ภาษาฟังดูแข็ง ๆ ไม่เป็นธรรมชาติ
            หลักการแปลขั้นต่อมา คือ การแปลบทบรรยาย เป็นข้อความที่เขียนเล่าเรื่องราวเหตุการณ์ ซึ่งมักจะใช้ภาษาเขียนที่ขัดเกลาและแตกต่างกันหลายระดับ ก่อให้เกิดความยุ่งยากในการแปลเพื่อให้สอดคล้องกับต้นฉบับ อย่างไรก็ตาม ถ้าวิเคราะห์การใช้ภาษาในบทบรรยายแล้วจะพบว่าความยุ่งยากเกิดจากภาษาสองประเภท คือ ภาษาในสังคม กับภาษาวรรณคดี ดังนี้ ภาษาในสังคม พฤติกรรมการใช้ภาษาของมนุษย์ในแต่ละสังคมนั้นจะต้องผ่านการฝึกฝนมาแล้วจนเกิดความเคยชิน ภาษาของแต่ละสังคมบางครั้งก็คล้ายกันบางครั้งก็แตกต่างกัน เช่น เรื่องตลกขบขันของสังคมหนึ่งอาจกลายเป็นเรื่องอับอายขายหน้าของอีกสังคมหนึ่ง ไม่มีสังคมใดที่ทุกคนในสังคมพูดภาษาที่มีความหมายอย่างเดียวกันทั้งหมด
            ความแตกต่างในการใช้ภาษามีสาเหตุสำคัญหลายประการซึ่งเกิดจากอาชีพของผู้พูด วัย เพศ และสถานภาพทางสังคม ภาษาเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่าสังคมของผู้พูดมีลักษณะอย่างไร หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ สังคมมีอิทธิพลต่อภาษาพูด การใช้ภาษาของบุคคลในสังคมก็เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เปลี่ยนตามสภาวะแวดล้อมคือ ผู้ฟัง กาลเทศะ และอารมณ์ เช่น คำว่า กิน ในสภาพแวดล้อมที่มีผู้ใหญ่ หรือผู้ไม่คุ้นเคย ใช้คำรับประทาน ลองชิม ลิ้มรส หรือในสภาพแวดล้อมที่มีเด็ก ๆ ใช้คำ หม่ำ อ้ำ หรือในสภาพแวดล้อมที่มีผู้คุ้นเคย ใช้คำ กิน จัดการ งาบ เป็นต้น
            ต่อมาคือ ภาษาวรรณคดี (literary language) คือ ภาษาที่ใช้เขียนในวรรณกรรมต่าง ๆ เช่น กวีนิพนธ์ นวนิยาย บทละคร ความเรียง หรือข้อความในโอกาสที่ต้องการความไพเราะ สละสลวย เป็นภาษาที่ถูกต้องสมบูรณ์ทั้งความหมาย ไวยากรณ์ และความไพเราะ ภาษาระดับนี้ไม่นิยมใช้พูดจากันในชีวิตประจำวัน แต่จะนิยมใช้ในการเขียนที่ไพเราะเท่านั้น ภาษาระดับนี้จะคำนึงถึงลีลาการเขียนที่เป็นลักษณะเฉพาะของผู้เขียนประกอบด้วยการเล่นความหมายของคำ เสียงของคำ การเปรียบเทียบเพื่อสร้างมโนภาพและเร้าอารมณ์ การใช้สำนวนคมคาย เช่น Don’t beat about the bush. อย่าพูดจาอ้อมค้อม
            ขั้นตอนในการแปลวรรณกรรมควรปฏิบัติดังนี้ อ่านเรื่องราวให้เข้าใจโดยตลอด สามารถจับใจความสำคัญของเรื่องที่จะแปลได้ ย่อความเนื้อเรื่อง จับประเด็นของเรื่อง ทำแผนผังความสัมพันธ์ของตัวละครสำคัญในเรื่อง และพฤติกรรมที่มีความหมายมีความโยงใยต่อกัน, วิเคราะห์ถ้อยคำสำนวน ค้นหาความหมายของคำศัพท์ที่ไม่เคยรู้จัก ค้นหาความกระจ่างของข้อความที่ไม่เข้าใจ ค้นหาความกระจ่างด้านวัฒนธรรม และลงมือแปลเป็นภาษาไทยด้วยถ้อยคำสำนวนที่เรียบง่าย อ่านเข้าใจง่าย และชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นภาษาไทยที่เป็นธรรมชาติ
            หลักการแปลขั้นต่อมาคือ หลักการแปลบทละคร บทละครคือวรรณกรรมการแสดง ถ้าไม่มีดนตรีหรือบทร้องประกอบ เรียกว่า ละครพูด ถ้ามีดนตรีหรือบทร้องเป็นส่วนสำคัญก็เรียกกันทั่วไปว่า ละครร้อง ละครรำ ละครไทยมีชื่อเรียกมากมาย เช่น ละครชาตรี ลิเก เป็นต้น บทละครที่กล่าวถึงนี้เกี่ยวกับการแปลหมายถึง ละครโศก ละครชวนขัน ละครโอเปร่าหรืออุปรากร และบทละครสำหรับแสดงบนเวที หรือบทละครที่เขียนขึ้นเพื่อให้อ่าน ในบทละครสมัยใหม่ ส่วนใหญ่เป็นบทเจรจาหรือบทพูด ซึ่งตัวละครจะต้องเปล่งเสียงอย่างชัดเจนเพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง และติดตามเรื่องราวได้ถูกต้อง
            บทพูดเป็นสิ่งสำคัญของการดำเนินเนื้อเรื่องให้ต่อเนื่องกัน การเขียนละครที่ดี บทพูดจะไม่ยืดยาว และจะประกอบด้วยถ้อยคำที่กะทัดรัดชัดเจน ขณะที่ตัวละครพูดจากัน ผู้เขียนบทจะเขียนบอกผู้แสดงให้แสดงกิริยาท่าทางต่าง ๆ ด้วย เช่น ร้องไห้ หัวเราะเบา ๆ หอบ หวาดกลัว เป็นต้น บางครั้งจะบอกผู้แสดงที่ไม่ได้อยู่หน้าเวที เช่น เสียงเดินมาเปิดประตู เสียงทะเลาะกันเอะอะ เสียงปืน เป็นต้น ผู้แปลมักจะแปลการบอกบทเช่นนี้ไว้ในวงเล็บ บทบรรยายของบทละครเป็นคำบรรยายฉาก สถานที่ เวลา และการปรากฏตัวของตัวละคร ส่วนมากจะบรรยายก่อนเปิดม่าน
            วิธีแปลบทละคร ดำเนินการแปลเช่นเดียวกับการแปลเรื่องสั้น นวนิยาย นิทาน นิยาย คือ เริ่มต้นด้วยการอ่านต้นฉบับเพื่อทำความเข้าใจให้ตลอดตั้งแต่ต้นจนจบ หาความหมายและคำแปลแล้วจึงเขียนบทแปลด้วยภาษาที่เหมาะสม ในการอ่านต้นฉบับบทละคร ในการอ่านครั้งแรกเพื่อทำความเข้าใจเนื้อเรื่องอย่างคร่าว ๆ ตรวจสอบความเข้าใจด้วยการตั้งคำถาม ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อใด และในการอ่านครั้งต่อไปเพื่อค้นหาความหมายของคำและวลีที่ไม่รู้จักโดยใช้พจนานุกรมช่วยและหาความรู้รอบตัวเพิ่มเติมเกี่ยวกับต้นฉบับ
            หลักการแปลต่อมาคือ หลักการแปลบทภาพยนตร์ ภาพยนตร์จากต่างประเทศที่ฉายในโรงและในจอโทรทัศน์ ถ้าแปลบทเป็นภาษาไทยหรือพากย์ไทยจะอำนวยประโยชน์และความบันเทิงให้แก่ผู้ชมเป็นอันมาก บทภาพยนตร์ที่นำมาแปลจะถ่ายทอดเป็นบทเขียนอ่าน นอกจากบางครั้งที่ไม่มีบทเขียน ผู้แปลต้องดูและฟังจากฟิล์ม จุดประสงค์หลักของบทภาพยนตร์แปลมี 2 ประการคือ ประการที่หนึ่ง นำบทแปลไปพากย์หรืออัดเสียงในฟิล์ม ผู้ฟังจะได้ยินเสียงนักแสดงพูดภาษาไทย และประการที่สอง นำบทแปลไปเขียนคำบรรยายในฟิล์มดั้งเดิม ผู้ฟังจะได้ยินเสียงเดิมของนักแสดงและได้เห็นคำแปลพร้อมกัน
            บทแปลที่จะนำไปใช้ประโยชน์ตามประการที่หนึ่งผู้แปลต้องระวังความจำกัดตามจังหวะขยับริมฝีปากของผู้แสดงเท่าที่ปรากฏให้เห็น ส่วนข้อดีคือ หากมีข้อผิดพลาดก็จะจับไม่ได้ และตามประการที่สองบทแปลจะจำกัดด้วยเนื้อที่ในฟิล์มให้พอเหมาะกับกรอบภาพและขนาดของตัวอักษรที่ใช้พิมพ์คำบรรยาย ข้อจำกัดอีกอย่างหนึ่งคือ ผู้ชมภาพยนตร์สามารถจับผิดคำแปลได้จากการเปรียบเทียบคำพูดของนักแสดงกับคำแปล ในกรณีนี้ผู้แปลไม่มีทางหนีรอดไปได้เลย
            บทภาพยนตร์มีลักษณะเหมือนบทละครที่ประกอบด้วยคำสนทนาเป็นส่วนใหญ่ แต่ผู้แสดงภาพยนตร์จะมีจำนวนหลากหลายกว่า แต่ละคนจะใช้คำพูดต่างกันตามอุปนิสัยใจคอและพูดจารวดเร็วต่างจากผู้แสดงซึ่งจากพูดช้า และเน้นย้ำให้ชัดเจน บางครั้งผู้แสดงอีกคนหนึ่งจะช่วยเน้นย้ำด้วยการถามซ้ำบ้างทวนคำถามบ้าง และอุทานบ้าง นอกจากนี้การแสดงภาพยนตร์จะมีความเคลื่อนไหวเร็วกว่าการแสดงละครมาก บางทีพูดไปเคลื่อนไหวไปมีผลต่อการแปลบทขึ้นต้องแปลให้รวดเร็วและทันกับบทบาทของการแสดง บทภาพยนตร์เป็นข้อเขียนที่มีจุดประสงค์นำไปแสดง และพูดตามการสับเปลี่ยนฉากที่รวดเร็วเพื่อความฉับไวโดยรักษาความต่อเนื่องของภาพและเนื้อเรื่องไว้ให้เอกภาพ ผู้แปลต้องตระหนักในลักษณะเฉพาะของบทภาพยนตร์เพื่อป้องกันมิให้มีความเข้าใจผิดจนเกิดการแปลผิด
            หลักการแปลต่อมาคือ หลักการแปลนิทาน นิยาย สำหรับบันเทิงคดีประเภทนิทาน นิยาย เรื่องเล่า เป็นสิ่งที่มีมาแต่โบราณสมัยที่ยังไม่ใช้ตัวอักษรสื่อสารกัน นิทาน นิยาย และเรื่องเล่าเป็นการเล่าเรื่องด้วยปาก ดังนั้นจึงเรียกกันว่า วรรณคดีปาก หรือ มุขปาฐะ (Oral Literature) เนื่องจากการเล่านิทาน นิยาย เรื่องเล่าใช้วิธีการบรรยายและพรรณนา จะไม่ใช้วิธีซับซ้อน ดังนั้นจึงมีผู้เรียกว่า วรรณกรรมวรรณา (Narrative Literature) ในปัจจุบันนิทาน นิยาย เรื่องเล่ายังคงมีลักษณะคล้ายในสมัยโบราณคือมีลักษณะสนุกสนานน่าตื่นเต้น ให้ความรู้ความเพลิดเพลิน ให้คติธรรมแก่ชีวิต
            วิธีการแปลนิทานจะดำเนินการแปลตามขั้นตอนเช่นเดียวกับหลักการแปลวรรณกรรมประเภทอื่น ๆ คือ จะอ่านต้นฉบับนิทานก่อน ในการอ่านครั้งแรกจะอ่านอย่างรวดเร็วเพื่อทำความเข้าใจเนื้อเรื่องของนิทาน แล้วตรวจสอบความเข้าใจเนื้อเรื่องด้วยคำถามทั้ง 5 คือ ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อใด ทำไม เป็นต้น และในการอ่านครั้งต่อไปจะอ่านอย่างช้า ๆ และค้นหาความหมายและคำแปล ทำรายการคำและวลีที่ไม่ทราบความหมายและจะค้นหาความหมายในพจนานุกรม เช่น leap หมายถึง กระโดด และขั้นตอนต่อมาคือ การเขียนบทแปล การใช้ภาษาในนิทานอีสปเรื่องนี้เป็นภาษาระดับกลาง ใช้วิธีเขียนแบบเก่าไม่เหมือนกับปัจจุบัน การใช้ภาษาแปลในการแปลสรรพนามที่สัตว์ใช้ในนิทานควรใช้ภาษาเก่า เช่น เจ้า ข้า ตอนจบของนิทานเป็นคำสอน การแปลชื่อของเรื่องนี้สามารถใช้วิธีแปลตรงตัวได้
            หลักการแปลต่อมาคือ หลักการแปลเรื่องเล่า เรื่องเล่าสั้น ๆ แฝงอารมณ์ขันมักจะปรากฏตามหนังสือพิมพ์และนิตยสาร ผู้อ่านจะต้องเข้าใจปมของอารมณ์ขัน และหยิบยกขึ้นมาแปล ถ่ายทอดให้ตรงตามต้นฉบับ เรื่องเล่าแฝงอารมณ์ขันมักจะใช้ถ้อยคำจำกัดกะทัดรัด ถ้ามีความกำกวมอาจเป็นเพราะผู้เขียนจงใจ เพราะความกำกวมสร้างอารมณ์ขันได้ เรื่องเล่ามักจะปะกอบด้วยตัวละครสำคัญจำนวน 1-2 ตัว ซึ่งมีความสัมพันธ์กันตามความจำเป็นจะตัดตัวใดตัวหนึ่งออกไม่ได้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะกระชั้นชิดแบบรวดเร็วเพื่อให้กระชับความ วิธีการแปลเรื่องเล่าสามารถดำเนินการแปลตามขั้นตอนเช่นเดียวกับการแปลวรรณกรรมประเภทอื่น ๆ คือจะเริ่มต้นด้วยการอ่านต้นฉบับให้เข้าใจแล้วเขียนบทแปล ในขั้นตอนการเขียนบทแปล การใช้ภาษาในเรื่องนี้เป็นภาษาระดับกลาง มีความกำกวม และอารมณ์ขัน ผู้แปลจะต้องเลือกหาคำที่ฟังดูน่าขัน
            หลักการแปลต่อมาคือ หลักการแปลการ์ตูน การ์ตูนไม่ได้เป็นวรรณกรรมสำหรับเด็ก แต่ผู้ใหญ่ก็ได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลิน ผ่อนคลายความเครียดจากการอ่านการ์ตูนเช่นกัน การ์ตูนให้ความบันเทิงทุกอย่างแก่ผู้อ่านและยังมีส่วนสร้างสรรค์ความสามารถเชิงสังเกต วิเคราะห์ และไหวพริบแก่ผู้อ่าน ผู้อ่านสามารถเชื่อมโยงการสื่อความหมายด้วยภาพกับภาษาเข้าด้วยกัน หลักการสำคัญในการแปลการ์ตูนคือ การใช้คำแปลที่สั้น ชัดเจน เข้าใจหรือสื่อความหมายได้ สามารถจำกัดจำนวนคำให้อยู่ภายในกรอบคำพูดได้ ภาษาในบทสนทนาของการ์ตูนมีหลายระดับขึ้นอยู่กับตัวละครที่สร้างขึ้น ซึ่งผู้แปลต้องใช้ความสังเกตและความระมัดระวังให้การใช้ภาษาแปลมีความสอดคล้องกัน
            วิธีการแปลการ์ตูนจะดำเนินการแปลตามขั้นตอนเช่นเดียวกับการแปลเรื่องเล่าคือ เริ่มต้นด้วยการอ่านต้นฉบับให้เข้าใจโดยสังเกตรายละเอียดของภาพ ต่อจากนั้นจึงลงมือเขียนบทแปลโดยใช้ถ้อยคำสั้น ๆ สามารถบรรจุลงในกรอบคำพูดได้พอดี สำหรับในขั้นตอนการเขียนบทแปล เมื่อเข้าใจเรื่องราวโดยตลอดแล้ว อ่านซ้ำอีกครั้งอย่างละเอียดเพื่อเตรียมการเขียน ถ้ายังเขียนไม่ได้ก็หมายความว่ายังเข้าใจไม่แจ่มแจ้ง เพราะติดศัพท์บางตัว หรือขาดความรู้ภูมิหลัง
            และหลักการแปลสุดท้ายคือ หลักการแปลกวีนิพนธ์ ลักษณะการแปลกวีนิพนธ์มี 2 ลักษณะคือ แปลเป็นร้อยกรอง วิธีนี้นิยมใช้กับวรรณคดีโบราณที่มุ่งเน้นทั้งเนื้อหาสาระและความไพเราะของภาษา ผู้แปลส่วนใหญ่มุ่งหวังจะให้งานแปลของตนเป็นวรรณคดีอีกชิ้นหนึ่งในภาษาอีกภาษาหนึ่ง นอกจากจะแปลเนื้อหาสาระแล้วยังรักษาวิธีนำเสนอที่ใกล้เคียงที่สุดกับต้นฉบับโดยยึดฉันทลักษณ์ไว้อย่างเหนียวแน่น พยายามเล่นคำ เล่นความหมายตามต้นฉบับทุกจังหวะ การแปลที่ยึดติดฉันทลักษณ์นี้เหมาะสมสำหรับการแปลเป็นภาษาที่มีฉันทลักษณ์อย่างเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน
            และลักษณะที่สองคือ แปลเป็นร้อยแก้วที่ประณีตหรือ prose poem ผู้แปลจะใช้การแปลกวีนิพนธ์เป็นร้อยแก้วต่อเมื่อมีจุดประสงค์เพียงการสื่อสารความคิดและวัฒนธรรมอื่น ๆ ในกวีนิพนธ์ ทั้งนี้เพราะบทบาทการใช้งานแปลวรรณคดีได้ทวีความหลากหลายขึ้นมาก เช่น เพื่อศึกษาและเผยแพร่ความคิด ถ้อยคำ เหตุการณ์ ตำนาน ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมอื่น ๆ ทั้งนี้เพื่อความสะดวกรวดเร็ว และความชัดเจนของเนื้อหาสาระ  prose poem หรือ poetic prose ถึงแม้จะเป็นร้อยแก้วที่ประณีตก็ยังมีองค์ประกอบหลายอย่างของกวีนิพนธ์ เช่น มีจังหวะ สัมผัสนอก สัมผัสใน สัมผัสอักษร และการเล่นคำความหมาย
            ในการแปลกวีนิพนธ์อาจจะเกิดปัญหาขึ้นได้ เช่น ความเข้าใจเป็นปัญหายิ่งใหญ่ที่สุดของผู้แปลไม่ว่าจะแปลงานประเภทใดโดยเฉพาะกวีนิพนธ์ประเภทที่มุ่งแสดงความรู้สึก มโนทัศน์ และอื่น ๆ ที่เป็นนามธรรม บางครั้งปัญหาความเข้าใจเกิดจากรูปแบบแปลก ๆ ใหม่ ๆ ที่กวีใช้ หรือปัญหาการเลือกใช้ถ้อยคำสำนวน หลังจากที่ผู้แปลทำความเข้าใจความคิดของกวีและรูปแบบของกวีนิพนธ์อย่างถูกต้องก็จะหาคำแปลสั้น ๆ กะทัดรัดในจำนวนที่จำกัดตามลักษณะฉันทลักษณ์ทั้งยังต้องมีเสียงหนักเบาเหมาะกับจังหวะและสัมผัสด้วย ซึ่งเป็นงานหนักมากของผู้แปล อย่างไรก็ตามถ้าผู้แปลเป็นกวี หรือเคยชินกับการแต่งกวีนิพนธ์แล้วก็จะได้รับความสะดวกมากขึ้น
            จากการศึกษาและเรียนรู้หลักการแปลวรรณกรรม หลักการแปลนวนิยาย หลักการแปลบทละคร หลักการแปลบทภาพยนตร์ หลักการแปลนิทาน นิยาย หลักการแปลเรื่องเล่า หลักการแปลการ์ตูน และหลักการแปลกวีนิพนธ์ จะมีขั้นตอนการแปลเหมือนกันคือ จะเริ่มด้วยการอ่านต้นฉบับเพื่อทำความเข้าใจให้ตลอดตั้งแต่ตอนต้นจนจบเรื่องก่อนเสมอ จากนั้นผู้แปลจะต้องหาความหมายของคำและคำแปล แล้วจึงลงมือเขียนบทแปลด้วยภาษาที่เหมาะสม สละสลวย และยังคงรักษาความหมายเดิมของภาษาต้นฉบับ



Text types

สิ่งที่ได้เรียนรู้
Text types
            รูปแบบการเขียนเป็นวิธีการเรียบเรียงเนื้อหาในการเขียน ซึ่งมีโครงสร้างที่เป็นแบบแผน มีคุณลักษณะและมีองค์ประกอบหลักที่ใช้การเขียนสำหรับรูปแบบนั้นๆ ซึ่งรูปแบบการเขียนมีหลายรูปแบบ แตกต่างกันไปตามจุดประสงค์ของงานเขียนนั้น เช่น เขียนเพื่อแสดงความรู้สึกหรือความคิดเห็น เขียนเพื่อจินตนาการ เล่าเรื่อง เขียนเพื่อความบันเทิงหรือสนุกสนาน เขียนเพื่อบรรยาย เขียนเพื่อโน้มน้าวหรือชักจูง ขอร้อง สืบสอบหรือตั้งคำถาม หรือเพื่อทำความกระจ่างในความคิด ซึ่งแต่ละงานเขียนจะมีความแตกต่างกันออกไป แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือการให้ผู้อ่านรู้สึกคล้อยตาม รู้สึกชอบและอยากติดตามในงานเขียนนั้น
            ประเภทงานเขียนมีหลายประเภท แต่ในที่นี้ดิฉันจะกล่าวถึงการเขียนบรรยาย การเขียนเล่าเรื่อง การเขียนเล่าเหตุการณ์ การเขียนอภิปราย การเขียนอธิบาย การเขียนเกี่ยวกับวิธีการ การเขียนรายงานสารสนเทศ การเขียนอธิบาย และการเขียนแสดงความคิดเห็นหรือความรู้สึกตอบสนอง งานเขียนประเภทแรกที่ดิฉันจะกล่าวถึงคือ การเขียนบรรยาย (Description) เป็นข้อเขียนที่ให้รายละเอียดของคุณลักษณะของสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจง ข้อเขียนแบบนี้จะใช้อยู่ในข้อเขียนแบบอื่น ๆ ด้วย ซึ่งจะกล่าวถึง อะไร  ที่ไหน เมื่อไร  ดูเป็นอย่างไร เสียงเป็นอย่างไร กลิ่นเป็นอย่างไร ให้ความรู้สึกอย่างไร มีความเป็นพิเศษเพราะอะไร เป็นต้น              การเขียนบรรยายจะแบ่งออกเป็น 3 ตอน ได้แก่ ตอนที่หนึ่งคือ ตอนนำ เป็นข้อความทั่วไปเกี่ยวกับเรื่อง ได้แก่ ใครอะไร เมื่อไร  ที่ไหน ตอนที่สองคือ ตอนรายละเอียด เป็นการบรรยายคุณลักษณะบุคคล หรือสิ่งของ และตอนที่สามคือ ตอนสรุป เป็นการสรุปใจความสำคัญ การเขียนประเภทต่อมาคือ การเขียนเล่าเรื่อง (Narrative) เป็นข้อเขียนที่เล่าถึงเรื่องต่าง ๆ ที่ให้ความบันเทิง กระตุ้น หรือสอน  มุ่งที่จะให้ผู้อ่านเกิดความตั้งใจ และคงความสนใจไว้ได้นาน การเขียนเล่าเรื่องมีหลายประเภท ได้แก่ ละครเหมือนชีวิตจริง เรื่องเชิงจินตนาการ เรื่องผจญภัย นิยายเชิงวิทยาศาสตร์ เรื่องลึกลับ เทพนิยาย นิทาน ตำนาน เป็นต้น
            การเขียนเล่าเรื่องจะแบ่งออกเป็น 4 ตอน ได้แก่ ตอนที่หนึ่งเป็นการเกริ่น กล่าวถึง ฉากและตัวละคร ซึ่งจะรวม การกล่าวถึง ใครหรืออะไร  ที่ไหน และ เมื่อไรตอนที่สองกล่าวถึงความยุ่งยาก เป็นการกล่าวถึงความยากลำบากหรือปัญหา ที่ทำให้การดำรงชีวิตหรือความสะดวกสบายของตัวละครเกิดความยุ่งยากขึ้น และก่อให้เกิดลำดับของเหตุการณ์ที่น่าสนใจตามมา และลำดับเหตุการณ์ ซึ่งอาจประกอบด้วย การบรรยายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ลำดับเหตุการณ์เฉพาะที่เกิดขึ้นกับตัวละครแต่ละตัว การผสมผสานของลำดับ การแก้ปัญหา เป็นการกล่าวถึงผลสุดท้ายของเหตุการณ์ ซึ่งเป็นชุดที่ปัญหาได้รับการแก้ไข
            ต่อมาคือ การเขียนเล่าเหตุการณ์ (Recount) เป็นข้อเขียนที่เล่าถึงเหตุการณ์หรือประสบการณ์ที่ผ่านมา เรียงลำดับตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง การเขียนประเภทนี้แบ่งออกเป็น 3 ตอน ได้แก่ ตอนนำ เป็นการกำหนดฉาก โดยให้รายละเอียดเกี่ยวกับใคร อะไร เมื่อไร ที่ไหน และทำไม เหตุการณ์ กล่าวถึง อะไรที่เกิดขึ้นตามลำดับของเวลา โดยใช้คำเกี่ยวกับเวลา รวมถึงคำคุณศัพท์ ข้อความที่เขียนเป็นเรื่องของอดีตกาล และตอนสรุป (Conclusion) เป็นการกล่าวถึงข้อคิดเห็นส่วนตัวว่า ผู้เขียนคิดอะไร รู้สึกอย่างไร หรือตัดสินอะไรเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น การเขียนมีลักษณะเป็นส่วนตัว จึงใช้สรรพนามบุรุษที่หนึ่ง
            ต่อมาคือ การเขียนอภิปราย (Discussion) เป็นข้อเขียนที่กล่าวทั้งข้อดีและข้อเสียของหัวข้อปัญหา โดยแสดงเหตุผลที่สนับสนุนและคัดค้านในเรื่องนั้น การเขียนประเภทนี้แบ่งออกเป็น 3 ตอน คือ ตอนที่หนึ่งที่ว่าด้วยหัวข้อปัญหา เป็นการแนะนำหัวข้อปัญหาหรือหัวข้อเรื่อง ตอนที่สองว่าด้วยเหตุผล กล่าวถึงประเด็นและหลักฐานของกลุ่ม ที่สนับสนุนและคัดค้าน จะประกอบด้วยกลุ่มที่สนับสนุน และกลุ่มที่คัดค้าน สุดท้ายตอนสรุป เป็นการสรุปความถึงเหตุผลและผู้เขียนให้ข้อเสนอแนะอะไร เพราะเหตุใด การเขียนมีการใช้คำนาม สรรพนาม และคำที่เชื่อมถึงเหตุผลที่แสดงถึงปัจจุบันกาลหรืออดีตกาล ลักษณะการเขียนต้องเป็นปรนัยที่ยุติธรรม ใช้สรรพนามบุรุษที่สองหรือที่สาม
            ต่อมาคือ การเขียนอธิบาย (Expository) เป็นข้อเขียนที่อธิบายหรือบอกถึงสารสนเทศ ประกอบด้วย เรียงความเปรียบเทียบความเหมือนและความต่าง เป็นข้อเขียนที่แสดงถึงความคล้ายคลึงและความแตกต่างระหว่างสิ่งสองสิ่ง เรียงความเกี่ยวกับวิธีการ เป็นข้อเขียนที่บอกผู้อ่านถึงวิธีการทำ สิ่งใดสิ่งหนึ่ง เรียงความที่เป็นสารสนเทศ เป็นข้อเขียนที่ให้สารสนเทศตามลำดับที่เป็นเหตุผล ต่อมาคือ การเขียนเกี่ยวกับวิธีการ (Procedure) เป็นข้อเขียนที่บอกให้ทราบว่า จะสร้างหรือทำ สิ่งหนึ่งสิ่งใดได้อย่างไร การเขียนประเภทนี้แบ่งออกเป็น 3 ตอน ได้แก่ เป้าประสงค์ เป็นการบอกถึงสิ่งที่จะสร้างหรือทำ ซึ่งอาจรวมไปถึง การบรรยายสั้นๆ ถึงผลผลิตที่จะเกิดขึ้น สิ่งที่ต้องการใช้ เป็นการกล่าวถึงรายการสิ่งที่ต้องการใช้ในการกระทำ
            ต่อมาคือ การเขียนรายงานสารสนเทศ (Information report) เป็นข้อเขียนที่ให้สารสนเทศ โดยกล่าวถึงข้อเท็จจริง โดยทั่วไปใช้บรรยายเกี่ยวกับประเภทหรือกลุ่มของคน สัตว์ สิ่งของ หรือ สถานที่  การเขียนประเภทนี้แบ่งออกเป็น 3 ตอน ได้แก่ ตอนนำ กล่าวถึงนิยามหรือการจัดประเภท หรือคำบรรยายสั้นๆ และตอนบรรยาย กล่าวถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนั้นเป็นย่อหน้าๆไป อาจใช้ภาพถ่าย ภาพวาด แผนที่หรือแผนผัง ประกอบด้วย หัวข้อย่อย ในการบรรยายที่ใช้กันมาก ได้แก่ เรื่องเกี่ยวกับ เรื่องเกี่ยวกับบุคคล เรื่องเกี่ยวกับสิ่งของ สถานที่ และสุดท้ายคือตอนสรุป เป็นการเขียนสรุปความหรือข้อคิดเห็น เนื่องจากเป็นข้อเท็จจริง จึงไม่ใช้อารมณ์ความรู้สึก ใช้คำที่มีความหมายกว้างๆและใช้สรรพนามบุรุษที่สาม
            ต่อมาคือ การเขียนอธิบาย (Explanation) เป็นข้อเขียนที่อธิบายว่าบางสิ่งบางอย่างทำงานอย่างไรหรือบางสิ่งบางอย่างที่เกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมจึงเกิดขึ้น การเขียนประเภทนี้แบ่งออกเป็น 3 ตอน ได้แก่ ตอนนำ เป็นข้อความทั่วไปเกี่ยวกับหัวข้อเรื่องอาจประกอบด้วยนิยามหรือคำถาม คำบรรยายสั้นๆ การอธิบาย เป็นชุดของข้อความที่อธิบายตามลำดับในเรื่องบางสิ่งบางอย่างทำงานอย่างไร ทำไมบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้น และสรุป เป็นการสรุปความหรือให้ข้อคิดเห็น อาจประกอบด้วยการสรุปความหรือข้อเสนอแนะ ข้อคิดเห็นทั่วไปเกี่ยวกับการใช้ และประวัติความเป็นมา การเขียนแต่ละประเด็นสำคัญให้ขึ้นย่อหน้าใหม่ คำที่ใช้ได้แก่ ศัพท์เทคนิคหรือศัพท์ทางวิทยาศาสตร์ คำกริยา และคำสันธาน ข้อเขียนจะเป็นปัจจุบันกาล ไม่ใช้อารมณ์หรือความรู้สึกและใช้สรรพนามบุรุษที่สาม
            และการเขียนแสดงความคิดเห็นหรือความรู้สึกตอบสนอง (Response) เป็นข้อเขียนที่ผู้เขียนบรรยายถึงปฏิกิริยาตอบสนองต่อเรื่องราวหรือเหตุการณ์ ใช้สำหรับการวิจารณ์ การให้ข้อมูลย้อนกลับ หรือการประเมิน เพื่อแสดงถึงความคิด หรือความรู้สึกต่อสิ่งนั้นๆ ว่าอะไรเกิดขึ้น มีใครเกี่ยวข้องบ้าง ทำไมจึงมีความพิเศษในเรื่องนั้น จะโต้ตอบอย่างไร เรื่องนั้นมีผลอย่างไรต่อผู้เขียน ผู้เขียนรู้สึกอย่างไร และผู้เขียนคิดอะไรอยู่ การเขียนประเภทนี้แบ่งออกเป็น 3 ตอน ได้แก่ ตอนที่เป็นการเกริ่นนำ เป็นการระบุเรื่องว่าอะไร ใคร เมื่อไร และ   ที่ไหน รายละเอียด เป็นการบรรยายเรื่องและปฏิกิริยาตอบสนองของผู้เขียนต่อเรื่องนั้น การบรรยายเรื่อง อาจประกอบด้วย ตัวบุคคลหรือตัวละครที่เกี่ยวข้อง สรุปว่าอะไรเกิดขึ้น มีลักษณะสำคัญอะไร การตอบสนอง และการสรุป
            จากการเรียนรู้รูปแบบการเขียนประเภทต่างๆ นี้สามารถนำรูปแบบการเขียนไปเขียนให้เหมาะสมในแต่ละบริบท ไม่ว่าจะเป็นการเขียนบรรยายเรื่อง การเขียนจดหมาย ข่าว โฆษณา ใบปลิว หรือแม้แต่งานเขียนการสัมภาษณ์ต่างๆ รวมไปถึงการเขียนอีเมล์ แฟกซ์ และกลอน ซึ่งจุดประสงค์ในการเขียนจะเป็นไปตามความต้องการของผู้เขียน และเมื่อกำหนดจุดประสงค์ในการเขียนแล้วก็เท่ากับได้กำหนดรูปแบบการเขียนและในการเขียนดังกล่าวนั้นควรคำนึงถึงกฎเกณฑ์ในการเขียนด้วย เพราะบางประเภทมีการบรรยายตามความจริง สามารถใช้เป็นหลักฐานอ้างอิง มีการสอดแทรกอารมณ์หรือความรู้สึกลงไปในงานเขียน





การถ่ายทอดตัวอักษร (Transliteration)

สิ่งที่ได้เรียนรู้
การถ่ายทอดตัวอักษร (Transliteration)
            ในปัจจุบันวิชาภาษาอังกฤษเป็นวิชาหนึ่งที่มีความสำคัญมากสำหรับการเรียนการสอน และมีความจำเป็นมากที่ทุกคนจะต้องหมั่นศึกษาเรียนรู้จนสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ อย่างเช่นการศึกษาการถ่ายทอดอักษรจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษจะทำให้เราสามารถถ่ายทอดสิ่งที่เราพบเห็นต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นชื่อป้าย ชื่อสถาบัน ชื่อตำบล หรือชื่ออำเภอ
            การถ่ายทอดอักษรหมายถึง การนำคำในภาษาหนึ่งมาเขียนด้วยตัวอักษรของอีกภาษาหนึ่งโดยพยายามให้การเขียนในภาษาใหม่นี้ถ่ายทอด เสียงของคำในภาษาเดิมให้ใกล้เคียงที่สุดเท่าที่จะทำได้ การถ่ายทอดตัวอักษรมีบทบาทในการแปลจากภาษาหนึ่งไปอีกภาษาหนึ่งในกรณีต่อไปนี้ กรณีที่หนึ่งคือ เมื่อในภาษาต้นฉบับมีคำที่ใช้แทนชื่อเฉพาะของสิ่งต่าง ๆ เช่น ชื่อคน ชื่อสถานที่ ชื่อแม่น้ำ ภูเขา หรือแม้แต่ชื่อสถาบันต่าง ๆ
            และกรณีที่สองคือ เมื่อคำในภาษาต้นฉบับมีความหมายอ้างอิงถึงสื่อที่เป็นรูปธรรมหรือนามธรรมที่ไม่มีในสังคมของภาษาฉบับแปลจึงไม่มีคำเทียบเคียงให้ (equivalent word) เช่น คำที่ใช้เรียกต้นไม้ สัตว์ และกิจกรรมบางชนิด ความคิดบางประเภทซึ่งมีในภาษาอังกฤษ แต่ไม่มีในภาษาไทยเนื่องจากยังไม่มีการบัญญัติศัพท์ขึ้น ในกรณีเช่นนี้ผู้แปลอาจแก้ปัญหาได้สองประการคือ ประการที่หนึ่ง ใช้วิธีให้คำนิยามหรือคำอธิบายที่บอกลักษณะตรงกับคำเดิมนั้น และประการที่สอง สามารถใช้ทับศัพท์ไปได้เลย
            ตัวอย่างจากกรณีข้างต้นเช่น คำว่า “football” ซึ่งเมื่อจะถ่ายทอดเป็นภาษาไทยอาจทำได้โดยให้คำนิยามว่า ลูกกลม ๆ ทำด้วยหนังหรือใช้ทับศัพท์ว่า ฟุตบอลหรือเช่นคำว่า “supermarket” ซึ่งอาจใช้ ร้านซึ่งขายทั้งของกินของใช้ประจำครัวเรือนหรือใช้คำเดิมว่า ซูเปอร์มาร์เก็ตโดยทั่ว ๆ ไปเรามักจะนิยมใช้คำเดิม จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเขียนคำนั้นในฉบับแปลด้วยตัวอักษรของภาษาฉบับแปล
            จากตัวอย่างข้างต้น ในการทำเช่นนั้นผู้แปลควรยึดหลักปฏิบัติในการถ่ายทอดเสียงของคำดังต่อไปนี้ ข้อแรก คือ ให้อ่านคำนั้นเพื่อให้รู้ว่าคำนั้นออกเสียงอย่างไร ประกอบด้วยเสียง (phone) อะไรบ้างแล้วหาตัวอักษรในภาษาฉบับแปลที่มีเสียงใกล้เคียงกันมาเขียนแทนเสียงนั้น ๆ ข้อที่สอง คือ ภาษาทุกภาษาจะมีเสียงพยัญชนะและสระตรงกันเป็นส่วนมาก และผู้แปลจะหาตัวอักษรมาเขียนแทนได้เลย เช่น การใช้ แทนเสียงแรกในคำว่า “Paul” เป็นต้น
            จากประเด็นข้างต้นจะมีเสียงจำนวนหนึ่งซึ่งไม่มีตัวอักษรที่แทนเสียงตรงกับในฉบับแปล ในกรณีนี้ให้หาตัวอักษรตัวหนึ่งหรือ 2 ตัว เรียงกันที่มีเสียงใกล้เคียงที่สุดมาเขียนแทน เช่น การใช้ แทนเสียงแรกของชื่อ “Thomas” และ “kh” แทน เป็นต้น เสียงบางประเภทอาจจะไม่มีใช้ในอีกภาษาหนึ่งเลยหรือมีก็เทียบเคียงกันไม่ได้ เช่น เสียงหนักเบา (stressed, unstressed) ในคำภาษาอังกฤษซึ่งไม่มีภาษาไทย หรือมีเสียงวรรณยุกต์ (tone) ประจำพยางค์ซึ่งมีในภาษาไทยแต่ไม่มีในภาษาอังกฤษ
            กรณีดังกล่าวไม่จำเป็นต้องคิดหาเครื่องหมายมาใช้ในการเขียน ดังนั้น การถ่ายทอดเสียงของคำภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยไม่จำเป็นต้องมีเครื่องหมายบอกเสียงหนักเบา และไม่จำเป็นต้องใช้วรรณยุกต์เพื่อแทนเสียงสูงต่ำ ข้อที่สามคือ เมื่อกำหนดตัวอักษรตัวใดตัวหนึ่งแทนเสียงใดเสียงหนึ่งแล้วให้ใช้ตัวนั้นตลอดไป อย่าเปลี่ยนไปมาไม่แน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบทแปลบทเดียวกันต้องใช้หลักการถ่ายทอดอย่างเดียวตลอดไป
            และข้อที่สี่ คือ สำหรับการยืมคำศัพท์มาใช้โดยเขียนลงเป็นภาษาในฉบับแปล ถ้าคำนั้นยังไม่เป็นที่แพร่หลายให้วงเล็บคำเดิมในต้นฉบับไว้ด้วย บัญชีต่อไปนี้มีไว้สำหรับผู้แปลระหว่างภาษาไทยและภาษาอังกฤษใช้เป็นแนวทางในการถ่ายทอดอักษร คือ บัญชีที่หนึ่ง สำหรับการถ่ายทอดจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ เช่น ตัวอักษรไทย คือ ก ตัวอักษรอังกฤษ คือ ต้นพยางค์ k-, ท้ายพยางค์ –k เช่น กานดา – Kanda, ตัวอักษรไทย คือ ง ตัวอักษรอังกฤษ คือ ต้นพยางค์ ng-, ท้ายพยางค์ –ng เช่น งาม – Ngarm, ทอง – Thong
            จากการถ่ายทอดอักษรภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษนี้ทำให้ดิฉันได้ทราบการเทียบเคียงอักษรทั้งไทยและอังกฤษ เมื่อดิฉันจะทอดเสียงภาษาไทยมาเป็นภาษาอังกฤษ ดิฉันก็จะสามารถทำได้โดยง่ายและถูกต้องตามหลักการถ่ายทอดตัวอักษรอีกด้วย และที่สำคัญในการเรียนรู้การถ่ายทอดอักษรนี้ทำให้ดิฉันสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการถอดตัวอักษรสิ่งที่ดิฉันพบเห็นในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย
             

    

Model 1 Relations between idea

สิ่งที่ได้เรียนรู้
Model 1 Relations between idea
            การเขียนนั้นมีหลากหลายประเภท สำหรับการเขียนสรุปเรื่องหรือการเขียนบันทึกเรื่องราวจัดเป็นการเขียนอีกประเภทหนึ่งซึ่งจะต้องเขียนและใช้กระบวนการคิดอย่างมีระบบและเป็นขั้นตอน ซึ่งการเขียนสรุปเรื่องหรือการเขียนบันทึกเรื่องราวนี้เราสามารถเขียนเชิงวิชาการได้ ซึ่งในการเขียนเชิงวิชาการนั้นเราสามารถศึกษาขั้นตอนการเขียนเชิงวิชาการได้จากการศึกษาเอกสารประกอบการเรียน เรื่อง Model 1 Relations between idea ได้ดังนี้
            ในการเขียนเชิงวิชาการนั้นจะมีส่วนประกอบหลักที่สำคัญสามอย่างได้แก่ Introduction คือการเขียนนำเข้าเรื่อง ส่วนประกอบถัดไปคือ Body เป็นส่วนของเนื้อหาเรื่องนั้นๆ และส่วนประกอบสุดท้ายคือ Conclusion คือการเขียนสรุปเรื่อง ในการเขียนประเภทต่าง ๆ สิ่งแรกที่เราต้องมีคือ ชื่อเรื่อง และสิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ การเขียนนำเข้าเนื้อเรื่องของเรื่องนั้น ๆ ซึ่งในการเขียนขั้นนำเข้าสู่เนื้อหานั้นสิ่งที่เราจะต้องคำนึงคือ เนื้อหาจะต้องสอดคล้องกับชื่อเรื่อง  
            ขั้นต่อมาคือ การเขียนเนื้อหาของเรื่องต่าง ๆ ซึ่งในการเขียนนั้นเราจะต้องมีความคิดหลักไว้เพื่อเป็นหลักว่าในการเขียนเนื้อหานั้นเราจะกล่าวถึงเรื่องใดจากนั้นจะต้อมีความคิดที่ไปสนับสนุนเนื้อหาหลักที่เราได้กำหนดไว้ ซึ่งความคิดสนับสนุนนั้นอาจจะมี 1-2 ความคิดที่จะไปสนับสนุน แต่ความคิดสนับสนุนนั้นต้องสอดคล้องและเป็นเรื่องเดียวกันหรือขยายความคิดหลัก
            ส่วนสุดท้ายคือ การเขียนสรุปเรื่อง ในการเขียนสรุปสิ่งที่เราจะเขียนนั้นจะต้องเกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่เราได้เขียนไว้ในส่วนของเนื้อหาหรือ Body เราจะต้องนำความคิดหลักเหล่านั้นมากลั่นกรองและรวบรวมเข้าเป็นเรื่องราวเดียวกันซึ่งการเขียนนั้นเนื้อหาที่เราใช้จะต้องไม่นอกเรื่องจะต้องเกี่ยวข้องกับขั้นนำที่เราได้นำเข้าเรื่องด้วยเสมอ
            จะเห็นได้ว่าในการเขียนเชิงวิชาการนั้นจะต้องมีส่วนประกอบต่าง ๆ อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นการเขียนนำเข้าเรื่อง ความคิดหลักของเรื่องและสิ่งสุดท้ายคือการเขียนสรุป ในการเขียนประเภทนี้จะเป็นที่นิยมใช้กันในสถานศึกษาทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพราะเป็นการเขียนที่ทำให้ผู้เรียนได้ฝึกกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ ฝึกการใช้คำและภาษาที่สละสลวย


โครงสร้างพื้นฐานของประโยค

สิ่งที่ได้เรียนรู้
โครงสร้างพื้นฐานของประโยค
            โครงสร้างประโยคในภาษาไทยกับภาษาอังกฤษนั้นมีความแตกต่างกัน ในภาษาไทยโครงสร้างประโยคจะประกอบด้วย ประธาน, กริยา, และกรรม หรืออาจจะมีส่วนขยายประธานหรือส่วนขยายประโยคเพื่อทำให้ประโยคนั้นมีความหมายสมบูรณ์มากขึ้น ส่วนโครงสร้างในภาษาอังกฤษนั้นมีความหลากหลายมากกว่าโครงสร้างในภาษาไทย เพราะสามารถเลือกใช้ชนิดของคำต่าง ๆ ได้และมีหลักการกระจายโครงสร้างที่หลากหลายเพื่อให้การเขียนหรือแยกโครงสร้างประโยคภาษาอังกฤษนั้นง่ายขึ้น
            ประโยคที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานนี้หมายถึงประโยคที่ประกอบด้วยตัวประโยคลุ่น ๆ มีคำน้อย ใช้คำเฉพาะแต่ที่จำเป็นในแต่ละแบบ แต่มีใจความสมบูรณ์ ถูกต้องตามหลักภาษา สื่อความหมายอย่างตรงไปตรงมา แต่อาจจะขาดความไพเราะ ไม่มีความสละสลวย ไม่ได้รสชาติหรืออรรถรส หรือรายละเอียดตรงตามความตั้งใจของผู้แต่งประโยคไปบ้าง เมื่อนำคำ วลี หรือข้อความที่เหมาะสมมาประกอบในตำแหน่งที่ถูกต้องแล้วจึงจะได้ความสละสลวยหรือซับซ้อนตามความประสงค์ของผู้แต่ง
            ประโยคในภาษาอังกฤษไม่ว่าจะยาวหรือมีความซับซ้อนอย่างไรสามารถกระจายออกเป็นรูปโครงสร้างพื้นฐานได้ กล่าวคือ ประโยคต่าง ๆ มาจากประโยคพื้นฐานที่เรียกว่า basic sentence บางคนอาจเรียกว่า bare sentence (ประโยคเปลือย) หรือบางคนเรียกว่า kernel sentence (ประโยคแก่น)  แล้วแต่จะเรียกอย่างไร ในการแปลประโยคที่ซับซ้อนหรือที่เรียกว่า ประโยคโครงสร้างลึกนั้น ถ้าแยกข้อความออกเป็นหน่วยประโยคที่สั้นหรือเล็กที่สุดตามลักษณะของประโยคโครงสร้างพื้นฐานแต่ละแบบแล้วจะช่วยให้การวิเคราะห์ความหมายประโยคได้ดีขึ้น
            ฮอร์นบีและคณะได้แยกประโยคพื้นฐานไว้ใน The Advanced Learner’s Dictionary of Current English ไว้ 25 แบบ โดยถือตามหน้าที่และความนิยมในการใช้คำกริยาเป็นหลัก เรียกว่า กระสวนหรือแบบของคำกริยา (verb pattern) ส่วนไนดาและเทเบอร์ได้แยกประโยคพื้นฐานของภาษาอังกฤษไว้ 7 แบบ โดยเรียกประโยคพื้นฐานว่า ประโยคแก่น (kernel pattern) และสเตจเบอร์ก (Stageberg) ได้แยกประโยคพื้นฐานที่เรียกว่า ประโยคเปลือย หรือ bare sentence ออกเป็น 9 แบบ ซึ่งในที่นี้จะขอยกตัวอย่างประโยคพื้นฐานของฮอร์นบีและของไนดา
            ตัวอย่างประโยคพื้นฐานของฮอร์นบีและของไนดา แบ่งแบบของคำกริยาออกเป็น 25 แบบ ดังนี้ แบบของคำกริยาแบบที่ 1 คือ Vb + Direct Object เช่น He cut his finger., He does not like cold weather., She smiled her thanks. ต่อมา แบบของคำกริยาแบบที่ 2 คือ Vb + (not) to + Infinitive, etc. เช่น He wants to go., They decided not to go., He presented  not to see me. ต่อมา แบบของคำกริยาแบบที่ 3 คือ Vb + Noun or Pronoun + (not) to + Infinitive, etc. เช่น He wants me to be early., I told the servant to open the window.
               ต่อมา แบบของคำกริยาแบบที่ 4 คือ Vb + Noun or Pronoun + (to be) + Complement เช่น They believed him (to be) innocent., I consider it (to be) a shame. ต่อมา แบบของคำกริยาแบบที่ 5 คือ Vb + Noun or Pronoun + Infinitive, etc. เช่น I made him do it., They have never known him behave so badly. ต่อมา แบบของคำกริยาแบบที่ 6 คือ Vb + Noun or Pronoun + Present participle เช่น I found him working at his desk., We watched the train leaving the station.
            ต่อมา แบบของคำกริยาแบบที่ 7 คือ Vb + Object + Adjective เช่น Don’t get your clothes dirty., The sun keeps us warm., Get yourself ready. ต่อมา แบบของคำกริยาแบบที่ 8 คือ Vb + Object + Noun เช่น  They elected him king., We call the dog “Spot”., They called them cowards. ต่อมา แบบของคำกริยาแบบที่ 9 คือ Vb + Object + Past Participle เช่น You must get your hair cut., She had a new dress made., King Charles I had his head cut off.
            ต่อมา แบบของคำกริยาแบบที่ 10 คือ Vb + Object + Adverb or Adverbial Phrase, etc. เช่น Put it here., They treat their sister as if she were only a servant. ต่อมา แบบของคำกริยาแบบที่ 11 คือ Vb + that-clause เช่น I hope (that) you will come., He explained that nothing could be done. ต่อมา แบบของคำกริยาแบบที่ 12 คือ Vb + Noun or Pronoun + that-clause เช่น I told the man (that) he was mistake., Please remind him that he must be here early.
            ต่อมา แบบของคำกริยาแบบที่ 13 คือ Vb + Conjunctive + to + Infinitive, etc. เช่น I wonder how to do it., He is learning how to swim. ต่อมา แบบของคำกริยาแบบที่ 14 คือ Vb + Noun or Pronoun + Conjunctive + to + Infinitive, etc. เช่น We showed him how to do it., The patterns show you how to make sentence. ต่อมา แบบของคำกริยาแบบที่ 15 คือ Vb + Conjunctive + Clause เช่น I wonder why he has not come., I wonder whether (or if) he will come.
             ต่อมา แบบของคำกริยาแบบที่ 16 คือ Vb + Noun or Pronoun + Conjunctive + Clause เช่น Tell me what it is., Please advise me whether these seeds should be sown now. ต่อมา แบบของคำกริยาแบบที่ 17 คือ Vb + Gerund, etc. เช่น He enjoys playing tennis., He keeps on coming here. ต่อมา แบบของคำกริยาแบบที่ 18 คือ Vb + Direct Object + Preposition + Prepositional Object เช่น They told the news to everybody they met., We showed the pictures to our teachers.
            ต่อมา แบบของคำกริยาแบบที่ 19 คือ Vb + Indirect Object + Direct Object เช่น Our teacher gave us an English lesson., The pupils wished their teacher Good morning. ต่อมา แบบของคำกริยาแบบที่ 20 คือ Vb + (for) + Complement of Distance, Time, Price, etc. เช่น The forests stretched (for) miles and miles., We waited (for) two hours. ต่อมา แบบของคำกริยาแบบที่ 21 คือ Vb alone เช่น We all breathe, eat, and drink., The sun was shining., Fire burns.
            ต่อมา แบบของคำกริยาแบบที่ 22 คือ Vb + Predicative เช่น This is a book., This book is mine. ต่อมา แบบของคำกริยาแบบที่ 23 คือ Vb + Adverbial Adjunct เช่น The sun rises in the east., He will come as soon as he is ready. ต่อมา แบบของคำกริยาแบบที่ 24 คือ Vb + Preposition + Prepositional Object เช่น  He called on me., I will arrange for transport. และ แบบของคำกริยาแบบที่ 25 คือ Vb + to Infinitive เช่น We stopped to have a rest., I am waiting to hear your opinion.
            ในส่วนของแบบประโยคพื้นฐานของไนดา ประโยคพื้นฐาน kernel sentence ของไนดามี 7 แบบ ดังนี้ แบบที่ 1 คือ Noun + Verb1 เช่น John ran quickly., แบบที่ 2 คือ Noun + Verb2 + Noun เช่น John hit Bill., แบบที่ 3  คือ Noun + Verb3 + Noun + Noun เช่น John gives Bill a ball., แบบที่ 4 คือ Noun + Verb4 + Preposition + Noun เช่น John is in the house., แบบที่ 5 คือ Noun + Verb4 + Adjective เช่น The boy is sick., แบบที่ 6 คือ Noun + Verb4 + Indefinite article + Noun เช่น John is a boy. และแบบที่ 7 คือ Noun + Verb4 + Definite article + Noun เช่น John is my father.
            จากแบบประโยคพื้นฐานข้างต้นจะเห็นว่า Noun ที่อยู่หน้า Verb1 เป็นประธานของประโยค, Noun ที่อยู่หลัง Verb2 เป็นกรรม, Noun ที่อยู่หลัง Verb3 คำแรกเป็นกรรมรอง คำหลังเป็นกรรมตรง ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างประโยคที่ 3 a ball เป็นกรรมตรง Bill เป็นกรรมรอง, และ Verb1 Verb2 Verb3 Verb4 หมายถึงคำกริยาประเภทต่าง ๆ

            การแปลภาษาหนึ่งเป็นอีกภาษาหนึ่งนั้นถ้าผู้แปลมีความสามารถ มีความรู้ดีทั้งสองภาษา การตีความหรือวิเคราะห์ความหมายของประโยคจะทำได้อย่างรวดเร็ว ส่วนผู้ที่ยังไม่ค่อยชำนาญ การแยกประโยคที่ซับซ้อนเป็นประโยคพื้นฐานจะช่วยได้มากอย่างเช่นดิฉัน เมื่อดิฉันได้ศึกษาเรียนรู้แบบประโยคพื้นฐานต่าง ๆ แล้วทำให้ดิฉันตีความหรือวิเคราะห์ความหมายของประโยคได้ถูกต้องมากขึ้น และช่วยให้การแปลเรื่องต่าง ๆ นั้นสะดวกและง่ายขึ้น